ชีวิตดีต้องมีวิตามิน แต่ต้องเสริม? คำตอบจาก ผศ.ภญ เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
ผศ.ภญ.ดร.สุญาณี พงษ์ธนานิกร ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า “วิตามินและแร่ธาตุจัดเป็นยาชนิดหนึ่ง ไม่ควรซื้อมากินเอง เนื่องจากวิตามินบางชนิด โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายในไขมัน สามารถสะสมในร่างกายจนเกิดความเป็นพิษได้ และคนที่มีโรคประจำตัวและต้องใช้ยาบางชนิด ก็มีข้อห้ามหรือข้อพึงระวังในการใช้ร่วมกับวิตามินบางชนิดด้วย ดังนั้นจึงควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนที่จะตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์วิตามินและแร่ธาตเสริมใดๆ”
ปัจจุบันสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างก็เผยแพร่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันอย่างครึกโครม โดยบอกเล่าสรรพคุณของวิตามินและแร่ธาตุเสริมที่บำรุงร่างกายและรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ ทำให้หลายคนซื้อหาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากินคู่มื้ออาหารในแต่ละวันไปแล้ว แต่เราจำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุและวิตามินจริงๆ หรือ?
“หากเราสามารถรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และมีความหลากหลาย เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์วิตามินแร่ธาตุเสริมแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันคนเรามี แนวโน้มที่จะขาดวิตามินและแร่ธาตุ เนื่องจากอาหารที่รับประทานมักจะเป็นอาหารจานด่วน ซึ่งขาดความหลากหลายของอาหาร 5 หมู่ ที่เป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุ” ผศ.ภญ.ดร.สุญาณี พงษ์ธนานิกร ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ อธิบาย
เช็คก่อนซื้อ ขาดวิตามินหรือไม่!
วิตามินมีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย มีบทบาทในการเผาผลาญสารอาหารเพื่อให้พลังงานและบทบาทอื่นๆ ให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
การขาดวิตามินเพียงเล็กน้อยจะยังไม่ส่งผลต่อร่างกาย เพราะร่างกายสามารถนำเอาวิตามินที่สะสมไว้มาใช้ แต่หากร่างกายขาดวิตามินแร่ธาตุชนิดนั้นๆ เป็นระยะเวลานานก็จะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายมีความผิดปกติ ซึ่งจะแสดงอาการออกมาเป็นการเจ็บป่วยต่างๆ
- ขาดวิตามินเอ มีปัญหาการมองเห็น เยื่อตาแห้ง
- ขาดวิตามินบี 1 รู้สึกชาตามปลายมือ - ปลายเท้า
- ขาดวิตามินบี 2 มุมปากเปื่อยเป็นปากนกกระจอก
- ขาดธาตุเหล็ก รู้สึกซีด เพลีย โลหิตจาง
อย่างไรก็ดี อาการบางอย่าง ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกี่ยวกับการขาดวิตามินและแร่ธาตุ จำเป็นต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติมจากการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับวิตามินในร่างกายรวมถึงการตรวจร่างกายด้วย
ใครควรเสริม
- คนที่ไม่ค่อยกินผัก ผลไม้ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ดื่มนมเลย
- คนที่มีภาวการณ์ดูดซึมบกพร่องและมีความผิดปกติของเมแทบอลิซึมวิตามิน
- คนที่เป็นโรคบางอย่างหรือใช้ยาบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะพร่องวิตามินแร่ธาตุบางชนิด
-การใช้ยากลุ่มยากันชักจะส่งผลให้ขาดโฟเลต ไบโอติน วิตามินดี
- การใช้ยากลุ่มยาเม็ดคุมกำเนิด จะส่งผลต่อระดับโฟเลต
- ยาขับปัสสาวะบางชนิดทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ยาวัณโรคบางชนิดส่งผลให้ขาดวิตามินบี 6
คิดก่อนกินเสริม
พิจารณาความจำเป็นในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินและแร่ธาตุ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
การกินวิตามินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการสะสมในร่างกายจนเกิดความเป็นพิษ เช่น การเสริมวิตามินเอมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคตับ ปวดกระดูก ผิวแห้ง เล็บเปราะ ผมร่วง เหนื่อยล้า
การกินวิตามินและแร่ธาตุเสริมหลายยี่ห้อ หรือหลายขนานรวมกันอาจทำให้เกิดอันตราย เพราะในผลิตภัณฑ์แต่ละยี่ห้อมีปริมาณวิตามินแร่ธาตุแตกต่างกัน ถ้ากินร่วมกันอาจมีโอกาสได้รับวิตามินตัวใดตัวหนึ่งมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการต่อวัน
หากมีโรคประจำตัว หรือใช้ยาอื่นๆ อยู่ ควรปรึกษาผู้รู้เพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย เช่น
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดหรือมีภาวะขาดวิตามินเค ต้องระมัดระวังการกินเสริมวิตามินอีในขนาดสูง เนื่องจากวิตามินอีอาจทำให้เลือดไหลออกง่าย
ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต กระดูกพรุนขั้นรุนแรง ก็ควรระมัดระวังการเสริมวิตามินเอ
ผู้ป่วยที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเหล็กในร่างกายมากเกินไป เช่น ธาลัสซีเมีย ควรระมัดระวังการเสริมวิตามินซี เพราะวิตามินซีส่งเสริมการดูดซึมธาตุเหล็ก เป็นต้น
เรื่อง : ผศ.ภญ.ดร.สุญาณี พงษ์ธนานิกร
เรียบเรียง : ขนิษฐา จันทร์เจริญ