Smart Classroom ห้องเรียนสร้างอัจฉริยะ

Smart Classroom ห้องเรียนสร้างอัจฉริยะ

Smart Classroom ห้องเรียนสร้างอัจฉริยะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำในยุคดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมการเรียนรู้ในปัจจุบัน ห้องเรียนแบบเดิมที่ หน้าชั้นเรียนมีอาจารย์ผู้สอนบรรยายให้ผู้เรียนนับร้อยฟังกำลังถูกทยอยแทนที่ด้วยห้องเรียนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Smart Classroom” พร้อมพรั่งด้วยสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย เน้นการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เรียน ตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

“การเรียนใน Smart Classroom นิสิตไม่ใช่มานั่งฟัง จดในสิ่งที่อาจารย์เล่า แต่เป็น Active Learning ซึ่งผู้เรียนจะต้องคิดสร้างสรรค์และนำเสนอสิ่งที่ค้นพบจากการทำงานร่วมกัน ส่วนอาจารย์จะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้บรรยายมาเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้” ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ อธิบาย

213611

จุดเริ่มต้นของห้องเรียนอัจฉริยะเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมีห้อง I-CLASSROOM เป็นห้องเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นิสิต ติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย เน้นหลักสรีรศาสตร์ นิสิตนั่งฟังได้สะดวกสบาย มีการติดเซนเซอร์วัดคาร์บอนไดออกไซด์และ PM2.5 ในชั้นเรียน ทำให้นิสิตนั่งเรียนโดยไม่ล้า ไม่เหนื่อย ไม่ง่วง ห้อง I-STAR เป็นห้องเรียนในรูปแบบของสตูดิโอสำหรับฝึกทักษะในการนำเสนอผลงานของนิสิต มีเทคโนโลยีแสงสีเสียงครบวงจร ห้อง  I-SCALE เป็นห้องเรียนที่รองรับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่กระตือรือร้นและยังมีพื้นที่ Co-Maker Space เป็นห้อง Lab ให้นิสิตได้สร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมเทคโนโลยี Lacer Cut, 3D Printer ห้อง Live & Learn และห้อง TrueLab@Chula Engineering ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครันเพื่อส่งเสริมการทำงานและนำเสนอผลงานของนิสิต

ผศ.ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีด้านกายภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯกล่าวว่า ห้องเรียนสมัยใหม่มีความสำคัญต่อการเรียนการสอนในคณะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Outcome-Based Learning) ของนิสิตเป็นหลัก ห้องเรียนจึงต้องเปลี่ยนจากระบบบรรยายมาเป็นห้องเรียนที่เอื้อต่อการเพิ่มทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม การสร้างปัญหาจำลอง เพื่อให้นิสิตสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาและการประเมินผล ซึ่งจะพัฒนานิสิตไปสู่การเป็นวิศวกรคุณภาพในอนาคต

ปัจจุบันมีห้องเรียน Smart Classroom 40 แห่ง กระจายอยู่ตามคณะต่างๆ เกือบทุกคณะ

“ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ได้ให้แนวคิดในเรื่อง Smart Classroom แก่คณะต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องเรียน ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ จอภาพ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งจัดอบรมวิธีการใช้ห้อง Smart Classroom แก่อาจารย์ และให้การสนับสนุนทุนวิจัย Active Learning เพื่อปรับการเรียนการสอน” ดร.ภัทรชาติ กล่าว

อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า Smart Classroom มีความจำเป็นต่อนิสิตทุกคณะ เป็นการตอบโจทย์การเรียนการสอนที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ ทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ เหมาะกับวัยของนิสิตซึ่งมีความอยากรู้อยากเห็น เน้นให้นิสิตเรียนรู้จากปัญหาจริง นิสิตแพทย์สามารถนำข้อมูลจากการเอกซเรย์และอัลตราซาวด์มาเรียนรู้เป็นกลุ่มและฉายขึ้นจอใหญ่ได้ ส่วนอาจารย์ก็เข้าถึงผู้เรียนได้มากขึ้น ทำให้การเรียนสนุกขึ้น

โรงละครการจัดการเภตราลัย (Blackbox)

888588

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร

“เป็นห้องเรียนในรูปแบบโรงละครจำนวน 120 ที่นั่ง มีระบบแสงสีเสียงที่สร้างบรรยากาศแตกต่างจากห้องเรียนทั่วไป โดยนำวิธีการสอนรูปแบบใหม่คือศิลปะการแสดงมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนทางด้านการนำเสนอผลงาน การสื่อสารสำหรับภาวะผู้นำ การบริหารความขัดแย้ง และการเจรจาต่อรอง ทำให้นิสิตเข้าใจในเนื้อหาวิชาการ เป็นการเปิดมิติใหม่ของการเรียนการสอนที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบบเดิม ทำให้นิสิตได้ทั้งความสนุกสนานและความรู้ทางวิชาการไปพร้อมกัน”

รศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ
ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน โรงละครการจัดการเภตราลัย

Smart Classroom 1,2,3

smartclassroom

คณะสัตวแพทยศาสตร์
ชั้น 8 อาคาร 60 ปี สัตวแพทยศาสตร์

“เป็นห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนการสอนแบบ Active Learning ทั้งกระดานอัจฉริยะที่สามารถบันทึกข้อมูลในรูปไฟล์ดิจิทัลและลบได้ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ช่วยในการสืบค้นข้อมูล โดยมีการนำ case study ทางคลินิกมาศึกษาและนำเสนอซึ่งเชื่อมต่อกับ Notebook และ iPad ให้สามารถนำขึ้นจอภาพได้ รวมทั้งมีระบบ Teleconference รองรับการเรียนการสอนทางไกลที่ศูนย์ฝึกนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จ.นครปฐม แต่ละปีมีนิสิตใช้บริการ Smart Classroom ทั้งสามห้องปีละ 20,000 คน”

ผศ.น.สพ.ก้องเกียรติ ศรีสุวัฒนาสกุล
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการจัดการสารสนเทศและชีวิตดิจิทัล
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ห้องปฏิบัติการ DO Visual Lab

119741

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ชั้น 2 อาคารนารถ โพธิประสาทและอาคารศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมกายภาพสู่สังคม

เป็นห้องสำหรับนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ของนิสิต ความพิเศษคือมีระบบฉายภาพพาโนรามาบนจอ 3 ด้านรอบห้องผ่านระบบ Video Wall และโปรเจคเตอร์คุณภาพสูง สามารถย้ายภาพได้อย่างอิสระตามที่ต้องการและง่ายต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังใช้เป็นห้องแสดงผลงานและจัดเสวนาต่างๆ ด้วย

“ผมใช้ห้องนี้นำเสนอผลงานในวิชาสถาปัตยนิพนธ์เรื่อง “ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ” จอภาพในห้องสามารถนำเสนอเป็นภาพขนาดใหญ่ ทำให้เห็นผลงานที่นำเสนอได้อย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย สมัยก่อนเวลานำเสนอผลงานจะต้อง print เป็นกระดาษแปะตามบอร์ด ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย”

นายอภิวิชญ์ ยงชูยศ
นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

Financial Lab

smartclassroom3

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ชั้น 11 อาคารมหิตลาธิเบศร เปิดทำการทุกวัน

“เป็นห้องปฏิบัติการทางการเงินที่มีข้อมูลทางการเงินที่ครบครัน ออกแบบโดยเลียนแบบมาจากห้องค้าหลักทรัพย์ มีซอฟต์แวร์ครอบคลุมหลากหลายสาขาทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลทางการเงินและกองทุนทั่วโลก เช่น รอยเตอร์ส บลูมเบิร์ก มอร์นิ่งสตาร์ โปรแกรมการจำลองตลาด ทำให้นิสิตได้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของตลาดจริงๆ ช่วยให้นิสิตมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น และฐานข้อมูลสำหรับใช้ในการวิจัย เช่น Datastream, SDC Platinum, SETSMART”

ผศ.ดร.ธนากร ลิขิตาภิวัฒน์
ประธานห้องปฏิบัติการทางการเงิน

เรื่อง : สุรเดช พันธุ์ลี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook