The Case Club พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สามารถคว้าชัยชนะ AIBC 2019

The Case Club พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สามารถคว้าชัยชนะ AIBC 2019

The Case Club พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สามารถคว้าชัยชนะ AIBC 2019
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 12 ทีมทั่วโลก นิสิตจากหลักสูตรบริหารธุรกิจ (นานาชาติ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจ AIBC Alberta International Business Competition 2019 ที่เมืองแจสเปอร์ รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา เมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้สำเร็จ

กลุ่มนิสิตที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ประกอบด้วย น.ส.ณัฐธยาน์ สิทธิศรัณย์กุล นายภากร ชวนะลิขิกร นิสิตชั้นปีที่ 4 น.ส.อริสรา พรรัตนรักษา และ นายเจษฏจิต จิตร์แจ้ง นิสิตชั้นปีที่ 3 สมาชิกของ ชมรมเคสคลับ (Case Club) ชมรมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อฝึกฝนนิสิตสำหรับการไปแข่งขันแก้ปัญหากรณีศึกษาทางธุรกิจโดยเฉพาะ ซึ่งมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสากลของโลก

638984

สำหรับโจทย์ในการแข่งขันในครั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณีศึกษา กรณีแรก ใช้เวลา 5 ชั่วโมง จะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสัตว์ในอุทยานแห่งชาติจากนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ณัฐธยาน์ เผยว่า “สำหรับกรณีแรก เขาให้โจทย์ออกมาว่าอยากได้แผนในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ที่เป็นในระดับสากล เราก็ไปดูว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศอะไร และมีจุดเชื่อมต่อกับลูกค้า หรือช่องทางการสื่อสารใดบ้างในประเทศของเขา

“เราเสนอให้อุทยานปรับปรุงเนื้อหาในการสื่อสารให้เหมาะสม มีความเป็นมิตรและทรงพลังมากขึ้นในแต่ละสื่อ เพื่อให้เกิดการลงมือทำหรือ call for action สิ่งที่ทำให้เราเอาชนะใจคณะกรรมการได้ก็น่าจะเป็นจุดนี้ เราไม่ได้ทำแค่กลยุทธ์ในการสื่อสารทั่วไปแบบทีมอื่น แต่เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายและมีการเล่าเรื่องที่ดี มีตัวอย่างของหน้าตาของเว็บไซต์และโปสเตอร์อย่างที่ควรจะเป็นให้เห็นภาพได้ชัดเจนค่ะ”

ส่วนกรณีศึกษาที่สอง ใช้เวลา 30 ชั่วโมงแก้ปัญหาของฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากบริษัทที่ทำธุรกิจร้านอาหารแนว Sport Bar ที่ต้องการคัดเลือกพนักงานรุ่นใหม่ตำแหน่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการ

“เรากำหนดขอบเขตเลยว่า ตำแหน่งไหนที่ควรมุ่งไปที่การคัดเลือกคนเข้าทำงาน จากการค้นข้อมูล เราพบว่าบริษัทกำลังอยู่ในช่วงขยายสาขา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคนประจำอยู่ในร้าน คือผู้จัดการร้านและพนักงาน และเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เรายังเสนอให้มีการสร้างแคมเปญเพื่อแข่งขันกันระหว่างผู้จัดการในแต่ละสาขา เช่น การเพิ่มยอดขาย โดยต้องเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้จัดการได้มีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานทั้งหน้าร้านและหลังร้าน ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดกลยุทธ์ โดยมีที่ปรึกษาจากส่วนกลาง มีการให้ความเห็นกันไปมา”

ภากร เสริมว่า นอกจากรางวัลชนะเลิศ และความภาคภูมิใจแล้ว ยังมีเรื่องความเข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นนานาชาติ เช่น การไปดูงานต่างประเทศ ไอเดียที่สดใหม่จากทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน ความเห็นจากคณะกรรมการที่ช่วยให้เรียนรู้การมองปัญหาแบบมืออาชีพในระดับสากล

“การแข่งขันในครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ทำให้เราได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำ เราได้เห็นความสำคัญของการให้ความคิดเห็น การรู้จักวางแผน และการพัฒนาตลอดเวลา รวมถึงประยุกต์ใช้ความเข้าใจเรื่อง เอกลักษณ์ขององค์กรมาตีเป็นโจทย์ และสร้างแผนธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะที่บริษัทอื่นไม่สามารถนำไปลอกเลียนแบบได้ด้วย” ภากร กล่าว

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ คือ รศ.ดร.บุรัชย์ ภัทราโกศล ที่ปรึกษาของชมรม ผู้ก่อตั้งชมรมนี้ขึ้นมา อาจารย์มักจะส่งกรณีศึกษามาให้ทดลองแก้ปัญหากันแบบไม่ทันตั้งตัวบ่อยๆ ชวนรุ่นพี่ที่เคยแข่งขันและมีประสบการณ์จริง กลับมาให้คำแนะนำต่างๆ รวมถึงคณะที่คอยสนับสนุนกิจกรรมของชมรมมาโดยตลอด

“สิ่งที่อยากทำต่อไปก่อนจะเรียนจบก็คือได้ส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังน้องๆ ในชมรม และได้มีส่วนช่วยในการสร้างน้องๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำ อย่างที่เราเคยได้รับโอกาสครับ” ภากร กล่าวทิ้งท้าย

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจ Chulalongkorn International Business Case Competition - CIBCC 2020 โดยมีทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วม ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.cibcc.org และ Facebook : Chulalongkorn International Business Case Competition CIBCC

เรื่อง: ชาติสยาม หม่อมแก้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook