5 คำเกี่ยวกับความรู้สึกในภาษาญี่ปุ่นที่แปลไม่ได้
แม้ทุกวันนี้เราจะสามารถแปลคำหลายคำได้โดยการใช้พจนานุกรมเป็นตัวช่วย แต่ความท้าทายหนึ่งในการแปลภาษาคือ “คำที่ไม่สามารถแปลได้” ที่เกิดจากแนวคิดหรือลักษณะทางสังคมที่มีเฉพาะในสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การจะถ่ายทอดความหมายของคำเหล่านี้ออกมาได้จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะและแนวคิดในสังคมนั้นๆ ด้วย ในบทความนี้เราจะมาดูตัวอย่างคำภาษาญี่ปุ่นที่แปลไม่ได้ทั้งหมด 5 คำกันค่ะ
“คำที่แปลไม่ได้” ที่ว่านี้ แปลไม่ได้จริงๆ หรือ?
ที่จริงแล้ว “คำที่แปลไม่ได้ (Untranslatable Word)” มักหมายถึงคำที่ขาดคำแปลที่ตรงตัวในภาษาของเรา (Caroline James, 2014) แม้ว่าในภาษาของเราจะมีคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกับคำที่แปลไม่ได้อยู่บ้าง แต่คำทั้งสองนั้นมักจะมีพื้นที่สีเทาที่ความหมายของคำทั้งสองไม่ได้ตรงหรือเหลื่อมกัน ซึ่งพื้นที่สีเทานี้จะเห็นได้ชัดจากความหมายอันซับซ้อนที่มีอยู่เฉพาะภาษานั้นๆ เท่านั้น (Verbalink, 2016)
ตัวอย่างของคำที่แปลไม่ได้ซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นมาคือคำว่า “Toska (тоска)” ในภาษารัสเซียซึ่งมีความหมายว่า “ความทุกข์ทรมานทางจิตใจอย่างสาหัสซึ่งมักไม่มีสาเหตุ ไล่ได้ตั้งแต่ความเบื่อ ความเจ็บปวดทางจิตใจ ความคิดถึงทั้งที่ไม่มีอะไรให้คิดถึง ความกระสับกระส่าย ไปจนถึงความรู้สึกโหยหา” (Vladimir Nabokov)
ในภาษาไทยเรามีคำว่า “ความเบื่อ” “ความเจ็บปวด” “ความคิดถึง” “ความกระสับกระส่าย” และคำว่า “โหยหา” อยู่ แต่ไม่มีคำไหนเลยที่จะมีความหมายครอบคลุมความหมายทั้งหมดของคำว่า Toska ได้ ดังนั้นผู้แปลหรือผู้อ่านจึงต้องอาศัยการตีความจากประโยคว่า Toska ในประโยคนี้คือ Toska ในความหมายใด ลักษณะเช่นนี้คือลักษณะของคำที่แปลไม่ได้ ซึ่งต้องอาศัยการพลิกแพลงในการแปลหรือการตีความเพิ่มเติมของผู้อ่านในการที่จะทำความเข้าใจกับคำนั้นๆ ได้
Wabisabi (わびさび)
Wabisabi คือวิถี กระบวนการ และศิลปะที่นำไปสู่เซน อีกทั้งยังเป็นหัวใจของสุนทรียภาพญี่ปุ่น (พุทธศาสนานิกายเซ็น, 2014) ที่มองว่าความเรียบง่าย โดยเฉพาะจากธรรมชาติ และความไม่สมบูรณ์คือความงามแบบหนึ่ง โดยตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของคำว่า Wabisabi คือวัดทางศาสนาพุทธของญี่ปุ่นซึ่งมักก่อสร้างด้วยไม้ ไม่ค่อยมีการตกแต่ง เน้นความเรียบง่าย ความสะอาด และบรรยากาศที่สงบเป็นหลัก ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกสงบเมื่อได้เข้ามายังอาณาบริเวณของวัด ต่างจากวัดในประเทศไทยที่เน้นความสวยงามและยิ่งใหญ่เพื่อให้ผู้มาเยือนรู้สึกเลื่อมใส
นอกจากนี้ สิ่งที่ให้ความรู้สึก Wabisabi นั้นจะมีความรู้สึกของคุณค่าที่อยู่เหนือกาลเวลาอยู่ด้วย ซึ่งสามารถเห็นได้จากสถานที่ที่มีความเก่าแก่ เช่นวัด ปราสาท หรือสวนญี่ปุ่น ที่มักมีความสำคัญและได้รับการบูรณะเรื่อยมา จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า นอกจากสังคมญี่ปุ่นจะมีแนวคิดเรื่องความงามที่เกิดจากความเรียบง่ายและไม่สมบูรณ์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับสิ่งของที่มีคุณค่าทางความทรงจำและกาลเวลาอีกด้วย
Setsunai (切ない)
มักใช้เมื่อต้องการสื่อถึงความรู้สึกโศกเศร้าที่มีความสุขปะปนอยู่ด้วย หรือความรู้สึกเมื่อความปรารถนาไม่สมหวัง เช่น ความรู้สึกเวลารักเขาข้างเดียว ซึ่งมีทั้งความรู้สึกเป็นสุขเมื่อนึกถึงอีกฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความทุกข์ที่อีกฝ่ายไม่ได้มีความรู้สึกให้ หรือเวลาคนใกล้ตัวป่วย ก็จะเป็นความโศกเศร้าที่คนคนนั้นไม่ได้มีสุขภาพดีอย่างที่เราคาดหวังให้เป็น เป็นต้น
สำหรับความรู้สึก Setsunai ในแง่ความรู้สึกทุกข์ที่มีความสุขเจือปนอยู่นั้น ในภาษาไทยเรามีคำว่า “สุขระคนปนทุกข์” อยู่ ซึ่งจากการที่ภาษาไทยมีคำอธิบายความรู้สึกนี้เช่นเดียวกันกับภาษาญี่ปุ่นนั้น อาจมองได้ว่าทั้งสังคมไทยและสังคมญี่ปุ่นมองว่าความสุขและความทุกข์สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในความหมายของคำว่า Setsunai นั้นมีความหมายแฝงอยู่ว่าเป็นความรู้สึกราวกับถูกบีบคั้นอยู่ในใจ ซึ่งการระบุความรู้สึกอย่างชัดเจนนี้อาจแสดงให้เห็นได้ว่าสังคมญี่ปุ่นมีการสังเกตและระบุความรู้สึกค่อนข้างละเอียดลงไปอีกขั้น
Mottainai (もったいない)
คำแปลไทยสำหรับคำว่า Mottaiani คือคำว่า “เสียดาย” ซึ่งพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่า “เสียดาย” ไว้ว่า “ความรู้สึกอยากได้สิ่งที่เสียไปหรือพลาดไปให้กลับคืนมา” อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเสียดายของคนไทยนั้นสามารถหมายถึงความเสียดายที่สิ่งหนึ่งถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า (Mottainai) ความเสียดายที่พลาดโอกาสไป (Zannen・残念) หรือความรู้สึกเสียดายที่ทำไม่สำเร็จ (Oshii・惜しい) ได้เช่นกัน ดังนั้น ในกรณีนี้ คำในภาษาไทยจึงมีความหมายกว้างกว่าคำในภาษาญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การที่คำว่า Mottainai, Zannen และ Oshii ต่างเป็นความรู้สึกเสียดายที่ต่างออกไปอย่างชัดเจนนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการสังเกตและแบ่งแยกความรู้สึกที่ละเอียดของคนญี่ปุ่นได้เช่นกัน นอกจากนี้ การมีคำเฉพาะสำหรับความรู้สึกเสียดายที่สิ่งๆ หนึ่งถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่าหรือไม่รู้คุณค่านั้น อาจแสดงให้เห็นถึงลักษณะหนึ่งของคนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการใช้สิ่งๆ หนึ่งอย่างรู้คุณค่าก็เป็นได้
Natsukashii (懐かしい)
เป็นคำที่คนญี่ปุ่นใช้เมื่อต้องการสื่อถึงความรู้สึกคิดถึงเรื่องในอดีตเมื่อเห็นสิ่งของหรือสถานที่ไม่ได้พบเห็นมานานแล้วรู้สึกคิดถึงสิ่งของหรือสถานที่นั้นๆ เช่น “รูปภาพนี้ช่าง Natsukashii” อย่างไรก็ตาม คำว่า Natsukashii ไม่ค่อยถูกนำมาใช้กับบุคคล แต่ถ้าใช้ ก็จะใช้ในความหมายว่าคิดถึงความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลนั้นๆ แทน นอกจากนี้ความรู้สึกคิดถึงเรื่องในอดีตนี้จะมีความรู้สึกไม่อยากห่างจากความทรงจำนั้นๆ ของผู้พูดอยู่ด้วย
ถ้าค้นคำว่า Natsukashii ในพจนานุกรมญี่ปุ่น-ไทย เราจะได้คำแปลว่า “หวนคิดถึง” ซึ่งถ้าลำพังใช้แค่คำว่า “คิดถึง” คำเดียวในการแปลก็อาจหมายความได้แค่การนึกถึงด้วยความรู้สึกผูกพันเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งความรู้สึกคิดถึงแบบอยากเจอ (Aitai・会いたい) หรือความรู้สึกคิดถึงเฉยๆ (Koishii・恋しい) ก็ได้ คำแปลไทยของพจนานุกรมจึงมีการใช้คำว่า “หวน” ที่หมายถึง “การเวียนกลับ” เพื่อเจาะจงความรู้สึกให้ชัดเจนว่าเป็นความรู้สึกคิดถึงความทรงจำในอดีต จากการที่มีคำเจาะจงความรู้สึกคิดถึงความทรงจำในอดีตนี้ อาจมองได้ว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ผูกพันและให้ความสำคัญกับเรื่องราวในอดีตได้เช่นกัน
Shoshin (初心)
ใช้กล่าวถึงความรู้สึกแรกเมื่อเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การงาน กีฬา งานอดิเรก การแต่งงาน หรือแม้แต่การขับรถเป็นต้น โดยความรู้สึกแรกนั้นมักมีความตั้งหน้าตั้งตา ความตื่นเต้น การมุ่งหน้า และความกังวลแฝงอยู่ คนญี่ปุ่นมีสำนวนที่ใช้คำว่า Shoshin อยู่สองสำนวนด้วยกัน ได้แก่ Shoshin wo Wasureru Bekarazu (初心を忘れるべからず) ที่หมายความว่า “อย่าลืมความรู้สึกแรก” และสำนวนว่า Shoshin ni Kaeru (初心に帰る) ที่หมายความว่า “นึกออกถึงความรู้สึกแรก” สองสำนวนนี้มักใช้เมื่อผู้พูดต้องการให้ผู้ฟังนึกย้อนกลับไปถึงความรู้สึกแรกเมื่อเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้ผู้ฟังมีกำลังใจในการทำสิ่งนั้นๆ ต่อไป
ความน่าสนใจเกี่ยวกับสำนวนว่า Shoshin wo Wasureru Bekarazu และ Shoshin ni Kaeru คือข้อสังเกตว่าในสังคมญี่ปุ่นนั้น คนคนหนึ่งมักทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเวลานาน กล่าวคือคนญี่ปุ่นจะทำงานอาชีพหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีระบบการโยกย้ายพนักงานให้ได้ไปทำงานในสาขาต่างๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน แต่ในอดีตนั้น การที่คนคนหนึ่งทำงานเดิมๆ ในสถานที่เดิมๆ เป็นเวลานานนั้นอาจก่อให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบต่องานของตนได้ ณ จุดนี้ คำว่า Shoshin จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยให้คนคนนั้นนึกย้อนกลับไปยังความรู้สึกแรกของตนตอนที่เริ่มทำงานนั้นๆ ซึ่งมักเป็นความรู้สึกตื่นเต้นและอาจมีความรู้สึกในแง่บวกแฝงอยู่ด้วย ทำให้คนคนนั้นมีแรงใจในการที่จะทำงานของตนต่อไป จากประเด็นนี้จึงอาจมองได้ว่าสังคมญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับ Shoshin และคำว่า Shoshin เองก็มีบทบาทในทางจิตใจของคนญี่ปุ่นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของคำที่แปลไม่ได้ในภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีคำในภาษาญี่ปุ่นอีกมากที่แปลไม่ได้หรือแปลได้ยาก เพื่อนๆ เคยเจอคำไหนและแปลว่ายังไงกันบ้างคะ? มาแบ่งปันความเห็นกันได้นะคะ