COVID-19 จะจบเมื่อไหร่ ให้ข้อมูลเชิงสถิติทำนายกัน!
แม้ว่าทุกคนคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในช่วงนี้กันแล้ว แต่ในใจก็คงอยากรู้ว่าเมื่อไหร่ COVID-19 จะจบและหมดไปจากโลกใบนี้เสียที ซึ่งเรื่องนี้คงไม่มีใครสามารถฟันธงได้ชัดเจนว่า การแพร่ระบาดของโรคนี้จะยุติลง และกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้ในวันใด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเชิงสถิติที่สถาบัน DDI (Data Driven Innovation Laboratory) ของสิงคโปร์ ได้ประเมินและคาดการณ์ไว้ ก็พอช่วยให้เห็นภาพกว้าง ๆ ได้พอสมควรว่าสถานการณ์ของโลกและประเทศต่าง ๆ จะคลี่คลายลงเมื่อใด
ทั้งนี้ สถิติดังกล่าวเป็นการคาดการณ์โดยอ้างอิงจากข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 จากนั้นนำมาทำโมเดล SIR (susceptible-infected-recovered) หรือแบบจำลองการแพร่กระจายของเชื้อโรคในแต่ละประเทศ เพื่อทำนายว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศต่าง ๆ จะสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยอัปเดตข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 28 เม.ย.2563
จากข้อมูลดังกล่าว DDI ประเมินไว้ 3 แบบ คือยุติการระบาด 97 เปอร์เซ็นต์, 99 เปอร์เซ็นต์ และ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดการณ์ว่า COVID-19 จะหมดจากทั่วโลกไปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 1 ธ.ค.2563 หรืออีก 5 เดือนข้างหน้า แต่ในวันที่ 30 พ.ค. สถานการณ์จะคลี่คลายลง 97 เปอร์เซ็นต์ และในวันที่ 16 มิ.ย. จะคลี่คลายลง 99 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ประเทศไทยจะยุติการระบาด 97 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 26 เม.ย.2563, 99 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 7 พ.ค. และหมดไปจากประเทศแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 11 มิ.ย.63
หากดูประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก และเป็นประเทศยอดฮิตที่คนไทยชอบไปเที่ยวกัน พบว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก จะมีสถานการณ์ที่คลี่คลายแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 9 ก.ย.2563 ขณะที่สเปน (3 ส.ค.), อิตาลี (31 ส.ค.), ฝรั่งเศส (8 ส.ค.)เยอรมนี (5 ส.ค.), อังกฤษ (20 ส.ค.) มีการคาดการณ์ว่าจะยุติการระบาดในช่วงเดือนสิงหาคม
ส่วนประเทศท่องเที่ยวสุดฮิตของคนไทยในแถบเอเชียนั้น พบว่า COVID-19 จะหมดไปจากญี่ปุ่นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ วันที่ 10 ก.ค. ส่วนเกาหลีใต้นั้นพ้นจากช่วงระบาดมาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจีนที่ข้อมูลระบุว่าไม่มีการระบาดในประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.
ขณะที่เวียดนาม และไต้หวัน จะยุติการระบาดในวันที่ 3 พ.ค. และ 24 พ.ค.ตามลำดับ ปิดท้ายที่อินเดียที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวไทย ต้องรอกันนานถึงวันที่ 2 ส.ค. กว่าที่ COVID-19 จะหมดไป
อย่างไรก็ตาม DDI ระบุว่าแบบจำลองและข้อมูลดังกล่าวอาจยังมีข้อผิดพลาด อันเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความซับซ้อน, วิวัฒนาการของโรค รวมถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและวิจัยเท่านั้น จึงไม่ใช่การฟันธงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าการยุติของ COVID-19 ของประเทศต่าง ๆ จะเกิดขึ้นจริงตามที่คาดการณ์
หากประเทศใดชะล่าใจเกินไป และกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติอีกครั้ง ก็อาจทำให้เกิดการตีกลับจนกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ก็เป็นได้!