SDGs สัญญาแห่งการพัฒนาแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของจุฬาฯ

SDGs สัญญาแห่งการพัฒนาแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของจุฬาฯ

SDGs สัญญาแห่งการพัฒนาแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของจุฬาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นและถูกใช้เป็นฐานการกำหนดนโยบายของประเทศและองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขานรับแนวคิดของสหประชาชาตินี้ โดยเริ่มดำเนินการ เว็บไซต์ www.sustainability.chula.ac.th ซึ่งเว็บไซต์นี้ถือเป็นหมุดหมายแรกในการจัดระเบียบและประมวลต้นทุนงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของจุฬาฯ ที่ประชาคมจุฬาฯ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

712880

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีต้นทุนดีเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งปริมาณและคุณภาพ การทำงานของประชาคมจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ บุคลากร หรือนิสิตต่างเกี่ยวพันกับ SDGs ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เพราะด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทำให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเรียนการสอน, การวิจัยนวัตกรรม, นโยบายและการปฏิบัติในขอบเขตของมหาวิทยาลัย และการสร้างความเชื่อมโยงและความผูกพัน ทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และโลก

“เมื่อจุฬาฯ กำหนดให้ SDGs เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยนั้นตลอด 3 - 4 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่เพียงยกระดับการบริหารงานมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่กรอบแนวคิด SDGs ยังทำให้จุฬาฯ คิดได้ไกลขึ้น ไม่ใช่แค่ 5 ปี หรือ 10 ปี แต่มองไกลถึงคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ชุมชนโดยรอบ รวมไปถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

การพัฒนาจุฬาฯ อย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากงานด้านการพัฒนาปรับปรุงระบบกายภาพของประชาคมจุฬาฯ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University) โดยเน้นเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเมื่อ 1 - 2 ปีมานี้ มหาวิทยาลัยได้ขยายขอบเขตการทำงานหลายงานหลายด้านมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัยด้วยพลังงานสะอาดโดยส่งเสริมการใช้รถ Pop รถ Ha:mo รถ Muvmi ที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และการเข้าร่วมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University Network: SUN) เป็นต้น

ศ.ดร.พิรงรอง เล่าถึงความโดดเด่นของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของจุฬาฯ ว่า “ถ้ามองในแง่ผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ และอ้างอิง (Citation) ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จากฐานข้อมูล Elsevier ก็ถือว่า จุฬาฯ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในงานวิจัยที่สอดคล้องกับ

sustainability2

  • SDG เป้าหมายที่ 3 ด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Good Health and Well Being) กล่าวคือ ภายในห้าปีที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับสากลนี้ จำนวน 3,136 ชิ้น
  • SDG เป้าหมายที่ 7 เรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 – 2561 จุฬาฯ ผลงานตีพิมพ์ที่ถูกอ้างอิงในระดับสากลจำนวน 395 ชิ้น
  • SDG เป้าหมายที่ 13 เรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ก็เป็นอีกหัวเรื่องที่จุฬาฯ ค่อนข้างโดดเด่น

นอกจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และอ้างอิงแล้ว จุฬาฯ ยังมีบุคลากรที่ได้ลงมือทำงานจนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย อาทิ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การสหประชาชาติเพื่อมหาสมุทรและองค์กร AFMA – FAO Annex แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้เป็นทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Sustainable Ocean Ambassador: SOA) ในฐานะที่เป็นผู้ทุ่มเทและมีความโดดเด่นในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ รวมถึงงานวิจัยด้านขยะทะเล และไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร

จุฬาฯ ไม่ได้มีดีแค่งานวิจัยเท่านั้น ในแง่การทำงานในเชิงนโยบายด้านเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับ SDG เป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities มหาวิทยาลัยได้มอบของขวัญอุทยานจุฬาฯ 100 ปีเพื่อเป็นปอดกลางกรุงแก่ชุมชน อีกทั้งยังปลูกจิตสำนึกด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน หรือ SDG เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production ให้เกิดขึ้นในหัวใจของประชาคมจุฬาฯ ทุกคน ผ่านโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งผลการรณรงค์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยลดการเกิดขยะไปแล้วกว่า 100 ตัน

นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังได้ร่วมรณรงค์ให้สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก ตามแนวทาง SDG เป้าหมายที่ 16: Peace and Justice Strong Institutions ผ่านการจัดงานแสดงปาฐกถาพิเศษ โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ในหัวข้อ “Building Bridges for Peace and Understanding” ที่จุฬาฯ ในปีที่ผ่านมา

สุดท้ายนี้ ศ.ดร.พิรงรองกล่าวว่า “แม้ว่าการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะมีอุปสรรคสำคัญ คือ “ความไม่รู้” บางคนไม่รู้ว่า SDGs คืออะไร และ “ความไม่ตระหนักในหน้าที่” เพราะทุกคนต่างคิดว่าตนเองมีภาระความรับผิดชอบในชีวิตประจำวันมากพอแล้ว จนไม่ตระหนักว่า เราทุกคนต่างก็มีหน้าที่ “ความรับผิดชอบ” ในการสร้างความยั่งยืนให้โลกด้วย

“หลักการสำคัญของ SDGs คือ การทำงานโดยคิดถึงมนุษยชาติ ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่ง “ใคร” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายแค่คนชายขอบเท่านั้น แต่หมายถึง คนรุ่นหลังของเราด้วย อย่าให้พวกเขาต้องมารับผลกระทบจากการกระทำของคนรุ่นเรา” ศ.ดร.พิรงรอง ทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนทางสังคมกับจุฬาฯ สามารถเข้ามาศึกษาผลงาน SDGs ได้ที่เวบไซต์ www.sustainability.chula.ac.th ซึ่งออกแบบมาให้ผู้ชมสามารถดูได้ใน 3 รูปแบบ คือ

มิติบทบาทหลักของมหาวิทยาลัยในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

sdgthai

มิติ SDGs ต่างๆ

มิติกรณีศึกษา (Case study)

ซึ่งในทุกผลงานที่บรรจุอยู่ในเวบไซต์นี้ล้วนเป็นผลงานที่มหาวิทยาลัยได้สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาทางสังคมอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมแล้วจริงๆ เป็นผลงานเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย วิจัย นวัตกรรม การเรียนการสอน การสร้างความเชื่อมโยงกับสังคมต่างๆ เพื่อต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ ที่จะเชื่อมโยงขยายผลไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้

SDGs 17 เป้าหมาย

การพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมาส่งผลกระทบและความเสียหายต่อทรัพยากรโลกเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ระหว่างปี 2543-2558 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขึ้นใช้เป็นทิศทางการพัฒนาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย

เรื่อง : ศุภวรรณ พิพิธสมบัติ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ SDGs สัญญาแห่งการพัฒนาแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของจุฬาฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook