ยิ่งสังคมสูงวัย ยิ่งต้องเข้าใจสมองเสื่อม วิธีป้องกันจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ยิ่งสังคมสูงวัย ยิ่งต้องเข้าใจสมองเสื่อม วิธีป้องกันจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ยิ่งสังคมสูงวัย ยิ่งต้องเข้าใจสมองเสื่อม วิธีป้องกันจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณเคยเจอพฤติกรรมเหล่านี้กับผู้สูงอายุในครอบครัวหรือไม่ เล่าเรื่องซ้ำๆ ถามอะไรซ้ำไปซ้ำมา ลืมปิดน้ำ ปิดแก๊ส เปิดประตูทิ้งไว้ กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน ลืมชื่อคน สัตว์ สิ่งของที่คุ้นเคย ใส่เสื้อผ้าไม่ถูก อารมณ์หงุดหงิดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน หากผู้สูงอายุในครอบคร้วหรือคนคุ้นเคยมีอาการอย่างนี้และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ให้สงสัยไว้เลยว่าท่านเหล่านั้นคงเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมแล้ว ซึ่งต้องรีบทำความเข้าใจและดูแลให้เหมาะสมทันที

สมองเสื่อมไม่ใช่โรค แต่เป็นความเสื่อมถอยของความสามารถขั้นสูงของสมอง ซึ่งจะดำเนินไปอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่เพียงบกพร่องด้านความทรงจำเท่านั้น แต่รวมถึงด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้คนและสังคม

749509

อ.นพ.ยุทธชัย ลิขิตเจริญ Neurocognitive Unit หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า “สมองและร่างกายของคนเรา ก็เปรียบเหมือนรถยนต์ ที่เสื่อมไปตามกาลเวลา รถยนต์ถ้าได้ใช้วิ่ง เติมน้ำมัน ดูแลเครื่องยนต์ ทำความสะอาดสม่ำเสมอ ก็จะเสื่อมช้ากว่ารถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแลเครื่องก็จะขึ้นสนิม และเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว”

อาการต้องสงสัย สมองเริ่มเสื่อม

  • เล่าเรื่อง หรือถามซ้ำๆ จำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้
  • สมาธิลดลง ตัดสินใจผิดพลาด ทำงานที่เคยทำผิดพลาดบ่อยขึ้น
  • สับสนเวลา สถานที่ ทิศทาง
  • ความสามารถในการใช้ภาษา การพูด การเขียน การทำความเข้าใจแย่ลง
  • พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ
  • แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น พูดจาหยาบคายทั้งที่ไม่เคยพูดมาก่อน
  • สูญเสียความถนัด การเรียนรู้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำ
  • เรียกชื่อคน สัตว์ สิ่งของที่คุ้นเคยไม่ถูก ใช้สิ่งของที่เคยใช้ไม่ถูกวิธี เช่น เอาหวีไปสับหมู ใช้แปรงสีฟันหวีผม

สองสาเหตุสมองเสื่อมและการรักษา

1. ภาวะสมองเสื่อมจากโรคเซลล์ประสาทสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ซึ่งพบมากที่สุด

  • ไม่สามารถรักษาให้หายขาด
  • ไม่อาจหยุดการดำเนินของโรคได้

การดูแล ประคับประคองตามอาการ เพื่อชะลอการดำเนินโรค เป็นต้นว่า

  • ให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ เน้นความสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที
  • พาไปพบปะผู้คน เช่น เพื่อน ญาติพี่น้อง เพื่อจะได้มีปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกัน
  • พาออกนอกบ้านเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เช่น พาไปเที่ยว กินข้าวนอกบ้าน
  • การรักษาด้วยยา อาจทำให้อาการบางอย่างดีขึ้น แต่ไม่ทำให้หายจากโรคเซลล์ประสาทสมองเสื่อม

2. ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • การขาดฮอร์โมนบางอย่าง เช่น ไทรอยด์
  • การขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 และโฟเลต
  • โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า
  • การรับประทานยาบางอย่างที่ทำให้สมองทำงานช้าลง เช่น ยากันชัก ยานอนหลับ ยาทางจิตเวช
  • โรคทางอายุรกรรมเรื้อรัง เช่น ตับวาย ไตวาย
  • ความผิดปกติของการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การดูแล รักษาตามสาเหตุของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยอาจหายเป็นปกติได้ หรือไม่มีภาวะเสื่อมรุนแรงหนักขึ้น

*ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2560 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 6 แสนคน/ปี ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุ 11.3 ล้านคน = ร้อยละ 16.7 ของประชากร ในปี 2584 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุจะขึ้นไปถึงร้อยละ 30

ใครบ้างที่เสี่ยงสมองเสื่อม?

  • อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
  • มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง
  • ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะบ่อย
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ไม่เข้าสังคม ไม่ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • มีคนในครอบครัวมีภาวะสมองเสื่อม
  • ลดเสี่ยง สมองไม่เสื่อม
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ดูแลควบคุมภาวะความดันโลหิต เบาหวาน ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด หลีกเลี่ยงสารเสพติด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • พยายามเข้าสังคม อย่าอยู่เฉยๆ เรียนรู้เทคโนโลยีสิ่งใหม่ๆ ทำกิจกรรม หรือเล่นเกมฝึกสมอง เช่น เกม ต่อคำ เล่นไพ่ เกมปริศนาอักษรไขว้ เป็นต้น

ยิ่งสังคมไทยมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลสุขภาพของตัวเองและคนใกล้ตัวให้ห่างไกลภาวะสมองเสื่อม ประเทศของเราคนสูงวัยสมองดีเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ

เรื่อง : ขนิษฐา จันทร์เจริญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook