"คำศัพท์เด็กมหาวิทยาลัย" เปอร์, ไทร์, เมกอัป คำพวกนี้มันมีความหมายว่าอะไรกัน?
แน่นอนว่าแต่ละกลุ่มและชุมชนก็มักที่จะมีศัพท์เฉพาะกลุ่ม ที่เข้าใจกันเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มหรือชุมชนนั้นๆ ซึ่งชุมชนเด็กมหาวิทยาลัยเขาก็มีศัพท์ที่เฉพาะทางและรู้กันเฉพาะกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ซึ่งในครั้งนี้ Sanook Campus เราก็เลยจะพาเพื่อนๆ มาเรียนรู้ คำศัพท์เด็กมหาวิทยาลัย กันซักหน่อย แต่ละคำที่เขาพูดๆ กัน มันมีความหมายอะไรกันบ้าง มาดูกันเลย
"คำศัพท์เด็กมหาวิทยาลัย" เปอร์, ไทร์, เมกอัป คำพวกนี้มันมีความหมายว่าอะไรกัน?
ดรอป (Drop)
หมายถึง การถอนกระบวนวิชา ส่วนมากจะใช้ในกรณีที่นักศึกษาได้คะแนนสอบช่วงกลางภาคไม่น่าพึงพอใจ ก็จะไปยื่นคำขอถอนกระบวนวิชา เป็นการทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า “Drop”
เปอร์ (Super Senior)
หมายถึง นักศึกษาที่ใช้เวลาในการเรียนเกินกว่าหลักสูตรกำหนด เช่น หลักสูตรปกติกำหนดมาให้สามารถจบได้ใน 8 ภาคการศึกษา (4 ปี) ถ้านักศึกษาคนนั้นอยู่มาแล้ว 5 ปี ก็จะถูกเรียกว่า “ปีเปอร์” หรือถ้าใช้เวลา 6 ปีในการเรียนจบ ก็สามารถบอกได้ว่า “เรียนจบนะ แต่เปอร์ไป 2 ปี”
ไทร์ (Retire)
หมายถึง การถูกทำให้พ้นสภาพนักศึกษา เนื่องจากเกรดเฉลี่ยสะสมต่ำกว่าเกณฑ์
แอดมือ (Add)
หมายถึง การขอลงทะเบียนเรียนกับอาจารย์ประจำวิชาโดยตรง ซึ่งปกติแล้วนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนผ่านระบบออนไลน์ของสำนักทะเบียนและประมวลผล โดยมีเงื่อนไขและระยะเวลาที่จำกัด ทำให้นักศึกษาบางคนที่ต้องการลงทะเบียนให้ได้ ขอลงทะเบียนเรียนกับอาจารย์ประจำวิชาโดยตรง
เซ็ก (Section)
หมายถึง การแบ่งวิชาเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ในระบบลงทะเบียนจะกำกับด้วยตัวเลข 001, 002, 003 แต่บางครั้งนักศึกษาก็จะเรียกแต่ละเซ็กด้วยชื่ออาจารย์ผู้สอน
มีน (Mean)
หมายถึง ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบ มักใช้เป็นค่ากลางเพื่อดูว่าเราทำข้อสอบได้ดีแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ ในกรณีที่นักศึกษาพูดคุยถึงคะแนนสอบกับเพื่อน ๆ แต่ไม่อยากระบุตัวเลขที่เจาะจง ก็มักจะใช้มีนเป็นตัวอ้างอิง เช่น “ตกมีน” แปลว่าได้คะแนนคำกว่าค่าเฉลี่ย หรือ “มือแตะมีน ตีนแตะ F” แปบว่าคะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย แต่ก็ยังถือสอบผ่าน
เมกอัป (Make Up Class)
หมายถึง การนัดสอนเพิ่มนอกเวลา ไม่ใช่การนัดสอนแต่งหน้าแต่อย่างใด มักใช้ในกรณีที่อาจารย์ไม่สามารถมาสอนได้ หรือมีเหตุจำเป็น ทำให้ต้องนัดนักศึกษามาเรียนนอกเวลาเรียนปกติ ก็จะเรียกว่า “การนัดเมกอัป”
แอดไวเซอร์ (Adviser)
หมายถึง อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งถ้าเทียบกับระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา ก็เหมือนกับ “อาจารย์ประจำชั้น” เพราะการเรียนในระดับอุดมศึกษานั้น ไม่ได้มีการแบ่งนักศึกษาออกเป็นห้องเรียน แต่ละคนมีตารางเรียนที่แตกต่างกัน