ทำไมคนไทยต้องให้ความสำคัญกับ Social Distancing
สิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ คือตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงพุ่งไม่หยุด และมีผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คาดการณ์ว่านับจากนี้ไปอีก 1-2 เดือน เราอาจจะได้เห็นภาพที่ไม่อยากจะเห็น นั่นคือภายในวันที่ 15 เม.ย. 2563 ยอดผู้ติดเชื้ออาจจะทะลุหลัก 350,000 คน และเสียชีวิตกว่า 7,000 ราย!
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า หากทุกคนไม่ร่วมมือกัน ยังคงออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมตามปกติ พูดคุยใกล้ชิด ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตัวเลขในอีก 1 เดือนข้างหน้านับจากวันที่รายงานเป็นครั้งแรก (15 มี.ค.2563) ว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อเกิน 100 คน จะเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้นแน่นอน
จากกราฟด้านบน แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศไทยค่อนข้างใกล้เคียงกับเยอรมนี ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ คือ เพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ในทุกวัน ในอนาคตไม่เกิน 1 เดือนจากนี้ ไทยจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่คุมสถานการณ์แพร่ระบาดไม่อยู่ทันที ไม่ต่างจากประเทศในยุโรป
แต่ถ้าสามารถดึงกราฟจาก 33 เปอร์เซ็นต์ ให้ลงมาเหลือไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะลดลงเหลือเพียงหลักหมื่น ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทางการแพทย์ไทยหวังจะทำให้สำเร็จ อย่างน้อยตัวเลขก็ไม่พุ่งไปเท่ากับเยอรมนี
ดังนั้น หากทุกคนให้ความร่วมมือ Lockdown ตัวเองอยู่กับบ้าน ให้ความสำคัญกับ Social Distancing แทนการใช้ชีวิตแบบเดิมที่ยังเจอหน้ากัน พูดคุยกันตามปกติ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 351,948 ราย เหลือเพียง 24,269 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงจาก 7,039 ราย เหลือเพียง 485 ราย
และแน่นอนว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล รวมถึงอยู่ในห้องไอซียูก็จะลดลงตามลำดับด้วย ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกับอิตาลีที่จำนวนผู้ป่วยทะลักเข้ามาเกินกว่าศักยภาพการรองรับของโรงพยาบาล จนต้องเกิด “โรงพยาบาลสนาม” หรือการรักษาพยาบาลนอกพื้นที่โรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ หากทุกคนยังคงละเลยเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม จำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งหมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยจะมากเกินกว่าศักยภาพสาธารณสุขไทยจะรองรับได้ เพราะโรงพยาบาลที่มีอยู่ทั้งหมด 2,681 แห่งในประเทศไทยนั้นมีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ Social Distancing จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าคุมตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ต่อวันได้ ก็จะไม่เกิดภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โดยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ขอความร่วมมือประชาชนในเรื่องเว้นระยะห่างทางสังคมไว้ดังนี้
- เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร
- งด ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น
- ไม่ไปในพื้นที่ที่แออัด
- แยกสำรับอาหาร ไม่ใช่ช้อน ถ้วย ชาม แก้วน้ำ ร่วมกัน
- หากมีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย และพบ แพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง เพื่อลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง
หากไม่อยากให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยไปไกลถึงหลักแสน แค่ทุกคนในชาติให้ความร่วมมือ “อยู่บ้าน” ไม่พาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดูแลตัวเองให้ดี ไม่แสดงความเห็นแก่ตัวจนสร้างความลำบากให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละอยู่โรงพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตทุกคนอยู่ในเวลานี้
…เพียงเท่านี้ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ “หยุดเชื้อ ช่วยชาติ” ได้แล้ว