“ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” เกียรติยศ ศักดิ์ศรี งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์
เวียนมาถึงอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 กับงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ กิจรมสานสัมพันธ์ความสามัคคีระหว่างสองสถาบันการศึกษาที่มีมายาวนานตั้งแต่ปี 2477 ฟุตบอลประเพณีเป็นความทรงจำที่ประทับใจของทุกคนที่มีส่วนร่วมในงานนี้ รวมถึง “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ที่โดดเด่นสง่างามในเครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ สะกดทุกสายตาของผู้ชมในงานฟุตบอลประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี
การเป็นผู้อัญเชิญ “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าสู่สนามศุภชลาศัยนั้น คือการได้รับเกียรติสูงสุดในฐานะทูตสันถวไมตรีงานฟุตบอลประเพณี และตัวแทนร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ แต่กว่าจะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว (CU Coronet) ในปัจจุบัน นิสิตต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้น มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกไปตามยุคสมัย
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส อดีตผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 39 ปี 2526 ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า ฝ่ายกิจการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ได้เสนอชื่อให้เป็นตัวแทนนิสิตหญิงปี 1 ของคณะเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวจากเดิมที่เน้นนิสิตเรียนดี หน้าตาดี มีชื่อเสียง มาเป็นนิสิตผู้ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามแนวคิดหลักของงานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 39
“กรรมการคัดเลือกมีแต่นิสิต ใช้วิธีสัมภาษณ์เป็นหลัก คำถามเป็นการวัดมุมมองของนิสิตจุฬาฯ ที่มีต่อสังคมไทย การเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวครั้งนั้นนับเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต ประสบการณ์ในครั้งนั้นได้หล่อหลอมในเรื่องการให้ความสำคัญต่อมิติทางสังคม ซึ่งยังคงอยู่ในตัวจนถึงทุกวันนี้”
ดร.โชคชัย สุเวชวัฒนกุล นิสิตเก่าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ผู้รับผิดชอบขบวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ระหว่างปี 2534 – 2537 เล่าว่าในบางปีผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นนิสิตหญิงเท่านั้น ทำให้ถูกมองว่าเป็นการโปรโมทดาวจุฬาฯ ที่เน้นหน้าตา ความสวย ดังนั้นจึงมีการตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่จะได้ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวที่เท่าเทียมและมีความหลากหลายในฐานะผู้แทนนิสิตจุฬาฯ ได้สมบูรณ์ที่สุด
“ในปี 2535 ผมจึงเสนอให้เปลี่ยนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นนิสิตชาย 1 คน หญิง 1 คน โดยแต่ละคณะจะส่งผู้แทนนิสิตมารับการคัดเลือกด้วยการสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการซึ่งเป็นหัวหน้านิสิตคณะต่างๆ ผู้แทนจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และคณาจารย์ ผู้ได้คะแนนสูงสุดสองคนจะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว”
ธนัดดา ทองหยด คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 57 ปี 2544 เผยถึงการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในปีนั้นว่า นอกจากการสัมภาษณ์และการทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ยังมีการสอบข้อเขียน นิสิตที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะขึ้นตอบคำถามสัมภาษณ์บนเวที ณ หอประชุมจุฬาฯ และมีการลงคะแนนโหวตยอดนิยมด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวทุกคนล้วนภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้
“ประทับใจขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 1 ทุ่มเทแรงกายช่วยกันทำเสลี่ยง นิสิตชายหลายสิบคนต้องทนเหนื่อยแบกเสลี่ยงให้เรานั่ง บางคนเป็นลมเพราะอากาศร้อน เป็นภาพของความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง การเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้มอบโอกาสสำคัญให้ชีวิตมากมาย ทำให้เติบโตในรั้วจามจุรีอย่างมีคุณภาพ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ทำให้เข้มแข็ง รู้จักทั้งการเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามที่ดี” ธนัดดา กล่าว
ปิยเกียรติ บุญเรือง ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณี ครั้งที่ 55 ปี 2542 ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวคู่กับแอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ ซึ่งตอนนั้นเป็นเฟรชชี่ที่มีชื่อเสียงแล้ว
“รู้สึกดีใจมากที่นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวทั้งชายและหญิง ในปีนั้นอยู่ในช่วงภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวจึงมีหน้าที่ชี้แจงกับสังคมว่างานฟุตบอลประเพณีจัดขึ้นโดยมีการบริหารจัดการด้านงบประมาณที่รัดกุม ไม่สิ้นเปลือง พลังของนิสิตนักศึกษาเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้สังคมเดินหน้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งอีกครั้ง” ปิยเกียรติ กล่าว
กรกันต์ สุทธิโกเศศ คณะนิเทศศาสตร์ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 67 ปี 2554 ยังจดจำช่วงเวลาสำคัญได้อย่างแม่นยำ “นาทีที่ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามศุภชลาศัย สแตนด์เชียร์จุฬาฯ เปลี่ยนเป็นตราสัญลักษณ์พระเกี้ยว และเปิดเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เวลานั้นขนลุก น้ำตาจะไหล เป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่มากของนิสิตคนหนึ่ง ฟุตบอลประเพณีเป็นสายใยความผูกพันของสองสถาบัน นิสิตที่ทำหน้าที่ต่างๆ ทั้งผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ผู้นำเชียร์ จุฬาฯ คทากร ขบวนพาเหรด แปรอักษร มีบทบาทความสำคัญทุกหน้าที่ งานจะยิ่งใหญ่ไม่ได้ถ้าขาดตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง”
ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ปี 2563
ปาณิสรา อารยะถาวร นิสิตคณะนิติศาสตร์ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 73 ซึ่งฝึกความพร้อมให้น้องๆ ทั้งนิสิตทั้ง 14 คนในกลุ่ม “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” กล่าวว่า นอกจากผู้ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวแล้ว ยังมีผู้อัญเชิญถ้วยพระราชทาน ผู้อัญเชิญพานพุ่ม และผู้อัญเชิญป้ายนามมหาวิทยาลัย ในปีนี้มีนิสิตให้ความสนใจสมัครเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมากถึง 432 คน จากหลากหลายคณะและชั้นปี
กระบวนการคัดเลือกแบ่งออกเป็น 4 รอบ ในรอบแรกเป็นการสัมภาษณ์ วัดการแสดงออกและบุคลิกภาพ รอบสอง เป็นกิจกรรมกลุ่ม วัดทักษะการทำงานร่วมกัน รอบสาม เป็นรอบสัมภาษณ์กลุ่ม และสัมภาษณ์เดี่ยว ส่วนรอบตัดสินเป็นการตอบคำถามของคณะกรรมการบนเวทีหอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อคัดเลือกน้องๆ ทั้ง 14 คนที่มีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ต่างๆ
และสองนิสิตผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในปีนี้ ได้แก่ ศุภกิจ อรุณภัทรสกุล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ชั้นปีที่ 4 ภาคินี สิริวรวิทย์ คณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ทั้งคู่ชนะใจคณะกรรมการด้วยการตอบคำถามที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด อาทิ “ถ้าคุณเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว อยากให้รุ่นน้องงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 74 มองว่าเป็นรุ่นพี่แบบไหน”
ศุภกิจ: “อยากให้น้องมองตนเองว่าเป็นพี่ที่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่”
ภาคินี: “อยากให้จดจำในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจของน้องๆ ในการกล้าทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ”
ในรอบการเลือกซองคำถาม ศุภกิจได้คำถามเกี่ยวกับวิธีแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าของเยาวชน “ความรู้ความเข้าใจจากคนรอบข้างมีส่วนช่วยให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้เอาชนะความเครียดและผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้” ส่วนภาคินีได้คำถามว่าอยากทิ้งอะไรเนื่องในโอกาสปีใหม่ คำตอบของเธอก็คือ “อยากทิ้งความกลัวว่าเราทำไม่ได้ เราต้องพัฒนาตนเองตลอดเวลาในทุกๆ ด้าน”
สองนิสิตผู้อัญเชิญพระเกี้ยวปีนี้ มองว่า CU Coronet มีความเป็นครอบครัว ทุกคนผูกพันกัน มีความเป็นพี่เป็นน้อง ทุกครั้งที่เจอกันรู้สึกอบอุ่น วันคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว พี่ๆ ที่จบไป 10 กว่าปีที่แล้วก็ยังกลับมาเชียร์น้องๆ เป็นความรู้สึกประทับใจมาก
อ.รศนาภรณ์ วีรวรรณ ที่ปรึกษาด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการกลุ่มผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแห่งจุฬาฯ กล่าวสรุปว่า “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวเปรียบเสมือนตัวแทนนิสิตจุฬาฯ อัญเชิญสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดเข้าสู่สนาม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬา สีสันของงานฟุตบอลประเพณีไม่ได้อยู่ที่การแข่งขันฟุตบอลในสนามเท่านั้น แต่อยู่ที่การสะท้อนภาพสังคมโดยนิสิตนักศึกษาให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านขบวนพาเหรด และสแตนด์เชียร์ งานฟุตบอลประเพณีจึงเป็นงานที่มีจิตวิญญาณและมีคุณค่า ทำให้งานนี้คงอยู่จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 74 แล้ว”
จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สนามศุภชลาศัย ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนปรับ ขยับสังคม”
ติดตามสีสันต่างๆ ของงานฟุตบอลประเพณีได้ที่ Facebook: งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ หรือ Facebook และ Instagram : CU Coronet
เรื่อง : สุรเดช พันธุ์ลี