5 ข้อต้องจำ เขียน “เรซูเม่” ยังไงให้ได้ไปต่อ
อย่างที่ทราบกันดีว่างานสมัยนี้ไม่ได้หากันได้ง่าย ๆ ถ้าคุณไม่โดดเด่นพอ อย่าหวังเลยที่จะได้งาน ดังนั้น การเตรียมตัวสมัครงานจึงสำคัญมาก เพราะหากเริ่มต้นดี โอกาสประสบความสำเร็จก็มีมาก ซึ่งหนึ่งในการเตรียมตัวที่จำเป็นก็คือ “การเขียนเรซูเม่”
เรซูเม่ (Resume) คือ ประวัติย่อของผู้สมัครงาน เป็นเครื่องมือที่เราใช้เพื่อนำเสนอตัวเอง ดังนั้น เรซูเม่ที่ดีจะต้องน่าสนใจ สร้างความประทับใจ และดึงดูดฝ่ายบุคคลให้หยิบขึ้นมาพิจารณาให้ได้ ซึ่งต้องคำนึงถึงหลัก 5 ข้อต่อไปนี้
1. ข้อมูลสำคัญต้องครบ
เพราะเรซูเม่เป็นกระดาษแผ่นเดียว จึงจำเป็นต้องเลือกสรรเฉพาะข้อมูลที่สำคัญเท่านั้นมาใส่ เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทรู้จักเราให้มากที่สุดอย่างครบถ้วน ง่าย ๆ ให้ลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นฝ่ายบุคคลหรือ HR บริษัทนั้น ๆ ดู ว่าถ้าจะหาพนักงานใหม่ ข้อมูลอะไรที่จำเป็นที่เราอยากรู้ ถ้ามีครบ ก็เตรียมเข้าสู่ด่านต่อไปได้เลย
2. เรียงลำดับความสำคัญ
เรซูเม่เป็นประวัติส่วนตัวแบบย่อ ต้องเรียงลำดับความสำคัญของข้อมูลให้ดี ๆ เพื่อการพิจารณาอย่างรวดเร็วของ HR ต้องเอาข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุดขึ้นก่อนเสมอ ซึ่งควรจะเริ่มต้นจาก
- ข้อมูลติดต่อกลับ เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะหากบริษัทสนใจเราขึ้นมาแต่หาที่เบอร์ติดต่อนัดสัมภาษณ์งานไม่ได้ กระดาษแผ่นนี้จะกลายเป็นขยะทันที ฉะนั้น ต้องระบุชื่อ-นามสกุล อีเมล ที่อยู่ปัจจุบัน และเบอร์ติดต่อกลับให้ครบถ้วนชัดเจน ที่สำคัญ หลายคนตกม้าตายตรงชื่ออีเมล ซึ่งต้องตั้งให้สุภาพ เหมาะกับการทำงาน และดูเป็นมืออาชีพ
- ประวัติส่วนตัว เลือกเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อตำแหน่งงานเท่านั้น และอย่าเขียนเรื่องที่ส่งผลลบต่อตัวเอง
- ข้อมูลการศึกษา เรียงลำดับการศึกษาจากวุฒิล่าสุดเป็นอันดับแรก และใส่ข้อมูลที่มีผลต่อการพิจารณาให้ครบถ้วน เช่น สาขาที่เรียน ผลการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะบอกถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น การอบรมพิเศษที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร เป็นต้น
- ความสามารถทางคอมพิวเตอร์และภาษา ปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นส่วนใหญ่ ทักษะการใช้โปรแกรมพื้นฐานจึงสำคัญ ยิ่งถ้าสามารถใช้โปรแกรมเฉพาะทางได้ด้วยก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ รวมถึงทักษะทางภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เราเป็นต่อคนอื่น
- ความสามารถพิเศษและงานอดิเรก ให้เลือกใส่สิ่งที่ตรงกับตำแหน่งงานที่สุดก่อน เพราะบริษัทจะพิจารณาว่าเรามีความสามารถอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทได้บ้าง ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ สามารถใส่ได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้ต้องไม่เขียนเกินจริง
- ประสบการณ์การทำงาน เคยทำงานที่ไหนมาบ้าง ตำแหน่งอะไร ระยะเวลาที่ทำแต่ละแห่ง และหน้าที่ความรับผิดชอบ เป็นข้อมูลที่ต้องไม่ละเลย แต่หากเปลี่ยนงานบ่อย ไม่จำเป็นต้องเขียนทั้งหมด เพราะอาจทำให้ดูเป็นคนจับจดได้ ควรเลือกเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งจะดีกว่า
- ความสำเร็จที่ผ่านมา ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร เช่น รางวัลที่เคยได้รับสมัยเรียน รางวัลพนักงานดีเด่นด้านต่าง ๆ จากที่ทำงานเก่า การประกวด แข่งขันต่าง ๆ ที่จะแสดงให้เห็นข้อดีของเราที่ทำประโยชน์ให้บริษัทได้
- บุคคลอ้างอิง ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรซูเม่ของเรา ควรเลือกบุคคลที่รู้จักเราดี และมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ควรแจ้งบุคคลนั้น ๆ ให้ทราบก่อนล่วงหน้าว่าจะใช้ชื่อและข้อมูลติดต่อของเขาในการอ้างอิงเพื่อสมัครงาน
3. สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
ต้องระลึกไว้เสมอว่าตำแหน่งว่างในบริษัทมีไม่มาก แต่ในขณะเดียวกัน มีคนส่งเรซูเม่มาช่วงชิงพื้นที่เป็นสิบเป็นร้อยคน ฉะนั้น HR ไม่มีเวลาว่างมากพอมานั่งอ่านประวัติเราอย่างละเอียดอยู่แล้ว แต่จะใช้วิธีกวาดสายตา จึงควรเขียนเป็นข้อ ๆ มากกว่าการเขียนบรรยาย เพราะจะอ่านได้ง่ายกว่า และเรซูเม่ที่ดีไม่ควรยาวเกิน 1 แผ่น A4 (หน้า-หลัง)
4. เป้าหมายการทำงานต้องมี
ไม่จำเป็นต้องเขียนยาวแต่จำเป็นต้องมี เพื่อบอกถึงเป้าหมายในการทำงานหรือเป้าหมายในชีวิต ซึ่งส่วนนี้จะเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้สมัครมากขึ้น ทำให้ดูเป็นมืออาชีพ มีความพร้อมในการเริ่มงาน และมีเป้าหมายความสำเร็จ รวมถึงยังมีผลต่อการพิจารณาตำแหน่งงานและระดับเงินเดือนด้วย
5. รูปแบบชัดเจน สวยงาม
บางองค์กร หรือบางตำแหน่งจำเป็นต้องออกแบบเรซูเม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าเป็นตำแหน่งทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้ต้องการความครีเอทขนาดนั้น ก็อาจจะเน้นรูปแบบที่ดูเรียบง่าย สุภาพ จัดหน้าให้อ่านง่าย ใส่ใจเรื่องการจัดวางข้อความ ใช้ฟอนต์ที่เป็นทางการ และขนาดตัวหนังสือไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป