รักษ์โลกให้ถูกทาง ด้วยแคมเปญ Waste This Way ที่มีจุดเริ่มต้นจากงานบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์

รักษ์โลกให้ถูกทาง ด้วยแคมเปญ Waste This Way ที่มีจุดเริ่มต้นจากงานบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์

รักษ์โลกให้ถูกทาง ด้วยแคมเปญ Waste This Way ที่มีจุดเริ่มต้นจากงานบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อสังคมมีปัญหาเรื่องขยะล้น ชาวจุฬาฯ จึงไม่นิ่งเฉย มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยแคมเปญ “Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง” เริ่มต้นที่งานกีฬาฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ปัญหาขยะมีสาเหตุมาจากผู้ผลิตที่ใช้วัสดุที่ไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ ระบบการจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือนิสัยการบริโภคที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง ดังนั้นประชาคมจุฬาฯในฐานะผู้บริโภคจะสามารถช่วยจัดการขยะในมือและในเมืองเราได้อย่างไร  ปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงริเริ่มลงมือ “เปลี่ยน ปรับ ขยับ (สังคม)” ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เพื่อสร้างความรู้สึกรับผิดชอบกับสังคมโลกกันมากขึ้น

logo-waste

แคมเปญ “Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง” เป็นกลยุทธ์ที่จะพัฒนาโมเดลการจัดการขยะสำหรับงานอีเวนต์ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี มีประสิทธิผลให้กับผู้เข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณี เริ่มจากการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน (Circular Living) เพื่อทำให้ขยะที่เกิดจากงานนี้ผ่านกระบวนการจัดการที่ครบวงจรผ่านแนวคิดหลัก “ลด เปลี่ยน แยก”

untitled-1

การจัดการขยะด้วยวิธี “ลด” : เหตุผลที่เลือกวิธีการ “ลด” ใช้ หรือ ใช้ซ้ำ (Reduce) เป็นขั้นตอนแรกของการจัดการขยะที่ทุกคนควรคิดถึง เพราะว่าเป็นวิธีที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตวัสดุ ไปจนถึงพลังงานที่ใช้เพื่อการจัดการขยะในตอนท้าย ซึ่งผลลัพธ์ของการ “ลด” ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งนี้ คือการรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการพกแก้วหรือขวดน้ำส่วนตัว ดังนั้นจึงสามารถลดขยะจากภาชนะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use) มากถึง 2,487 ใบ

untitled-3

การจัดการขยะด้วยวิธี “เปลี่ยน” : ถ้าหากว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการลดใช้วัสดุต่างๆ ได้ ขั้นตอนถัดไปที่เราควรนึกถึง คือการ “เปลี่ยน” มาใช้วัสดุทางเลือก ที่สามารถย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ซ้ำได้ง่าย ซึ่งการ “เปลี่ยน” ในงานนี้ จะเน้นการจัดการขยะภายในสนามเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่ ขบวนพาเหรด ที่นำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ ด้วยการลดอุปกรณ์ตกแต่งที่ไม่จำเป็น และเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขึ้นโครงด้วยไม้มือสอง หรือการใช้กระดาษลังตกแต่งพาเหรดแทนโฟม เพื่อลดขยะที่อาจก่อมลพิษให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนี้บนสแตนด์แปรอักษร ยังแจกอาหารกลางวันและอาหารว่างที่บรรจุด้วยกล่องเคลือบพลาสติกชีวภาพ (Bio-compostable) ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 8,800 กล่อง รวมถึงถุงสำหรับใส่อุปกรณ์ยังชีพบนสแตนด์ 5,700 ใบ และเสื้อของสตาฟในงานอีก 3,700 ตัว ก็เปลี่ยนมาเป็นรุ่นที่ผลิตจากเส้นใยของขวดพลาสติกด้วยกระบวนการ Up-cycle ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะจากขวดพลาสติกได้มากถึง 90,000 ใบ

untitled-2

ผลลัพธ์ของการ “แยก” : ขยะที่เกิดขึ้นภายในงานเกือบทุกส่วน ถูกแยกอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่โดยรอบของสนามที่มีการกระจายถังแยกขยะ ด้วยระบบ “เท ทิ้ง เท ทิ้ง” เพื่อแยกน้ำ เศษอาหาร และขยะปนเปื้อน ออกจากขยะแห้งหรือขยะที่นำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ รวมถึงในพาเหรดและสแตนด์แปรอักษร ก็ใช้ระบบแยกที่สามารถสร้างปลายทางของขยะอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน ผลลัพธ์ของการแยกขยะได้มากถึง 4,995 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ

ขยะที่แยกทั้งหมดจะถูกจัดการต่อตามประเภทของวัสดุและวิธีใช้งาน เช่น การส่งโครงไม้ให้หน่วยงานที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ การเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปขวดพลาสติก ผ้า หรือไวนิล เป็นรองเท้าและกระเป๋าใบใหม่ เพื่อบริจาคให้กับน้องๆ ที่ขาดแคลน การส่งขายขยะรีไซเคิลเพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการแปรรูปขยะแห้งเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานผลิตพลังงาน

untitled-4

วิธีการจัดการขยะแบบ “ลด เปลี่ยน แยก” ไม่เพียงแต่จะสะท้อนความสำเร็จของกิจกรรม แต่สร้างแนวปฎิบัติที่เน้นความร่วมมือของนิสิต-นักศึกษาจากสองสถาบัน รวมถึงการบูรณาการและร่วมมือกับองค์กรต่างๆ อาทิ โครงการ Chula Zero Waste, องค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.), สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.), บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC), และบริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง ซึ่งเป็นนิสิตเก่าของจุฬาฯ ต่างก็เน้นถึงหัวใจสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อทำให้โลกของพวกเราน่าอยู่มากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook