พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คืออะไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง? ข้อมูลที่ประชาชนอย่างเราควรรู้
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้เห็นชอบประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้แล้ว โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยเบื้องต้นจะใช้ 14 มาตราในการควบคุมสถานการณ์ ก็มีหลายๆ คนมีความสงสัยว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คืออะไร?
ดังนั้น Sanook Campus เราก็เลยเอาความหมายของคำว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาอธิบายให้เพื่อนๆ ศึกษากันว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คืออะไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง? และผู้ที่ขัดต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะได้รับโทษอะไร
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือ รัฐกำหนด (Emergency Decree) หมายถึง กฎหมายรูปแบบหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญวางไว้ว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้อง ได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระราชกำหนดมีผลใช้บังคับได้ดังพระราชบัญญัติ ดังนั้นพระราชกำหนดจึงแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกพระราชบัญญัติได้
พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คืออะไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง?
- พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อความปลอดภัยของประเทศ
- ข้อห้าม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ม.9)
- ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน
- ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีตนบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร
- ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ
- ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
- ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย
อำนาจเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ม.11)
- มีอำนาจจับกุม ควบคุมบุคคลต้องสงสัย
- มีอำนาจออกคำสั่งให้เรียกบุคคลต้องสงสัยมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่
- มีอำนาจออกคำสั่งยึด อายัดอาวุธ
- มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ทำลาย
- มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบสิ่งพิมพ์ การสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ
- ห้ามมิให้กระทำ หรือให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศและประชาชน
- มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร
- มีอำนาจสั่งการ ให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีเป็นผู้ต้องสงสัย
- การซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ใดๆ ซึ่งอาจใช้ในการก่อการร้าย ต้องได้รับอนุญาตเจ้าหน้าที่
- ออกคำสั่งให้ทหารช่วยเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุร้ายแรง
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ