“แม่ค้าออนไลน์” กับสไตล์การขายที่อาจไล่ลูกค้าโดยไม่รู้ตัว
เข้าสู่ยุคดิจิตอลอะไร ๆ ก็ง่ายขึ้น การค้าขายก็เช่นกัน เราเชื่อว่ายุคนี้เป็นยุคที่ใครก็สามารถเป็นแม่ค้าได้ ไม่ต้องถึงขั้นไปรับของมาขายแบบจริงจัง แต่หลายคนก็ใช้วิธีการขายของมือสองที่ตัวเองไม่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง หนังสือ สารพัดอย่างที่จะขุดกันมาขายได้ แม่ค้าพ่อค้าออนไลน์จึงเป็นอีกอาชีพที่คนหันมาทำกันเยอะมาก
นั่นเลยทำให้เราเจอสไตล์การขายของแม่ค้าที่แตกต่างไปด้วย ทั้งแม่ค้าใจดี แม่ค้าอินดี้ แม่ค้าสายฮา และก็มีแม่ค้าอีกหลายประเภทเลยที่มีพฤติกรรมแบบที่ไล่ลูกค้าโดยไม่รู้ตัว เราเลยรวมมาให้เลยว่าในฐานะผู้บริโภค เรามักจะส่ายหน้าให้กับการขายแบบไหนมากสุด ?
ไม่ยอมบอกราคา
วัฒนธรรมนี้เราก็ไม่เข้าใจว่ามันเริ่มมาจากไหน เพราะบางร้านจะขายของทั้งทีแต่ไม่ยอมติดราคามาให้เรียบร้อย (บางร้านมาครบยันความยาวของกางเกง ตำหนิ ขนาดเอว ขนาดสะโพก ใส่ได้ทุกอย่างยกเว้นราคา!) ต้องให้ลูกค้าทักหลังไมค์เพื่อไปถามราคาอีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีการขายแบบนี้เนี่ยแหละที่ตัดลูกค้าไปได้เยอะเลย บางทีเราก็แค่อยากเห็นราคาเพื่อตัดสินใจไปเลยว่าคุ้มค่าที่จะซื้อหรือไม่ และจะได้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับร้านอื่น ๆ ได้ พอเห็นว่าไม่บอกราคาก็… เออ เราไปดูร้านอื่นก็ได้
แต่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็อย่าลืมกันนะว่าหากไม่ติดราคาสินค้าหรือต้องให้ลูกค้าทักไปถามหลังไมค์ ระวังโดนปรับนะจ๊ะ
ร้านที่ต้องเปลี่ยนช่องทางการติดต่อบ่อย ๆ
หลายร้านเลยแหละที่ลงขายในเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม แต่พอจะซื้อของแล้วลูกค้าต้องทักไลน์หรือต้องเปลี่ยนแอปพลิเคชั่นบ่อย ๆ ซึ่งก็ทำให้ความอยากซื้อลดลงไปเหมือนกัน เพราะบางครั้งถ้าลงขายในเฟสบุ๊ค เราก็อยากสั่งจองใน Inbox ไปทีเดียวเลยหมดเรื่องหมดราว
แม่ค้าจ๋าอย่าดุหนู
แน่นอนว่าเมื่อเป็นแม่ค้าก็ต้องเจอคนมากหน้าหลายตา ลูกค้าก็มีทั้งปกติ แปลก ไปถึงแปลกมาก หรือเป็นลูกค้าแย่ ๆ อย่างการจองของไปแล้วไม่เอา ยกเลิก ไม่โอนเงิน ต่าง ๆ นานา ซึ่งวิธีที่แม่ค้าจะจัดการก็แตกต่างกันไป หลายร้านก็เลือกใช้วิธีแคปประจารมันซะเลย หรือไม่ก็ตั้งกฎอย่างจริงจัง แต่บางคำที่พิมพ์ออกมาอาจจะทำให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ไม่สบายใจเพราะเหมือนโดนดุไปด้วยยังไงอย่างงั้น
เราเชื่อว่าลูกค้าหลายคนชอบแม่ค้าใจดี ถึงจะมีกฎที่เข้มงวดยังไงแต่ถ้ามีการจัดการที่สุภาพและเป็นระบบ เราว่าน่าจะวิน-วินกันทั้งสองฝ่ายแหละ
นำรูปจากร้านอื่นมาใช้
เรามักจะเห็นบ่อยจากร้านที่ขายสินค้าแบบ Pre-Order ซึ่งตัวร้านค้าก็ยังไม่มีสินค้าอยู่เหมือนกัน แต่จะสั่งจากเว็ปไซต์ต่างประเทศหรือซื้อจากร้านที่ต่างประเทศตามออเดอร์ของลูกค้า ร้านจึงต้องนำรูปที่มีอยู่แล้วในเว็ปไซต์นั้น ๆ มาลงเพื่อขายก่อน ในมุมมองของลูกค้ามีหลายคนเลยทีเดียวที่ไม่มั่นใจว่าจะได้ของตรงปกหรือเปล่า ทำให้ความอยากซื้อลดลงไปได้เหมือนกัน
ใคร ๆ ก็ชอบของพร้อมส่ง รอของนานไปไม่สั่ง
เวลาเห็นร้านที่ต้องรอของนาน ๆ เพราะเป็นสินค้า Pre-Order จากต่างประเทศก็ทำให้ลูกค้าท้อได้เหมือนกัน (เพราะส่วนใหญ่จะรอประมาณครึ่งเดือนขึ้นไปเลยทีเดียว) ทำให้เบนเข็มไปหาร้านที่มีสินค้าพร้อมส่ง มีรูปสินค้าจริงให้ดูเพิ่มเติม ถึงแม้ว่าจะแพงกว่านิดหน่อยแต่ก็สั่งแบบสบายใจ ได้ของเลยไม่ต้องรอนาน งานนี้ร้านพรีออเดอร์อาจจะต้องทำใจไว้เลย หรือบางร้านที่มีของพร้อมส่งก็จริงแต่ว่าส่งช้าลูกค้าต้องรอนาน ทำให้การกลับมาซื้อครั้งหน้ายากมาก ๆ เหมือนกัน
ขึ้นราคาแบบ(ไม่)แนบเนียน
แน่นอนว่าค้าขายก็ต้องมีกำไรแต่บางร้านก็โหดมาก ๆ เหมือนกัน เพราะเมื่อสินค้าในร้านมีคนให้ความสนใจมากขึ้น ร้านฮอตขึ้น ราคาก็ขึ้นตามไปด้วย ทำให้ลูกค้าเก่า ๆ ที่เคยซื้ออาจจะช็อคกับการเปลี่ยนแปลงนั้น (บางร้านอัพราคาเป็นสองเท่ากันไปเลย) ถึงแม้จะไม่ได้ถือว่าแพงมากแต่ก็ทำให้คนที่เคยซื้อเปลี่ยนใจเลื่อนหนีไปซื้อร้านอื่นได้เหมือนกัน