เสพข่าว COVID-19 อย่างมีสติ คำแนะนำจากผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
การระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “COVID-19” สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศร่วมกับองค์การอนามัยโลกต่างเฝ้าระวังและสร้างความตระหนักรู้จากสถานการณ์แพร่ระบาดผ่านข้อมูลข่าวสารต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อการระบาดของโรค ทวีความรุนแรง และข่าวสารเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อและกระบวนการรักษาขยายวงกว้าง ความตื่นตัวก็อาจกลายเป็นความตื่นกลัว ส่งผลให้คนในสังคมวิตกกังวลจนสภาพจิตใจไม่เป็นสุข เกิดกระแสความหวาดกลัวจนนำไปสู่พฤติกรรมการเลือกปฏิบัติต่อและอาจจจะทำร้ายร่างกายคนที่มีลักษณะหน้าตาแบบชาวจีนหรือเอเชียตะวันออก เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นพาหะของโรค COVID-19
อ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ อธิบายว่าเป็นเรื่องปกติเมื่อคนเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่คลุมเครือหรือมีอันตรายก็จะหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหาทางออกให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม หลายคนมักมีอคติในการค้นหาข้อมูล โดยจะหาข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตนเป็นหลัก หรือเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม จึงอาจไม่ได้เปิดรับข้อเท็จจริงรอบด้าน โดยเฉพาะการเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่ส่งต่อๆกันมาทางสื่อโซเชียล ซึ่งอาจไม่ครบถ้วนหรือขาดใจความสำคัญ และไม่มีการตรวจสอบความถูกต้อง
“เมื่อไม่แน่ใจในข่าวสาร เราต้องตั้งคำถามว่าเราได้รับข้อมูลที่รอบด้านหรือเปล่า เราเลือกรับข้อมูลสอดคล้องเฉพาะกับความคิดของเราอย่างเดียวหรือเปล่า เราจะเชื่อได้แค่ไหนกับข้อมูลที่ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ จากเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิดที่เราไว้วางใจ” อ.ดร.หยกฟ้า ตั้งคำถาม
“โดยเฉพาะข่าวสารจากสื่อสังคมและสื่อออนไลน์ ซึ่งมักจะมีผู้นำทางความคิด รวมถึงแอดมินผู้ดูเพจต่างๆ ซึ่งจะคอยบอกข้อมูลที่คนสนใจทำให้มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากเหล่านี้มีอิทธิพลมากต่อความคิดความเชื่อของคนในสังคม ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาได้ หากการให้ข้อมูลที่ใจความสำคัญขาดหายไป แล้วมีการแชร์ส่งต่อจนทำให้เกิดความตื่นตระหนกมากจนเกินเหตุ”
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องของการหลงเชื่อข่าวปลอม ข่าวลวงและข่าวลือ เกี่ยวกับ COVID-19 และความรุนแรงของโรคระบาด อ.ดร.หยกฟ้า กล่าวว่าสาเหตุหลักที่ทำให้คนเชื่อข่าวประเภทนี้เพราะเนื้อหาข่าวสารมีลักษณะกระตุ้นอารมณ์ ทำให้ติดตามและคล้อยตาม โดยเฉพาะข่าวที่สร้างความรู้สึกทางลบ เช่นความกลัว ความโกรธ หรือการรังเกียจ
ในหลายกรณีข่าวปลอมจะไปสอดคล้องกับอคติความเชื่อเดิมของผู้รับสาร ก็จะเกิดการสร้างความจริงเทียม (Illusory truth effect) ในหัวของผู้รับสาร ดังนั้นเมื่อได้ยิน ได้ฟัง ได้เสพข้อมูลเดิมซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือเท็จ ก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริง เช่น เชื่อว่าโรคนี้จะติดจากคนจีน เลยพาลเชื่อไปว่าเฉพาะคนจีนเท่านั้นที่เป็นพาหะนำโรค ทั้งที่ไวรัสนี้จะติดต่อผ่านคนชาติไหนก็ได้
“ธรรมชาติของมนุษย์มักจะระแวดระวังอันตราย เพราะเรามีสัญชาตญาณเอาตัวรอดจากภัยต่างๆ เพื่อป้องกันตัวเอง เมื่อเราใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวในการประมวลข้อมูล เราจะคิดน้อยลง มีโอกาสหลงเชื่อในข่าวปลอมนั้นๆ ดังนั้นต้องระมัดระวังในการตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม และต้องระวังอย่าแชร์ข้อมูลต่อ”
อ.ดร.หยกฟ้า เสนอแนวทางในการรับข้อมูลอย่างไม่ตื่นตระหนก ตรวจสอบแหล่งที่มา คิดวิเคราะห์ พิจารณาความเป็นเหตุเป็นผล หาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง ทำใจให้เป็นกลาง เมื่อรู้สึกเครียดหรือกังวลให้เบี่ยงเบนไปทำอย่างอื่น แล้วค่อยกลับมาหาข้อมูลที่ถูกต้อง ได้รับการตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ในขณะที่แนวทางปฏิบัติเพื่อลดอคติทางเชื้อชาติสามารถทำได้โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เรียนรู้ที่จะเปิดใจพูดคุย ปรับมุมมองจากการมองที่เชื้อชาติหรือชนชาติ ให้ทุกๆ คนเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีคุณค่าเท่ากัน สร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อชนชาติหรือเชื้อชาติโดยปราศจากอคติ และแสดงถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
“หยุดคิด มองหาเหตุผลว่าข่าวสารที่ได้รับถูกต้อง มีเหตุผล เป็นไปได้จริงหรือเปล่า อย่าเอาความกลัวของตัวเราเองไปสร้างอคติเหยียดเพื่อนร่วมโลก” อ.ดร.หยกฟ้า กล่าว
เรื่อง : นิธิกานต์ ปภรภัฒ