เปิดศัพท์ดู! ความหมายชื่อญี่ปุ่นของ 9 ขนมขบเคี้ยวที่คนไทยคุ้นเคย
ไม่ว่าจะเป็น “ฮานามิ ข้าวเกรียบรวยเพื่อน” “ปลาสวรรค์ทาโร” หรือ “โดโซะ” ในบรรดาขนมขบเคี้ยวที่คนไทยคุ้นเคยกันมาแต่เด็กจนโตนี้มีหลายยี่ห้อที่ใช้คำภาษาญี่ปุ่นมาเป็นชื่อของขนม แต่คำญี่ปุ่นเหล่านั้นมีความหมายว่าอะไรบ้าง? วันนี้เรามาเปิดศัพท์ดูความหมายชื่อภาษาญี่ปุ่นของขนมที่คนไทยคุ้นเคยกัน!
1. ฮานามิ (花見)
“ฮานามิ” เป็นกิจกรรมชมดอกไม้ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะกิจกรรมชมซากุระและสนุกกับการละเล่น ที่มักจะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งหนึ่งในขนมขบเคี้ยวที่คนญี่ปุ่นนิยมนำไปรับประทานระหว่างชมดอกไม้คือขนมเซ็มเบ้ (ข้าวเกรียบ) นั่นเอง
2. ทาโร (太郎・太朗・多郎 ฯลฯ)
ชื่อผู้ชายของคนญี่ปุ่น สามารถใช้เป็นชื่อ “ทาโร” เดี่ยวๆ หรือจะใช้ลงท้ายชื่อเช่น “เคนทาโร” “โคทาโร” “จูทาโร” ก็ได้เช่นกัน ความหมายของชื่อแตกต่างไปตามคันจิที่ใช้ แต่โดยดั้งเดิมแล้วมีความหมายว่า “ลูกชายคนโต”
3. โดโซะ (どうぞ)
โดโซะ เป็นคำพูดสำหรับแสดงความรู้สึกได้หลายแบบ ทั้งความรู้สึกอยากขอร้องอีกฝ่ายอย่างสุภาพ ความรู้สึกอยากให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นจริง และการแสดงการแนะนำ รับรู้ หรือให้อนุญาตกับอีกฝ่ายอย่างสุภาพ เช่นเวลายื่นขนมให้เพื่อนพร้อมชวนให้กินขนมด้วยกัน คำที่ได้ยินบ่อยคือ “โดโซะ”
4. ชินมัย (新米)
ความหมายตรงตัวของชินมัยคือ “ข้าวใหม่” ซึ่งสามารถสื่อได้ถึงสินค้าแบรนด์นี้ที่เป็นขนมอบจากข้าว ในขณะเดียวกัน คำว่าชินมัยที่เขียนด้วยคันจิตัวเดียวกันนี้ยังหมายความได้ถึง “ผู้มาใหม่” ได้อีกด้วย
5. เบนโตะ (弁当)
เบนโตะเป็นคำที่คนไทยรู้จักกันดีในฐานะข้าวกล่องญี่ปุ่น ซึ่งมาทั้งในรูปแบบของข้าวกล่องสุดหรูตามร้านอาหาร หรือข้าวกล่องน่ารักๆ ที่คุณแม่ชาวญี่ปุ่นทำให้ลูกๆ ได้นำไปโรงเรียนกัน
สำหรับขนมหมึกยี่ห้อเบนโตะนี้ อาจจะสื่อความหมายได้ว่าสามารถนำหมึกรสจัดจ้านไปรับประทานกับข้าวแทนข้าวกล่องก็เป็นได้
6. อาริงาโต (ありがとう)
อีกคำที่คนไทยรู้จักดี โดยเป็นคำกล่าว “ขอบคุณ” ของคนญี่ปุ่น ซึ่งมีรูปคำเดิมคือ “อาริงาไต (有り難い)”
ถ้าดูความหมายจากคันจิแล้วอาจจะแปลตรงตัวได้ว่า “เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก” และเพราะเกิดขึ้นได้ยากนี่เอง เมื่อมีเพื่อนหยิบยื่นขนมอร่อยๆ มาให้ เราจึงกล่าว “ขอบคุณ / อาริงาโต”
7. คัทโตะ (カット)
คัทโตะ ณ ที่นี้มาจากการออกเสียงคำว่า “Cut” ในภาษาอังกฤษของคนญี่ปุ่น ซึ่งออกเสียงว่าคัทโตะนั่นเอง ชื่อนี้อาจหมายถึงหน้าตาของขนมข้าวอบกรอบที่ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมนี่เอง
8. อาโทริ (アトリ・花鶏)
อาโทริเป็นชื่อเรียกนกจาบปีกอ่อนอกสีส้ม (Brambling) นกที่พบได้ทั่วไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นที่มาของมาสคอตนกตัวเล็กๆ อวบๆ บนแพ๊คเกจขนมขาไก่ยี่ห้อนั่นเอง
9. คาราด้า (体)
คาราด้า หรือจริงๆ คือคาราดะ หมายถึง “ร่างกาย / สุขภาพ” สามารถเขียนได้ด้วยคันจิหลายแบบ ทั้ง “体” “身体” และ “躰” ที่มีความหมายเดียวกัน
พอได้ย้อนกลับมาดูชื่อขนมภาษาญี่ปุ่นที่เรารู้จักแบบนี้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจริงๆ แล้วเราคุ้นเคยกับคำภาษาญี่ปุ่นเหล่านี้มานานโดยที่บางครั้งเราก็ไม่ได้รู้ตัวเลย ครั้งต่อไปที่เราหยิบขนมขบเคี้ยวเหล่านี้ขึ้นมากิน นอกจากความอร่อยที่มากับขนม เราคงจะพลอยนึกถึงความหมายของคำภาษาญี่ปุ่นที่พ่วงมากับความอร่อยนั้นๆ ด้วย