ค่ายเชื่อมสัมพันธ์ ผ่านการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม เพื่อสันติภาพโลก

ค่ายเชื่อมสัมพันธ์ ผ่านการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม เพื่อสันติภาพโลก

ค่ายเชื่อมสัมพันธ์ ผ่านการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม เพื่อสันติภาพโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากจุดเริ่มต้นอันได้แก่ค่ายอบรมการใช้ภาษาอังกฤษ ณ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เพื่อให้นิสิตสาขาวิชาดุริยางค์ศิลป์ไทยได้พัฒนาทักษะในการสื่อสาร ก่อนจะวิวัฒน์มาเป็นค่ายวัฒนธรรม International Thai Culture Camp ซึ่งประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงครั้งที่ 18 ในปีนี้ โดยความร่วมมือของสาขาวิชาดุริยางค์ศิลป์ไทย ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพันธมิตรในระดับนานาชาติ

dr

กิจกรรม 18th International Thai Culture Camp จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 - 18 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดย CU Around ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกิจกรรมวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้

“ปีนี้เราก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทการแสดงวัฒนธรรม ในการนำนิสิตต่างชาติเข้ามาร่วม รวมไปถึงเด็ก AFS ของธรรมศาสตร์ สปอนเซอร์จากหน่วยงานและจากสถานทูตต่างๆ ไม่เฉพาะเด็กอาเซียน

fb_img_1576079937889(1)

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมคือให้นิสิตของเราและนักเรียนนักศึกษาจากนานาชาติที่สนใจได้มีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียน เกิดความเข้าใจด้านวัฒนธรรม เพื่อสันติภาพโลก”

fb_img_1576080175823

ศ.ดร.บุษกร เปิดเผยว่า ก่อนหน้า International Thai Culture Camp ทุกครั้งจะมีกิจกรรมที่เรียกว่า pre-camp โดยอาจารย์ในคณะและ Artist in Resident ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก มาช่วยอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่นิสิตของเราในการต้อนรับแขกเป็นเวลา 1 วันเต็มๆ พอถึงวันจริงก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เริ่มตั้งแต่พิธีเปิด กิจกรรมละลายพฤติกรรมเพื่อให้เด็กได้ทำความรู้จักกัน กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม

fb_img_1576080096314

“เด็กไทยก็จะสอนเรื่องของวัฒนธรรม ดนตรีไทย ร้องไทย รำไทย ส่วนเด็กที่มาจากต่างชาติก็จะนำวัฒนธรรมของเขามาด้วย เด็กเราก็จะเรียนรู้จากเขา ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงมินิคอนเสิร์ต คลาสสอนการทำอาหาร การทำเวิร์กชอป ซึ่งเอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดการสื่อสารในด้านวัฒนธรรม ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับคือให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ก้าวข้ามความจำกัดทางด้านภาษาและวัฒนธรรม ได้เปิดหูเปิดตาและสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติค่ะ” ศ.ดร.บุษกร กล่าว

fb_img_1576080682829(1)

ธัญญารัตน์ ป้องสงวน นิสิตชั้นปีที่ 3  คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ผู้รับหน้าที่ประธานฝ่ายนิสิตในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักของค่ายก็คือให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะทางด้านดนตรีพร้อมฝึกภาษา โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นเยาวชนต่างชาติ 27 คน มีคนไทยและนิสิตจุฬาฯ รวมแล้วก็ประมาณ 80 คน ในฐานะที่เป็นทั้งลูกค่ายและผู้จัดกิจกรรม เราก็ได้ฝึกภาษาและความกล้าที่จะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงมิตรภาพใหม่ๆ ด้วย อาจจะมีเหนื่อยบ้าง แต่ก็สนุกมากค่ะ ก็หวังอย่างยิ่งว่าน้องๆ ทุกคน โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมในโครงการนี้นะคะ”

taerheechun

Tae Rhee Chun อายุ 19 ปี เยาวชนจากประเทศเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรกกล่าวว่า “ผมมีความสนใจในวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะเรื่องของดนตรีและการแสดงต่างๆ แบบดั้งเดิม การมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้รับความสนุกสนาน อาหารก็อร่อย อย่างในวันนี้ผมมีโอกาสได้ลองเล่นเครื่องดนตรีไทยคือกลองด้วยครับ”

jaeminshio

เช่นเดียวกับ Jamin Shio จาก Korean International School of Bangkok ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การมาค่ายนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของไทยครับ สิ่งที่ผมคาดหวังจากการมาค่าย Thai Culture Camp ในครั้งนี้ก็คือ ตัวเองจะได้เข้าใจวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมากขึ้นนั่นเองครับ”

กิจกรรม International Thai Culture Camp ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนต่างชาติได้มารู้จักวัฒนธรรมไทยอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของชาติ และสร้างทูตทางวัฒนธรรมที่จะช่วยในการเผยแพร่ความเป็นไทยไปสู่สากล ขณะเดียวกัน นิสิตที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถสร้างเครือข่ายกับเยาวชนจากนานาประเทศทั่วโลกและเพิ่มพูนประสบการณ์การใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่อง: ชาติสยาม หม่อมแก้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook