ทุก (ข์) ปัญหาชีวิต แก้ที่ใจ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์จาก คณะจิตวิทยา จุฬาฯ
ทุกปัญหามีทางออก และทางออกนั้นเริ่มต้นที่หัวใจของเรา ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์แนวทางแก้ไขทุก (ข์) ปัญหาชีวิตงานและความสัมพันธ์ ด้วยหลักจิตวิทยาที่ทุกคนทำได้ เพียงเข้าใจ ปรับใจ เปลี่ยนมุมมอง ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นและหลายปัญหาคลี่คลายลง
การรักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรารักตัวเอง
มีคนให้คำนิยามการรักตัวเองว่าเป็นเรื่องของ “ความสงบสุขภายใน’ การตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ยอมรับตัวเองได้ว่ามีข้อดีข้อเสียอะไร รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าเพียงพอ ไม่ตัดสินตัวเองในทางลบและไม่ให้คนอื่นมาตัดสินคุณค่าของเราเช่นกัน
อะไรเป็นองค์ประกอบสำคัญในความรักความสัมพันธ์
‘ความสบายใจ’ หรือการได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ อันนี้ใช้ได้กับความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก แต่อยากให้เข้าใจว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และไม่มีใครเติมเต็มความต้องการของเราได้ 100% เขาอาจจะเข้ากับเรา หรือเติมเต็มเราได้ 80% ส่วนอีก 20% เราอาจได้รับจากความสัมพันธ์รูปแบบอื่น
อันที่จริง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบใด ทุกคนควรแสดงความรักอย่างถูกต้อง ปรับตัวเข้ากับคนที่เรารัก รู้จักเรียนรู้ความคิด ความรู้สึกของคนอื่น และเรียนรู้ที่จะเป็น ‘ผู้ให้’ ซึ่งกันและกัน
เราจะมีวิธีรับมือกับความผิดหวังในชีวิตอย่างไรได้บ้าง
ความรู้สึกเศร้าเสียใจเป็นเรื่องธรรมดา และต้องใช้เวลาเป็นตัวช่วย ซึ่งระหว่างนี้ ให้อยู่กับคนที่คิดบวก คนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ หรือถ้าต้องอยู่คนเดียว ก็ให้หากิจกรรมที่เบนความสนใจไปเรื่องอื่น ที่สำคัญ ขอให้มองความผิดพลาดเป็น ‘บทเรียน’ เรียนรู้แล้วจบไป ล้มแล้วลุกขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะเกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจ
เราจะทำความเข้าใจและลดพฤติกรรมการไม่ให้เกียรติกันอย่างไร
เมื่อเรามีปัญหาหรือรู้สึกเครียด เราจะแสดงพฤติกรรมลบๆ ออกมา จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ดังนั้น ถ้าเรา “รู้ตัว” ว่ากำลังอยู่ในอารมณ์แบบใด ก็ควรจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นเสียก่อนที่จะไปพบเจอหรือพูดคุบกับคนอื่น
ในเรื่องการไม่ให้เกียรติกัน ที่พบมากในสังคมไทยคือเรามักพูดจาที่ทำให้ผู้อื่นเป็นตัวตลกและน่าขัน โดยลืมไปว่านั่นเป็นการไม่ให้เกียรติผู้อื่นอยู่ การสื่อสารโดยเลือกใช้เทคนิค ‘ภาษาฉัน’ (I-Message) จึงสำคัญ ให้สื่อสารว่าเรารู้สึกอย่างไร และพูดบอกกันอย่างแบบอ่อนโยน ก็จะลดพฤติกรรมไม่ให้เกียรติกันได้
ทำอย่างไรให้บุคลากรรักงานที่ทำ
ต้องให้บุคลากรเห็นคุณค่าความหมายในงานที่ทำ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเป็นส่วนหนึ่งในงาน โดยเห็นว่างานนั้นเติมคุณค่า และเป็นประโยชน์กับใครบ้าง ช่วยสังคม หรือทำให้องค์กรเติบโตอย่างไร
ทำอย่างไรให้บุคลากรและองค์กรพัฒนาเติบโตไปด้วยกัน
ระบบองค์กร เป้าหมาย วิสัยทัศน์ ควรสอดคล้องกัน สามารถกระตุ้นบุคลากรให้ไปถึงเป้าหมายและความสำเร็จ การสร้างแรงจูงใจและดูแลสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้บุคลากรแสดงศักยภาพได้เต็มที่เป็นเรื่องสำคัญ
องค์กรต้องใส่ใจความต้องการของบุคลากรว่า เขามีความต้องการอะไรในงาน -- ต้องการที่จะเติบโตและพัฒนาตัวเอง เพิ่มเติมศักยภาพ ค้นหาตนเอง หรือเพื่อเติมความฝันของเขา ถ้าเราเข้าใจตรงกัน องค์กรก็จะตอบสนองความต้องการของบุคลากรให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ สนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างเป็นทีมจากทุกฝ่าย
เรื่อง : นิธิกานต์ ปภรภัฒ