“นิยายวาย” ค่านิยมเรื่องเพศที่ไปไม่สุด
ในช่วงประมาณ 10 ปีหลังมานี้ จะสังเกตได้ว่า “วัฒนธรรมวาย” ในสังคมไทยถูกนำเสนออย่างเปิดกว้างมากขึ้น จากที่สื่อสารแค่เฉพาะกลุ่มคนที่ชอบเสพแบบเดียวกัน เริ่มมีการนำเสนอผ่านสื่อภาพยนตร์ หนังสือนิยาย จนปัจจุบันเข้ามาสู่สื่อโทรทัศน์ ถูกนำมาสร้างเป็นละคร ซีรีส์ แล้วก็ได้รับความนิยมไปในทางบวกอย่างไม่น่าเชื่อ โด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นิยายวายเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ย่อมาจาก “ยะโออิ (Yaoi)” มีความหมายว่า “ชายรักชาย” และ “ยูริ (Yuri)” มีความหมายว่า “หญิงรักหญิง” ดังนั้นการนำเสนอเรื่องราวจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายแบบนิยายทั่วไป แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่มีเพศสภาพเดียวกัน
นิยายวายจึงเป็นสื่อกลางให้สังคมได้ทำความเข้าใจบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ ชัดเจนขึ้น ผ่านทัศนคติ และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร สร้างภาพลักษณ์ตัวตนของคนกลุ่ม LGBTQ เพื่อชี้นำสังคมให้เข้าถึงว่าพวกเขาไม่ใช่คนผิดปกติหรือแปลกประหลาด แต่เป็นคนปกติเหมือนกับชายหญิงทั่วไป แค่รักคนเพศเดียวกันเท่านั้น
นิยายวายยังสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีทัศนคติทางเพศที่เปลี่ยนไปแล้ว โดยเปิดกว้างและยอมรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทุกคนมีเสรีภาพทางความรักแบบไม่จำกัดเพศ ไม่ว่าจะต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็เป็นไปได้ แม้ว่ายังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ
ไม่เปิดใจ มากถึงขั้นรังเกียจ
“Homophobia” คือ คนที่เกลียดชังและกลัวกลุ่มคนรักร่วมเพศ จึงเลือกปฏิบัติกับคนเหล่านี้อย่างไม่มีเหตุผล ด้วยการใช้คำพูดเหยียดหยามและการกระทำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เช่น อีตุ๊ด แต๋วแตก อีแอบ ฉิ่งฉาบ รวมถึงใช้มุกตลกเกี่ยวกับเพศ อีกทั้งยังมองกลุ่มคนเหล่านี้เป็นเพียงตัวตลกในสังคม และพยายามกีดกันคนกลุ่มนี้ออกจากสังคม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด และเพิ่งมีดราม่าเล็ก ๆ ในโซเชียลมีเดียไปเมื่อไม่นานมานี้ คือ ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์การคัดเลือกนักแสดงนำซีรีส์วายเรื่องหนึ่งที่ไม่ยอมรับนักแสดงที่เป็น LGBTQ จริง ๆ แต่เลือกชายจริงหญิงแท้มารับบทเป็นคนกลุ่มนี้ แล้วเอาคนกลุ่มนี้ไปเป็นตัวประกอบ หรือให้อยู่ในฐานะตัวตลกแทน
ส่วนใหญ่ที่โดนหนักหนีไม่พ้นคนในวงการบันเทิงหรือคนที่มีชื่อเสียง หากใครมีรสนิยมรักเพศเดียวกัน ก็มักจะถูกเขียนข่าวในลักษณะที่คล้ายกับคน ๆ นั้นทำในสิ่งที่ผิด แล้วเอามาแฉให้โลกรู้ว่าคนนี้มีรสนิยมที่ผิดแปลกจากคนทั่วไป รวมถึงนำมานินทาในทำนอง “เสียดาย”, “สวยขนาดนี้ หล่อขนาดนี้…ไม่น่าเป็นเลย” ล่าสุด มีคอมเมนต์จากชาวเน็ตพูดถึงคนในข่าวว่า “ถึงจะหล่อแค่ไหน แต่ถ้าชอบไม้ป่าเดียวกัน ยังไงก็ไม่ปลื้ม” ทั้งที่ควรจะก้าวข้ามการแบ่งแยกเพศและเคารพในความเป็นมนุษย์ของเขาได้แล้ว
ในทางตรงกันข้าม นักแสดงที่เป็นชายจริงหญิงแท้ที่โด่งดังจากซีรีส์วายจนมีกระแส “คู่จิ้น” กับนักแสดงที่เล่นคู่กัน กลับมีคนกลุ่มหนึ่งสนับสนุนอยากให้พวกเขา “เป็น” ขึ้นมาจริง ๆ และเชียร์ให้คบหากันด้วย โดยหาได้น้อยมากที่จะแสดงความเห็นในเชิงลบ ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกพูดถึงในวงจำกัดของคนที่ชอบเสพก็เป็นไปได้
จะรักกันยังต้องพิสูจน์ตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันจึงต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น ด้วยเงื่อนไขที่ตัวเองและคนที่คบหาอยู่ต้องมีมาตรฐานสูงด้วยกันทั้งคู่ เช่น หล่อ รวย เก่ง ถึงจะได้รับการยอมรับ และเป็นที่ชื่นชมของสังคม ในขณะที่คู่ชายหญิงไม่เห็นจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยมาตรฐานที่สูงขนาดนี้ จึงทำให้ความรักของคนเพศเดียวกันมักไม่ค่อยสมหวังหรือสมบูรณ์แบบ
ขณะเดียวกัน นิยายวายกลับยังยัดค่านิยม “เบลอเพศ” ตัวละคร ผูกเรื่องว่าเป็นความสัมพันธ์ของคน 2 คน ที่รักกันโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ แต่อยู่ในขนบว่า “จริง ๆ ไม่ได้เป็นเกย์ แค่บังเอิญรักผู้ชายคนนี้เท่านั้น (ถ้าไม่ใช่คนนี้ก็จะไม่รัก)” หรือ “เราไม่ใช่เกย์ เลสเบี้ยน เราแค่ตกหลุมรักคน ๆ นี้” ทำให้เห็นว่า แม้ซีรีส์วายจะนำเสนอได้โดยไม่ต้องปิดซ่อนอีกต่อไป แต่ตัวละครก็ยังปฏิเสธความเป็น LGBTQ อยู่ดี ทั้งที่ควรจะพูดออกมาได้เต็มปากแล้วตนเองมีรสนิยมทางเพศแบบไหน โดยไม่ถูกสังคมรังเกียจ และยังได้รับความเคารพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเหมือนคนอื่น ๆ
เมื่อการเปิดใจยอมรับคนที่เป็น LGBTQ ยังไปไม่สุด เพราะคนที่เป็นแบบเดียวกันยังดูถูกกันเอง การมองคนที่ยังไม่เปิดเผยว่า “แอ๊บ” หรือคิดว่า “ฉันก็เป็น ยังไม่เห็นมีปัญหา” ก็ไม่แปลกที่จะมีคนอื่นยังไม่เปิดใจ