ชีวิตหลังกำแพง จากชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
เมื่อนึกถึงเรือนจำ หลายคนมักนึกถึงภาพของผู้ต้องขังที่สิ้นหวัง ผู้คุมที่น่ากลัว สภาพคุกที่น่าหดหู่ แต่สิ่งที่นิสิตจากชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ไปประสบด้วยตัวเองจากกิจกรรมจิตอาสาใน “โครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง” คือภาพของนักโทษที่มุ่งมั่นฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อพร้อมจะกลับสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี
“ภาพชีวิตในคุกที่เราได้ซึมซับมาจากสื่อ มักจะให้ภาพที่น่ากลัว มีลักษณะเชิงลบ แต่ในความเป็นจริง ชีวิตหลังกำแพงทัณฑสถานไม่ได้น่ากลัวหรือหดหู่อย่างที่คิด ผู้ต้องขังเองเขาก็ยังต้องใช้ชีวิตเป็นปกติ สิ่งที่เราพยายามให้แก่ผู้ต้องขัง เรียกว่าเป็นความรู้ทางกฎหมาย โดยย่อยมาให้เพื่อให้เขาเข้าใจมากที่สุด แต่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย เพราะเราเป็นเพียงนิสิต ยังไม่มีความสามารถที่จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคดีได้” ศิวกร แก้วชื่น ประธานชมรมฯ กล่าว
ชมรมนิติสังคมปริทรรศน์เพิ่งก้าวเข้าสู่ขวบปีที่สอง มุ่งกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่เปิดให้โอกาสนิสิตได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติวิชากฎหมายนอกห้องเรียน โดยเน้นเรื่องของจิตสำนึกเพื่อประโยชน์สาธารณะ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันของชมรมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งผลักดันมาตรการการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของเรือนจำและทัณฑสถานส่วนมากมักถูกสร้างขึ้นสำหรับผู้ชายเป็นหลักและมักไม่เอื้อต่อความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง การเพิกเฉยต่อความแตกต่างทางเพศและความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงอาจจะทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการบำบัดฟื้นฟูอย่างเท่าเทียม
ศิวกร เล่าว่า “อย่างในปีที่ผ่านมา เราพบว่าผู้ต้องขังเองก็อยากรู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานะทางกฎหมายยังไง มีสิทธิทางกฎหมายอะไรบ้าง เพื่อที่จะช่วยให้การดำเนินการพิจารณาทางกฎหมายของตัวเองเป็นเรื่อง ที่ง่ายขึ้น เราก็จะแนะนำเพียงแค่เรื่องของสิทธิ หน่วยงานและกองทุน ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ นอกจากนี้เราเข้าไปให้คำปรึกษาในลักษณะที่เป็นองค์รวม ไม่เฉพาะแค่ปัญหาในข้อกฎหมายเท่านั้น เช่น ปัญหาในการใช้ชีวิตในเรือนจำ ปัญหาความแออัดและสุขอนามัย”
นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องผ่านการอบรมทุกคนเพราะการเข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องขังจะต้องใช้ความระมัดระวัง เรียนรู้กระบวนการสัมภาษณ์ การปฏิบัติตัว อากัปกิริยา การเลี่ยงคำถามอ่อนไหว โดยมีการเชิญอาจารย์จากคณะจิตวิทยามาช่วยให้คำแนะนำ คณะทำงานสำรวจสถานที่ เตรียมเนื้อหาและข้อมูลที่น่าสนใจเพื่อแนะแนวนิสิตที่ร่วมโครงการ เช่น เรื่องสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา หรือกองทุนยุติธรรมที่ผู้ต้องขังอาจไม่ทราบ
ณิชาภัทร อนันตเสรีวิทยา ประธานของชมรมฯ อีกหนึ่งคน กล่าวว่า “โครงการนี้เปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตจริงๆ ของผู้ต้องขัง ได้เห็นว่าเรือนจำไม่ใช่เฉพาะที่คุมขัง แต่มีบทบาทในการพัฒนาและฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับสู่สังคม เราได้เห็นกระบวนการฝึกหัดอาชีพต่างๆ รวมถึง ควรจะพัฒนาเรือนจำไปในทิศทางใดในอนาคต”
สำหรับในปีนี้ “โครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง” จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม โดย ณิชาภัทร ได้ให้เหตุผลของการเลือก ทัณฑสถาน ใน จ.เพชรบุรี ว่ามีเรือนจำอยู่สองประเภท คือเรือนจำกลางและเรือนจำแบบเปิด ที่มีรูปแบบของการดำเนินงานที่ต่างกัน เพื่อให้นิสิตได้เปรียบเทียบแนวทางการพัฒนาผู้ต้องขังวิธีการลดปัญหาเรื่องความแออัด ข้อดีและข้อเสียของทัณฑสถานแต่ละประเภท เพื่อช่วยวิเคราะห์ในเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาเรือนจำ
โครงการมีความสำคัญต่อตัวการเติบโตและวิชาชีพของนิสิตเอง ชวิศา รัศมีโสรัจ รองประธานชมรมฯ กล่าวว่า “ในอนาคต หลายๆ คน ก็ต้องจบออกไปเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เช่น อัยการ ผู้พิพากษา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่นิสิตแต่ละคนจะได้เรียนรู้ และเกิดการคิดเชิงวิเคราะห์ว่าการที่ใช้กฎหมายในแต่ละครั้ง จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมบ้าง การส่งคนๆ หนึ่งให้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาจะต้องพบกับอะไรบ้าง ทำให้เราต้องคิดให้รอบคอบและระมัดระวังมากขึ้นในการใช้กฎหมายค่ะ”
“โครงการสัมผัสชีวิตหลังกำแพง” ได้รับการคัดเลือกเป็นโครงการ ดีเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2561 แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัลคือประสบการณ์ที่ติดตัวนิสิต สามารถนำความรู้ไปใช้นอกห้องเรียนไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม เรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษด้วยความเสมอภาคแห่งความเป็นมนุษย์ สมดังคำขวัญของคณะที่ว่า “ชำนาญนิติวิชา งามสง่าด้วยคุณธรรม นำไทยในสากล อุทิศตนเพื่อสังคม”
เรื่อง: ชาติสยาม หม่อมแก้ว