หมอนิล ณัฐษกรณ์ : หญิงผู้เรียนรู้และหาความสุขในชีวิตวัยทำงานข้างสนามฟุตบอล

หมอนิล ณัฐษกรณ์ : หญิงผู้เรียนรู้และหาความสุขในชีวิตวัยทำงานข้างสนามฟุตบอล

หมอนิล ณัฐษกรณ์ : หญิงผู้เรียนรู้และหาความสุขในชีวิตวัยทำงานข้างสนามฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ตอนเรียนเราไม่ได้ชอบกีฬา ก็เลยไม่ได้เน้นไม่ได้สนใจทางนั้น คือตอนเรียนเราเป็นเด็กแบบลูกคุณหนู ลุคผู้หญิงมากๆ ให้มาใส่กางเกงวอร์ม วิ่งทำงานในสนามฟุตบอล ไม่ใช่แนวเราเลย ทุกวันนี้ที่ได้มาทำงานตรงนี้ เป็นจังหวะชีวิตล้วนๆ”

ในสังคมปัจจุบัน ชีวิตการทำงานเป็นปัญหาที่ผู้คนในสังคมต้องเผชิญ หลายคนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความเครียด หรือหมดไฟจากการทำงาน ไปจนถึงเจอปัญหาสุขภาพ จากการทำงานที่ตัวเองไม่ได้รัก หรือไม่มีความสุขจากหน้าที่การงาน

ณัฐษกรณ์ ทรงพรวาณิชย์ หัวหน้านักกายภาพบำบัด ของสโมสรฟุตบอลโปลิศ เทโร หรือที่หลายคนเรียกเธอว่า หมอนิล ได้เริ่มเข้ามาทำงานบทบาทหน้าที่ตรงนี้ โดยไม่ได้ตั้งใจ อาชีพนักกายภาพบำบัดคือชีวิตที่เธอไม่ได้เลือกเอง และไม่ใช่ความฝันที่เธออยากจะเป็น

แต่สุดท้ายแม้จะผ่านอุปสรรค และบททดสอบหลายอย่างในอาชีพการงาน หมอนิล ณัฐษกรณ์ สามารถหาความสุขให้กับตัวเอง จนสามารถทำอาชีพเป็นนักกายภาพบำบัดของสโมสรฟุตบอล ยาวนานนับสิบปี และกลายเป็นอาชีพที่เธอรักในปัจจุบัน

จังหวะชีวิตที่พาไป

“จริงๆตอนเป็นเด็ก ไม่ได้สนใจสักด้านเลยค่ะ ไม่ได้สนใจฟุตบอล และไม่ได้สนใจที่จะเรียนด้านกายภาพด้วย ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานตรงนี้ แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” หมอนิล เริ่มเล่าเรื่องของเธอ หลังเราสอบถามว่า ระหว่างฟุตบอลกับความสนใจทางการแพทย์ สิ่งไหนคือความรักที่แท้จริงของเธอ

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“ฟุตบอลเราไม่เคยสนใจ ไม่ได้ติดตาม เพราะเรามองว่ามันเป็นกีฬาของผู้ชาย ไม่รู้จะดูทำไม เมื่อก่อนเราใกล้ชิดกับกีฬาก็แค่ ว่ายน้ำ ซึ่งเป็นการออกกำลังกาย”

“ตอนเป็นวัยรุ่นเราก็เหมือนผู้หญิงทั่วไป มีความสนใจด้านตัวเลข อยากเรียนพวกบัญชี บริหาร เศรษฐศาสตร์ ประมาณนี้มากกว่า”

แม้มีภาพความฝันที่ชัดเจนของการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ความต้องการของหมอนิล สวนทางกลับความต้องการของคนทางบ้าน เพราะคุณแม่ของเธอ ต้องการให้ลูกสาวมาเรียนด้านการแพทย์ เพราะมองเห็นว่า หากลูกสาวเข้าเรียน ศึกษาศาสตร์แขนงนี้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนได้จำนวนมาก

“พูดตรงๆก็ไม่อยากเรียนหรอก แต่แม่อยากให้เรียน เราก็ไม่เป็นไรตามใจแม่ ตอนแรกไปสอบตรง ติดคณะเภสัชศาสตร์ แต่พอเข้าไปลองเรียนแล้วไม่ชอบ ก็ลาออกทันทีเลย แล้วก็หันไปเข้าเรียนที่คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิตแทน”

“ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ว่ากายภาพบำบัดที่เราต้องเข้าไปเรียนคืออะไร ต้องเรียนอะไรบ้าง คิดไว้แค่เรียนไปสักปี เดี๋ยวค่อยซิ่ว (เปลี่ยนคณะไปเรียนสาขาอื่น) เพราะว่ามันเรียนยาก แต่พอผ่านเรียนไปจบปีแรก เรากลับรู้สึกว่ามันสนุกดี”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

ที่คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต มีหลายสาขาให้นักศึกษาได้ลงวิชาเรียน ตามความสนใจ หนึ่งในนั้น คือสาขากายภาพบำบัดด้านกีฬา ที่จะสอนความรู้เพื่อสร้างนักกายภาพบำบัด เข้าไปทำงาน เป็นนักกายภาพในทีมกีฬาโดยตรง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีศาสตร์ด้านวิชาสาขากีฬาอยู่ใกล้ตัว หมอนิลกลับไม่ได้เลือกเรียนในสาขานี้ เธอหันไปให้ความสำคัญกับการเรียน ด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาขาวิชาการทำกายภาพบำบัดหลัก ตามโรงพยาบาล หรือคลินิกด้านกายภาพ

“ตอนเรียนเราไม่ได้ชอบกีฬา ก็เลยไม่ได้เน้นไม่ได้สนใจทางนั้น คือ ตอนเรียนเราเป็นเด็กแบบลูกคุณหนู ลุคผู้หญิงมากๆ ให้มาใส่กางเกงวอร์ม วิ่งทำงานในสนามฟุตบอล ไม่ใช่แนวเราเลย ทุกวันนี้ที่ได้มาทำงานตรงนี้ เป็นจังหวะชีวิตล้วนๆ”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

จังหวะชีวิตที่เธอกล่าว เริ่มต้นหลังจากเรียนจบในระดับปริญญาตรี หมอนิลได้เข้าทำงานกับคลินิกด้านกายภาพแห่งหนึ่ง ที่บังเอิญคลินิกแห่งนั้น ได้ทำงานด้านกายภาพดูแลนักฟุตบอลให้กับหลายสโมสร

ไม่ว่าจะเป็น บีอีซี เทโร, สมุทรสงคราม เอฟซี, ทีทีเอ็ม พิจิตร, ศุลการกร ยูไนเต็ด, การบินไทย-ลูกอีสาน เป็นต้น ซึ่งการได้เข้าทำงานในคลินิกแห่งนี้ ได้เข้ามาช่วยเปิดประตู สู่การทำงานในวงการฟุตบอล ให้กับหมอนิล

“ทางคลินิกมาถามว่าเราสนใจจะมาทำงานตรงนี้ไหม เราก็โอเคลองทำดู เพราะในตอนนั้น หลายคนมองว่าผู้หญิงไม่สามารถเข้ามาทำงานเป็นนักกายภาพ ให้กับทีมฟุตบอล เราจึงคิดว่า ถ้ามีโอกาส ก็อยากลองเข้ามาพิสูจน์ตัวเอง ลองเข้ามาทำดู”

ท้าทายตัวเอง

เพื่อพิสูจน์ตัวเอง หมอนิลตัดสินใจลองหาความท้าทายใหม่ ที่ข้างสนามฟุตบอล...จากเคยทำงานดูแลผู้ป่วยอยู่ในคลินิก หรือโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว หมอนิลต้องพบกับประสบการณ์ใหม่ ที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อน จากการเข้ามาทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดให้กับสโมสรฟุตบอล

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“ช่วงแรกมันยากสำหรับเรามาก อะไรก็ยากไปหมด เราต้องปรับตัวหลายอย่าง เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เยอะมาก”

“เวลาเราทำงานในคลินิก คนที่เข้ามาหาเราคือลูกค้า เขาต้องการข้อมูล ต้องการความรู้จากเรา เวลาเราคุยกับเขา เราคุยแบบวิชาการ เพราะเขาอยากรู้ว่าต้องรักษาอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร”

“แต่นักฟุตบอล เราไปพูดแบบนั้นไม่ได้ ถ้าเราเอาข้อมูลวิชาการไปพูดให้เขาฟังเยอะๆ เขาจะไม่ฟัง เพราะเขาไม่เข้าใจ ไม่เก็ต เราก็ต้องมานั่งหาวิธีการพูดให้นักฟุตบอลเข้าใจ ต้องปรับวิธีสื่อสาร เพราะด้วยหน้าที่ของเรา เราจำเป็นต้องพูดให้เขาเข้าใจ”

“ก่อนหน้านี้เราทำงานในคลินิก ในโรงพยาบาล มีเครื่องมือพร้อมทุกอย่าง สถานที่ก็พร้อม แต่พอออกมาสนามบอล เครื่องมือก็ไม่มี สถานที่ก็ไม่พร้อม เวลาทำงานกับนักฟุตบอลหลังซ้อมเสร็จ เขาก็ยังไม่ได้อาบน้ำกัน (หัวเราะ) สำหรับเรา นี่คือประสบการณ์ที่ใหม่มาก”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

นอกจากความยากที่ต้องปรับตัว กับการทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่...หมอนิลยังต้องพบเจอกำแพงเรื่องเพศ ที่ทำให้งานของเธอยากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากในช่วงเวลาที่เธอเริ่มเข้าทำงานในวงการฟุตบอล ไม่ค่อยมีสตรีเพศเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งนักกายภาพบำบัด

“ช่วงแรกๆคนไม่ไว้ใจเราเยอะ แต่เราก็มองว่า มันเป็นเรื่องดี ผลักดันให้เราต้องทำผลงาน แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรักษานักฟุตบอลได้จริงๆ ถ้าเราทำงานตามที่ทีมต้องการ หรือโค้ชต้องการได้สำเร็จ ทุกอย่างก็จบ”

“ถามว่ายากไหม ตอนแรกๆมันก็ยากจริงๆ เพราะเราไม่ได้ทำงานแค่สโมสรเดียว แต่เราทำงานวนไปเรื่อยๆ ตามสโมสรที่คลินิก ทำงานให้ เทโร, ศุลกากร, ลูกอีสาน, ทีทีเอ็ม, สมุทรสงคราม เราทำหมด ต้องเดินทางไปแต่ละสนามไม่ซ้ำกัน ในทุกๆวัน หมุนเวียนไปเรื่อยๆ”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“แต่ละสโมสรก็มีเคสนักเตะบาดเจ็บไม่เหมือนกัน ความพร้อมแต่ละทีมก็ไม่เหมือนกัน นิสัยใจคอหรือไลฟ์สไตล์นักฟุตบอลแต่ละทีม ก็ไม่เหมือนกัน ตอนนั้นมันต้องใช้ความคิดเยอะมาก ต้องปรับตัวอยู่ตลอด”

“แต่เราก็รู้ว่า มันไม่ได้ยากเกินความสามารถของเรา อีกแง่หนึ่งการทำงานตรงนี้ มันช่วยให้เราได้คิดทุกวัน เราต้องเจอปัญหาที่เข้ามาไม่ซ้ำกัน ในแต่ละวัน”

“สมมติมีเคสนักฟุตบอลเจ็บข้อเท้าเข้ามา บางคนเจ็บมาเมื่อวาน บางคนเจ็บมาหนึ่งเดือน บางคนเจ็บมาเป็นปี วิธีการรักษาก็ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราต้องคิด คือ ต่อให้เคสต่างกัน เราก็ต้องหาวิธีเข้ามารักษานักฟุตบอลให้ทันให้หายบาดเจ็บตามกำหนด”

“ถึงจุดหนึ่ง เรามองว่าการทำงานตรงนี้ มันสนุก มันท้าทายเรา เราออกมาทำงานตรงนี้ เราได้เจอเคสอาการบาดเจ็บใหม่ ๆ อยู่ตลอด สนุกกว่าทำงานในคลินิก หรือโรงพยาบาล”

ปรับตัวกับช่วงเวลายากลำบาก

เมื่อเวลาผ่านไป การทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดข้างสนามฟุตบอล จากงานที่ยากจะกลายเป็นงานที่รัก สำหรับหมอนิล...แต่เธอต้องเผชิญหน้ากับการทำงานที่แสนหนักหน่วง ผ่านการทำงานแบบไม่มีสโมสรประจำ และต้องหมุนเวียนไปทุกทีม ตามสถานที่

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“ตอนนั้นเหนื่อยมาก กลายเป็นปัญหาใหญ่เลย ทีมไปซ้อมที่ไหนก็ต้องขับรถไปตามทีม ไปไกลถึงสมุทรสงคราม ไปสระบุรี บางทีไปไกลถึงพิจิตร ทำอย่างงี้ตลอด 2-3 ปี และช่วงเช้าเราก็มีงานในคลินิกด้วย

“เราแทบไม่มีเวลาพัก ช่วงเข้าแคมป์ต้องทำงานถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง และเราเดินทางตลอด มันเหนื่อย ก็ตัดสินใจเลิก เลิกเลย ลาออกหมด ลาออกจากทั้งที่คลีนิค และลาออกจากการทำงานทีมฟุตบอล มานอนอยู่บ้านเฉยๆ”

“ออกมาได้แค่เดือนสองเดือน พี่แมน (ธัญญะ วงศ์นาค) เขาติดต่อมาอยากให้เรามาทำงานเป็นนักกายภาพบำบัด ให้กับเทโร”

“ประกอบกับพอออกจากงาน ก็รู้สึกเหงาๆ จากคนที่เคยได้ใช้ความคิดทุกวัน ได้ทำงานเจอเคสอาการบาดเจ็บที่ท้าทายตัวเราเอง เราจึงตอบรับคำชวน เข้ามาเป็นนักกายภาพบำบัดของเทโร”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

นับตั้งแต่ฤดูกาล 2012 หมอนิลเข้ามาทำงานให้กับทัพมังกรไฟอย่างเต็มตัว ทำให้เธอมีสถานะสมาชิกคนหนึ่งของทีม มีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากผลงานทีมออกมาได้ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยามผู้เล่นตัวหลักบาดเจ็บเยอะ ไม่สามารถลงสนาม สร้างผลงานที่ดีให้กับทีม

“ถ้าช่วงไหนตัวเจ็บเยอะ ผลงานแย่ มันก็กดดันนะ อย่างปี 2015 นักเตะเราเจ็บกลับมาจากทีมชาติเยอะมาก แล้วเล่นให้เราไม่ได้ แต่โค้ชก็อยากจะใช้ มันก็มีแรงกดดันเข้ามาตลอด”

“แต่เรื่องของอาการบาดเจ็บบางทีก็เร่งกันไม่ได้ ถ้านักเตะกระดูกแตก คือเราทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้กระดูกมาประสานกัน แต่หน้าที่ของเรา คือช่วยให้นักเตะมีความพร้อมมากที่สุด”

“ถ้านักเตะเจ็บเท้า เราจะช่วยดูแลส่วนอื่น ให้ฟิตพร้อมเหมือนเดิม เมื่ออาการบาดเจ็บที่เท้าหาย เขาจะได้พร้อมกลับลงไปเล่นได้เลย”

“เวลาผลงานทีมไม่ดี เราก็รู้สึกแย่นะ อย่างปี 2018 ที่ตกชั้นคือเศร้าเลย เพราะเราก็พยายามทำงานเต็มที่ ทุกคนทำงานเต็มที่ เพื่อให้ทีมรอดตกชั้น แต่สุดท้ายถ้าผลงานมันออกมาแย่ เราก็ต้องยอมรับมันให้ได้” หมอนิลเปิดเผยถึงทัศนคติด้านบวกของเธอ

การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

ทีมฟุตบอลทุกคนต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่แค่นักฟุตบอล แต่รวมถึงทุกคนภายในทีม แม้แต่ในแผนกการทำงานส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอล อย่างทีมงานแพทย์ประจำสโมสร ที่นอกจากนักกายภาพบำบัด ยังมีนักฟิตเนส ที่ช่วยกันทำงาน ในการรักษานักฟุตบอลคนหนึ่ง จากเริ่มต้นบาดเจ็บจนกลับมาหายดี ลงสนามได้อีกครั้ง

เนื่องด้วยต้องทำงานร่วมกับนักฟิตเนส ทำให้หมอนิลได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานแบบนักฟิตเนส ซึ่งแตกต่างออกไปจากศาสตร์ที่เธอร่ำเรียนมา และเธอสามารถซึมซับวิชาความรู้ จนปัจจุบันรับบทบาท เป็นทั้งนักกายภาพบำบัด และโค้ชฟิตเนสของสโมสรโปลิศ เทโร

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“เราพยายามเรียนรู้จากนักฟิตเนสอยู่ตลอด เวลาทำงานร่วมกัน คือหน้าที่ของมันต่างกัน นักกายภาพบำบัดจะมีหน้าที่รักษา ส่วนนักฟิตเนสจะมีหน้าที่เทรน เรียกความฟิต แต่ต้องทำงานร่วมกัน ต้องพูดคุยกันตลอด เพราะหน้าที่ของเราเหมือนกัน คือ รักษานักฟุตบอลที่บาดเจ็บ”

“เราซึมซับ เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ จนตอนนี้เราเป็นทั้งนักฟิตเนส ทั้งนักกายภาพบำบัด ทำเองหมดเลย ออกแบบแผนรักษาความฟิตให้นักเตะด้วย”

“จริงๆเราก็ทำด้านโภชนาการด้วยนะ (หัวเราะ) เมื่อก่อนก็มีนักโภชนาการ ต่อมาพอเขาลาออก ผู้ใหญ่ก็ให้เรามาทำตรงนี้แทน เราก็หาความรู้จากหนังสือบ้าง จากอินเทอร์เน็ตบ้าง โทรไปพูดคุยกับนักโภชนาการคนอื่นบ้าง ว่าเราจะสามารถวางโปรแกรมอาหารได้อย่างไร”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“ทุกวันนี้ งานมันก็หนักนะ จนไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรหนักกว่านี้อีกแล้ว (หัวเราะ) แต่เราก็มองมันเป็นข้อดี เราได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก จนตอนนี้ทำได้ทุกอย่าง”

“เราไม่ได้คิดว่า ในอนาคตเราจะต้องเรียนรู้สกิลไหนเข้ามาเพิ่ม เพราะวงการนี้มันหยุดเรียนรู้ไม่ได้ เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อาการบาดเจ็บใหม่ๆมีอยู่ตลอด วิธีการรักษาใหม่ๆมีอยู่ตลอด สุดท้ายเราแค่อยากจะเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ”

“ทุกวันนี้ เราพยายามถ่ายทอดความรู้ ให้กับน้องนักฟิตเนส น้องนักกายภาพในทีมให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้”

“จิตวิทยาสำคัญมากที่สุด เพราะถ้าเราไม่สามารถสื่อสารให้นักฟุตบอลเขาเข้าใจเราได้ เขาก็จะไม่ฟังเรา และเขาก็จะไม่หายเจ็บ ตามกำหนดการณ์ หรือตามที่เราต้องการ”

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

“การทำงานตรงนี้ ไม่ใช่แค่มารักษาคนให้หายเจ็บ แล้วก็จบ แต่เราต้องศึกษานิสัยใจคอ ภูมิหลังพื้นฐาน ไลฟ์สไตล์ของนักฟุตบอลทุกคน เพราะมันมีผลต่อการรักษา”

“นักฟุตบอลบางคนน่ารักมาก บอกอะไรก็ทำหมด, บางคนระเบียบวินัยไม่ดี ร่างกายไม่ดี เราก็ต้องหาวิธีพูดกับเขาให้ได้ว่าวิถีชีวิตที่คุณใช้มันกระทบกับร่างกายของคุณ”

“บางคนเราบอกอะไรไปเขาก็ไม่ฟัง เราก็ต้องใช้ไม้แข็งกับเขา ดุเขาบ้าง ดังนั้นการที่เราจะรักษาแต่ละคนอย่างไร มันก็ขึ้นอยู่กับนิสัยของนักฟุตบอลด้วย เพราะสุดท้ายเราต้องหาวิธีพูดกับเขา ให้เขาทำงานร่วมกับเราให้ได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด สำหรับทุกฝ่าย”

“บางครั้งเราก็เจอนักเตะที่มีอีโก้ เช่น นักฟุตบอลต่างชาติบางคน เราก็ต้องพิสูจน์ด้วยผลงาน รักษาให้เขาเห็นว่าเราทำงานได้ เพราะบางครั้งพูดอย่างเดียวก็ไม่มีประโยชน์”

จากหญิงสาวที่ไม่คิดจะเรียนด้านกายภาพ ไม่เคยสนใจฟุตบอล เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ในการทำงาน เติบโตขึ้น จากการทำงานข้างสนามฟุตบอล เป็นโลกใบใหม่ที่ทำให้เธอได้พัฒนาตัวอย่างรอบด้าน

หมอนิล ณัฐษกรณ์หมอนิล ณัฐษกรณ์

จนปัจจุบันเธอสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ มาเปิดคลินิกด้านกายภาพและด้านฟิตเนส ทำงานควบคู่ไปกับหน้าที่ในสโมสรฟุตบอล

กระนั้น สิ่งสำคัญที่สุด การทำงานในฐานะนักกายภาพบำบัด ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ ที่จะพบกับความสุข ในชีวิตการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมปัจจุบัน จำนวนมากเฝ้าตามหา

หมอนิลได้เจอกับงานที่เธอรัก แม้จะเป็นความบังเอิญ โชคชะตา จังหวะชีวิต หรืออะไรก็ตาม แต่สุดท้าย เธอได้พบอาชีพที่แม้ว่างานจะหนัก มีหน้าที่มากมายที่ต้องรับผิดชอบ แต่เธอสามารถมีความสุขกับงานที่เธอต้องตื่นมาพบเจอในทุกๆวัน

“เราคิดว่าเราทำงานตรงนี้ มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น รับมือกับปัญหารอบตัวได้ดีขึ้น ถ้าเราไม่อยากทำอาชีพนี้ (นักกายภาพของทีมฟุตบอล) เราคงลาออกไปนานแล้ว (หัวเราะ) สุดท้ายเรายังสนุกกับการตรงนี้อยู่ ก็ไม่คิดที่จะเลิกทำตรงนี้” หมอนิลกล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ หมอนิล ณัฐษกรณ์ : หญิงผู้เรียนรู้และหาความสุขในชีวิตวัยทำงานข้างสนามฟุตบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook