หนังสือสี่เล่ม อ่านเพื่อสร้างกำลังใจให้กับหัวใจของคุณ
เดือนสุดท้ายของปีมาเยือนแบบไม่ทันได้ตั้งเนื้อตั้งตัว และมักเป็นเดือนที่หลายคนต้องวุ่นวายกับการเคลียร์งานที่ต้องให้จบภายในสิ้นปี หรือ อีกหลายคนกำลังนั่งทบทวนตัวเองว่า ตลอดทั้งปีนี้นั้นมีเรื่องที่ทำสำเร็จ หรือ ไม่สำเร็จเรื่องอะไรบ้าง ดังนั้นการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ก็เหมือนการได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ให้กับตนเอง และ คนรอบข้าง ดังนั้นมาดูหนังสือ 4 เล่มที่วันนี้ขอแนะนำให้คุณผู้อ่านลองไปหาซื้อมาอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับการเริ่มต้นในปีใหม่ พ.ศ. 2563 เพื่อให้ใจของคุณเปี่ยมไปด้วยความหวังและกำลังใจ
พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ (คิมรันโด)
หนังสือของ คิมรันโด เล่มนี้ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้เป็นแนวทางการใช้ชีวิตให้กับคนหนุ่มสาวเท่านั้น หากแต่เป็นการแนะแนว วิธีการใช้ชีวิต ที่ดูจะเข้าอกเข้าใจสังคมของคนเอเชียเป็นอย่างดี และ ดูเหมือนทุกบทจะมีคำตอบที่ดีมากให้กับ คนที่อยากเข้าใจคำว่า ชีวิตที่แท้จริงเป็นเช่นไร
บางช่วงบางตอนจากในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการเป็นผู้ใหญ่เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าไม่มีอุปสรรคก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ ต้องเจ็บปวดพันครั้งจึงจะเป็นเป็นผู้ใหญ่ เพราะการเจออุปสรรคเล็กน้อยนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะอุปสรรคที่เกิดขึ้นคือเส้นทางปกติที่เราใช้ก้าวเดินข้ามผ่านสู่ “การเป็นผู้ใหญ่” นี่คือหนังสือของคนที่พ้นจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงาน และจะทำให้คุณมองเห็นโลกที่แท้จริงได้ชัดขึ้น และอยู่กับมันด้วยความเข้าใจ
ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้านด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว (คนโดะ มาริเอะ)
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ คือ การแนะนำเคล็ดลับในการจัดบ้านให้เป็นระเบียบสะอาดตา และการลงมือจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ยังช่วยให้ชีวิตดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องการเงิน การเรียน ความสัมพันธ์ ไปจนถึงสุขภาพ ถามว่าจริงไหม บอกเลยว่า “จริง” เพราะถ้าคุณจัดบ้านให้เป็นระเบียบ เอาแค่ตู้เสื้อผ้าก่อนก็ได้ เพราะข้อดีของการจัดเก็บตู้เสื้อผ้า จะทำให้คุณแยกหมวดหมู่การใช้งานของเสื้อผ้า และเหนืออื่นใด คือ คุณจะได้เห็นว่า เสื้อผ้าแบบไหนที่คุณซื้อมาแล้วแทบไม่ได้ใช้ แต่คุณยังซุกมันเอาไว้ในตู้ การจัดเก็บจะทำให้คุณรู้เรื่องประเภทนี้และจะทำให้ครั้งต่อไป คุณจะยับยั้งชั่งใจในการซื้อเสื้อผ้าในรูปแบบเดียวกันมากขึ้น
แค่ตัวอย่างสั้น ๆ ก็รู้สึกได้ถึงพลังในการจัดบ้านแล้วละค่ะ เหนืออื่นใดการเขียนของ คนโดะ มาริเอะ นั้นสนุก และไหลลื่น (ต้องให้เครดิตคนแปลด้วย) ใครที่อยากจะหาคำแนะนำดี ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปรับปรุงชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นขอแนะนำเล่มนี้ค่ะ และต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า “คนเราไม่มีทางเปลี่ยนนิสัยได้ ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดเสียก่อน”
จะเล่าให้คุณฟัง (ฆอร์เฆ่ บูกาย)
มีหลายคนมักตีตราหนังสือแนวจิตวิทยาสังคมว่าเป็นหนังสือแนว How To ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หนังสือในแนวนี้มีข้อดีซ่อนอยู่ ระหว่างบรรทัดที่มักจะทำให้คนได้ฉุกคิด หรือ รู้สึกเออออไปกับเหตุการณ์และ ทำให้เข้าใจสถานการณ์ที่ตนเองต้องเผชิญได้ดีขึ้น
“จะเล่าให้คุณฟัง” ก็ให้ความรู้สึกเช่นนั้น เพียงแต่รสชาติจะแตกต่างออกไป เมื่อ “ฆอร์เฆ่” ใช้นิทาน มาเป็นตัวอย่างในสถานการณ์ของการแสวงหา หรือ ความพยายามที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตของ “เดเมียน” ดังเช่นตอน “นาฬิกาตายที่เลขเจ็ด” ข้อความบางส่วนด้านบนที่ยกมาจาก “นิทาน” ของฆอร์เฆ่ เหมือนเป็นการเตือนสติคนอ่านว่า “เราไม่ได้มีช่วงเวลาสว่างไสวไปตลอด และ เราต่างต้องเผชิญกับความืดมัวในชีวิตเหมือนกันหมด แต่สิ่งสำคัญเราต้องไม่หลงอยู่ในความสำเร็จในอดีต เพราะการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อเริ่มต้นหาความสำเร็จครั้งใหม่ คือการดำรงชีวิตอยู่อย่างแท้จริง”
ชายชื่ออูเว่ (เฟรดริก บัคมัน)
การได้อ่านงานเขียนของ นักเขียนชาวสวีเดน ทำให้ได้เห็นสภาพสังคมที่แตกต่างไปจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา หรือ แม้กระทั่งญี่ปุ่น เพราะความเป็นระเบียบของสวีเดน นั้นไม่ใช่ความเป็นระเบียบที่เย็นชา หากแต่ผู้คนต่างเอาใจใส่ต่อสังคม และ อาจเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเราไม่คุ้นเคย แต่สิ่งที่คนไทย และ คนในทุกสังคมมี คือคนขี้หงุดหงิด ที่เรามักตัดสินเขาด้วยคำประเภทที่ว่า “หงุดหงิดอะไรหนักหนา” หรือ “ปล่อยวางบ้างก็ได้มั้ง” หรือ “ไม่เอาน่าอย่าไปซีเรียส” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความหงุดหงิดของ “อูเว่” นั้นได้ทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ขึ้น ในสังคมปัจจุบันที่ทุกคนฉาบเอาไว้ด้วยเปลือกอันสวยงาม
นอกจาก “ชายชื่อ อูเว่” จะทำให้คุณหัวเราะและร้องไห้ ไปกับชายขี้หงุดหงิดชาวสวีเดน คนนี้แล้ว การดำเนินชีวิตของ อูเว่ น่าจะทำให้หลายคนได้ทบทวน ถึงสิ่งที่ผ่านมา กำลังเกิดขึ้น และ กำลังจะไปถึงของการใช้ชีวิต ได้เป็นอย่างดีไม่ว่าเพื่อนที่เคยสนิท ทำไมปัจจุบันถึงได้หมางเมินกันไป คนที่พบเจอในปัจจุบันเราที่เรารู้สึกไม่ถูกใจ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังมีข้อดีอยู่บ้าง หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ในอนาคตที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ แต่เราวางแผน และ ทำให้ตัวเองพร้อมที่จะรับมือกับมันได้ เหมือนดังที่ อูเว่ คิดถึง รูนเพื่อนรักของเขา “เรามักเห็นเวลาเป็นของตาย เราคิดว่าเรามีเวลาเหลือเฟือที่จะทำอะไรให้กับคนอื่น มีเวลาเหลือเฟือที่จะพูดอะไรกับพวกเขา” แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น