“ประธานเชียร์จุฬาฯ” -“แม่ทัพเชียร์ มธ.” กับดราม่าและความเปลี่ยนแปลงในงานบอล ‘74

“ประธานเชียร์จุฬาฯ” -“แม่ทัพเชียร์ มธ.” กับดราม่าและความเปลี่ยนแปลงในงานบอล ‘74

“ประธานเชียร์จุฬาฯ” -“แม่ทัพเชียร์ มธ.” กับดราม่าและความเปลี่ยนแปลงในงานบอล ‘74
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลับมาอีกครั้งกับเทศกาล “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 74 แล้ว ไม่เพียงแต่เกมการแข่งขันฟุตบอลที่บรรดาศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และคนทั่วไปเฝ้ารอคอย แต่ทีมเชียร์ การแปรอักษร และขบวนล้อการเมือง ก็เป็นอีกกิจกรรมที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้งสองแห่งจึงต้องงัดเอาทั้งความคิดสร้างสรรค์และแรงพลังออกมาประชันกันในทุก ๆ ปี และเป็นเพราะการเชียร์ถือเป็นสีสันของงานบอล ประธานเชียร์จึงเปรียบเสมือนฟันเฟืองหลักที่มีความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ Sanook จึงไม่รอช้า ขอคว้าตัวน้อง ๆ ประธานเชียร์จากรั้วจามจุรีและลูกแม่โดมมาพูดคุยกันถึงดราม่าและภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่ทั้งคู่ได้รับ

ดราม่าร้อนงานบอลปี ‘63

ดราม่าร้อนแรงต้อนรับงานบอลจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ปีล่าสุดคงหนีไม่พ้นเรื่องวิดีโอ “Hope Lights Fire” จากรั้วจามจุรี ที่นำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย แต่กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักบนโลกออนไลน์ เนื่องจากตัววิดีโอที่ไม่ได้มุ่งนำเสนอปัญหาที่แท้จริง แต่เป็นการนำเสนอภาพเชียร์ลีดเดอร์ในลักษณะการถ่ายแฟชั่นที่สวยงาม ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าจุดประสงค์หลักของวิดีโอดังกล่าวต้องการสื่อสารอะไรกันแน่ ซึ่งในประเด็นนี้ ซีพีรณัฐ หรือ พีรณัฐ วิริยะ ประธานเชียร์จุฬาฯ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาของวิดีโอคือการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ด้วยภาพที่นำเสนอค่อนข้างสวนทางกับข้อความที่ต้องการจะสื่อ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น

“คือเราอยากให้แยกประเด็นการทำวิดีโอกับการคัดเชียร์ลีดเดอร์ เพราะคนที่จะเข้ามาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ได้ เขาเองก็ต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน ซึ่งดูจากความสามารถและทัศนคติ ดังนั้นกว่าที่น้อง ๆ จะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ ซีไม่คิดว่ามันเป็นสิทธิพิเศษของคนหน้าตาดีนะคะ พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าคู่ควรที่จะอยู่ตรงจุดนี้ได้ แต่สิ่งที่ซีคิดว่าเป็นปัญหาคือการที่ทีมเชียร์ลีดเดอร์ไม่สามารถตีประเด็นปัญหาสังคมได้ คือถ้าน้อง ๆ ไม่พูดถึงประเด็นสังคมเลย ก็อาจจะไม่เกิดปัญหาขึ้น แต่เมื่อข้อความที่ทีมเชียร์ลีดเดอร์ต้องการจะสื่อกลับสวนทางกับตัววิดีโอที่ออกมา มันก็คือความผิดพลาดจริง ๆ นั่นแหละ” ซีพีรณัฐกล่าว

ใคร ๆ ก็เป็นประธานเชียร์ได้

แม้จะมีดราม่างานบอลเกิดขึ้นทุกปี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประธานเชียร์และแม่ทัพเชียร์จากรั้วจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ถอดใจ เพราะความชื่นชอบ “เบบี้มายด์” ประธานเชียร์งานฟุตบอลจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 69 เป็นทุนเดิม จึงทำให้ซีพีรณัฐ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ แฟชันและสิ่งทอ ตัดสินใจลงสมัครประธานเชียร์ถึงสองครั้ง แม้ครั้งแรกจะล้มเหลวแต่ก็ไม่ท้อถอย กลับมาสมัครอีกครั้งในปีที่สองและคว้าตำแหน่งประธานเชียร์ ในงานครั้งที่ 74 มาครองได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับ ดาด้า หรือ ศิวัช ศักดิ์เพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ได้รับตำแหน่งแม่ทัพเชียร์ของฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เล่าให้ฟังว่า ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้มาทำหน้าที่นี้ เพราะดาด้ารู้สึกว่าตัวเองยังขาดทักษะหลาย ๆ ด้านในการเป็นแม่ทัพเชียร์ โดยเฉพาะการเอนเตอร์เทนคน

“มีคนมาถามว่า แม่ทัพเชียร์ต้องตลก ต้องเอนเตอร์เทนคนได้เหรอ หรือต้องเสียงดังเหรอ ซึ่งสำหรับเราแล้ว เราคิดว่าไม่ใช่เลย เพราะแม่ทัพเชียร์แต่ละคนไม่เหมือนกัน เราก็อยากจะลองนำเสนอภาพของเราว่าเป็นนักศึกษาธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีบุคลิก มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างออกไป คือเราไม่ได้ตลก เราเอนเตอร์เทนคนไม่ได้ แต่เราก็มีความเป็นตัวเรานะ ก็เลยลองดูสักตั้ง” ดาด้าเผย

ทั้งซีพีรณัฐและดาด้าต่างเห็นพ้องกันว่าหน้าที่ของการเป็นประธานเชียร์ที่สำคัญที่สุดคือ “การให้กำลังใจ” เพราะประธานเชียร์และแม่ทัพเชียร์จะอยู่ทำงานกับทุกฝ่ายตั้งแต่ก่อนงานบอล ระหว่างงานบอล และหลังจบงานบอลไปแล้ว

“ประธานเชียร์เป็นเหมือนกำลังใจ คอยพูดให้กำลังใจทีมงานของเรา หรืออย่างมีงานไหนที่เราช่วยได้ เราก็ช่วย แต่ถ้างานไหนที่ไม่สามารถลงมือทำได้ สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการให้กำลังใจ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกับวันงานเหมือนกัน เพราะประธานเชียร์จะอยู่กับทุกคนตั้งแต่เก้าโมงเช้าจนจบงาน เพื่อคอยเชียร์ คอยให้กำลังใจคนที่มาขึ้นสแตนด์เชียร์ให้กับเรา” ซีพีรณัฐบอก

ฝั่งแม่ทัพเชียร์ของธรรมศาสตร์ก็เผยว่า นอกจากหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่ต้องทำแล้ว แม่ทัพเชียร์ก็เปรียบเสมือนผู้นำของกองทัพ เป็นคนคอยควบคุมส่วนต่าง ๆ ให้ออกมาได้ด้วยดี ขณะที่ทุกฝ่ายก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการให้กำลังใจไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นตลกเสมอ

“เราอยากจะสื่อว่าการสร้างพลังให้กับคนอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องผ่านการเอนเตอร์เทนหรือการเล่นตลกเพียงอย่างเดียว การสร้างพลังหรือให้กำลังใจมันมาจากคำพูดก็ได้ หรือจะด้วยวิธีการอื่นก็ได้ คือการสร้างพลังไม่ได้หมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะแต่ละคนก็มีทางเลือกในการสร้างพลังที่แตกต่างกันไป” ดาด้าบอก

หน้าที่ผูกขาดของ LGBTQ+

เมื่อถามถึงบทบาทแม่ทัพเชียร์หรือประธานเชียร์ของทั้งคู่ ที่ถูกผูกโยงอยู่กับเพศสภาพหรือกลุ่ม LGBTQ+ ที่สังคมเหมารวมว่าต้องตลกหรือต้องเป็นสีสันให้กับงานบอล ดาด้า เล่าว่า ธรรมศาสตร์ไม่ได้กำหนดว่าแม่ทัพเชียร์ต้องเป็นเพศไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีภาพเหมารวมของคนที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ว่าต้องเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามทางธรรมศาสตร์ก็พยายามจะเปลี่ยนภาพเหมารวมพวกนั้นอยู่

“ความเข้าใจของสังคมที่เข้าใจว่าคนที่สามารถเอนเตอร์เทนคนได้ต้องเป็นกะเทยเท่านั้น เราคิดว่ามันค่อนข้างเปลี่ยนแล้วนะ จริง ๆ เราพยายามจะนำเสนอความเป็นตัวเองโดยที่ไม่เอาเพศมาเกี่ยวข้องเลยด้วยซ้ำ คือไม่อยากให้พูดว่าต้องเป็น LGBTQ+ หรือกลุ่มเพศที่หลากหลายเท่านั้นที่จะเป็นได้ ใครก็เป็นได้ เราอยากให้มองแค่ว่าทุกคนเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน” ดาด้ากล่าว ซึ่งพ้องกับสิ่งที่ซีพีรณัฐบอก ว่าการเป็นประธานเชียร์ไม่จำกัดเพศ เพราะจุฬาฯ ก็เปิดรับทุกเพศ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้ามาทำหน้าที่ประธานเชียร์จุฬาฯ ก็คือทัศนคติ

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็ยอมรับว่าภาพเหมารวมเช่นนั้นยังคงมีอยู่ และต้องมีการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการเหมารวมกลุ่ม LGBTQ+ และจัดกลุ่มให้พวกเขาต้องเป็นตัวตลกเท่านั้น ซึ่งทั้งซีพรีณัฐและดาด้าก็หวังว่าการสวมบทบาทประธานเชียร์และแม่ทัพเชียร์ในปีนี้ จะเป็นการสร้างพลังให้กับกลุ่มคนที่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังเพราะภาพเหมารวม ซึ่งดาด้ามองประเด็นนี้ว่า

“เราพยายามต่อสู้กับสังคมมาตั้งแต่เด็ก คือเราเองต้องต่อสู้กับการยอมรับเรื่องเพศ ถูกขับให้เป็นคนขายชอบเพราะเป็นเด็กที่อ้วนดำ เราเคยเป็นคนที่ถูกสังคมมองไม่เห็น วันหนึ่งที่เราต่อสู้และได้มายืนอยู่ตรงจุดที่มีแสงส่องมาหาเราและคนมองเห็นเรามากขึ้น ก็เลยอยากนำเสนอภาพเหล่านี้ให้คนได้เห็น และเราก็อยากจะนำคนข้างหลังที่ยังไม่ถูกมองเห็น ให้คนได้มองเห็น และยังมีคนอีกมากมายที่ถูกสังคมมองว่าเขาไม่ใช่คน เราเลยอยากนำเสนอเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเสียที”

งานบอลสะท้อนสังคม

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 มุ่งนำเสนอเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงสังคมในหลาย ๆ ด้าน โดยใช้ธีม “Make a Change” ที่ต้องการเน้นการปรับเปลี่ยนสังคมด้วยการลงมือทำ ซึ่งในปีนี้ทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ต่างให้ความสำคัญกับ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” เพราะเป็นเรื่องที่ทำง่ายและทำได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน

“ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากน้ำมือมนุษย์ แล้วขยะก็เป็นตัวการสำคัญ แต่เราไม่ได้บอกว่าการมีขยะหรือพลาสติกไม่ใช่เรื่องดี แต่เราทำให้เห็นความสำคัญของการลดการใช้พลาสติกหรือทำให้เกิดขยะ” ซีพีรณัฐอธิบายแนวคิดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทางด้านดาด้าก็ย้ำว่าธรรมศาสตร์เองก็ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนถุงพลาสติกให้เป็นถุงรีไซเคิลแทน แต่นอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อม “Make a Change” ของธรรมศาสตร์ยังรวมถึงการเปลี่ยนทุกอย่างให้เกิดการลงมือทำจริง โดยเธอยกตัวอย่างเรื่องการแปรอักษร ที่มักเจอคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงโดนจับหรือไม่ แต่เธอมองว่าการแสดงออกดังกล่าวคือการลงมือทำ

“ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง สิ่งที่สามารถทำได้คือการทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการลงมือทำของเราคือการเริ่มเลย เราไม่กลัวค่ะ เพราะสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่เราต้องกระตุ้นให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องทำให้สังคมเกิดการตระหนักรู้ในปัญหาที่กำลังเจออยู่ สิ่งที่เราพยายามจะผลักดันและจะทำให้ได้คือการขับเคลื่อนสังคม หรือทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว สังคมที่เราอยู่มันไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับเราในทุก ๆ ด้าน ซึ่งเราจะเห็นกันอยู่แล้วว่าทุกปี ธรรมศาสตร์จะมีการแปรอักษร ขบวนล้อการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือตัวที่จะทำกระตุ้นให้สังคมตระหนักว่าปัญหามีอยู่จริงและมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด” ดาด้ากล่าว

สุดท้ายนี้ แม้ว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ในปีนี้จะมีปัญหาและดราม่ารุมเร้า แต่ประธานเชียร์และแม่ทัพเชียร์ทั้งสองคนก็ยืนยันที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อสร้างความสนุกสนานและประทับใจให้กับงานบอลครั้งนี้ แม้จะต้องเสียน้ำตาหรือเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ทั้งคู่ก็หวังว่างานจะออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่พวกเธอจะทำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook