โครงการ ENVI Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ ก่อนชีวิตจะเหือดแห้ง

โครงการ ENVI Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ ก่อนชีวิตจะเหือดแห้ง

โครงการ ENVI Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ ก่อนชีวิตจะเหือดแห้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสร็จสิ้นไปแล้วกับปีแรกของโครงการประกวด Envi Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ กับเยาวชนกว่า 200 ทีมทั่วประเทศที่มีความตระหนักและส่งโปรเจ็กต์แก้ไขปัญหาน้ำในชุมชนเข้ามา จนได้ 3 ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมพี่ชวนน้องรักษ์น้ำ จากโรงเรียนเสริมงามวิทยาคม จ.ลำปาง กับโครงการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำแห้งแล้งและเสื่อมโทรมเกิดภัยแล้ง ทีม Waterish จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ที่นำเสนอการทำแอปพลิเคชันช่วยสร้างสังคมรักษ์น้ำ และทีม HH Conservator จากโรงเรียนหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับโครงการเครื่องเก็บขยะและระบบบำบัดน้ำเสียของชุมชน

497857

ศ.ดร.พิศุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ Envi Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ ว่า “เราไม่ได้เน้นหาผู้ชนะ แต่เราต้องการเห็น Impact หรือผลที่เกิดขึ้นจริงหลังจากนั้นมากกว่า ซึ่งในเบื้องต้นเราได้เห็นทีมเยาวชน 239 ทีมจากทั่วประเทศที่สนใจส่งโปรเจ็กต์ที่จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาน้ำในชุมชนเข้ามา แล้วเราได้คัดเลือก 40 ทีมเพื่อให้มาเรียนรู้และบ่มเพาะความคิดการอนุรักษ์น้ำให้เป็นรูปธรรม จนเกิดเป็นโปรเจ็กต์ดีๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายเครือข่าย สานต่อวัฒนธรรมรักษ์น้ำอย่างยั่งยืนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศได้ต่อไป”

โครงการ “Envi Mission วัฒนธรรมรักษ์น้ำ” เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ สถานีวิทยุจุฬาฯ และบริษัท ส.นภา ที่หวังจะสร้างองค์ความรู้และคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

“จากผลการวิเคราะห์แหล่งน้ำในประเทศล่าสุดพบว่า ประเทศไทยเราไม่มีแหล่งน้ำระดับที่มีคุณภาพสูงอยู่แล้ว” ศ.ดร.พิศุทธิ์ เผยวิกฤตสถานการณ์น้ำที่น่าห่วงใย อันเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสู่การริเริ่มโครงการ

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงปี 2562-2564 ประเทศไทยกำลังประสบกับปรากฏการณ์ เอลนีโญ ที่ส่งผลให้ฝนตกน้อยลง ตามมาด้วยปัญหาน้ำแล้ง อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ปริมาณลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง อาหารจากทะเลก็จะลดลง ยังไม่รวมเรื่องปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนที่ไม่เพียงพอ และแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ปนเปื้อนด้วยสารพิษอีกด้วย

1769642

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการขาดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมการใช้น้ำและการดูแลรักษาแหล่งน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ฯลฯ

“เราต้องสร้างวัฒนธรรมสำนึกการใช้น้ำให้เป็น ‘ภารกิจ’ ไม่ใช่ ‘ภาระ’ โดยเริ่มจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดสมดุลในระบบนิเวศอย่างยั่งยืน” ศ.ดร.พิศุทธิ์ ให้ความเห็นแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งในส่วนของโครงการ นอกจากการจัดกิจกรรมการประกวดแล้ว ก็ยังจัดทำสื่อการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมรักษ์น้ำที่เยาวชนจะจดจำและนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้

1769639

ในปีแรกนี้ โครงการได้สร้างสรรค์สื่อนิทาน “ต้นสายปลายน้ำ” ที่มีตัวนากเป็นตัวเดินเรื่องเพื่อสะท้อนถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ส่วนสื่อที่เป็นไฮไลต์ คือ บอร์ดเกม “Water Journey” ที่บูรณาการแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจร ตั้งแต่วัฏจักรน้ำ การอนุรักษ์น้ำ การพัฒนาคุณภาพน้ำ การบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงคู่มือการเล่นบอร์ดเกมที่มีการจัดทำวิดีโอให้ความรู้ประกอบ

“กว่าจะได้ออกมาเป็นบอร์ดเกมและนิทานแบบนี้ เราเชิญครูมากกว่า 30 โรงเรียนให้มาร่วมทดลองและให้ความคิดเห็นในการจัดทำรูปแบบและเนื้อหา เพื่อให้ได้สื่อการเรียนการสอนที่นำไปใช้ได้จริง” ศ.ดร.พิสุทธิ์ เล่าถึงที่มาของการพัฒนาสื่อต่างๆ ดังกล่าว

ทั้งนี้ โครงการจะผลิตบอร์ดเกมจำนวน 1,000 ชุดเพื่อแจกจ่ายให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ในอนาคต ศ.ดร.พิสุทธิ์ หวังว่าจะมีผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมช่วยผลิตเกมและสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมรักษ์น้ำอย่างกว้างขวางต่อไป

เรื่อง : ธาริณี ไชยประพาฬ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook