"เลิกเกรียน เลิกติ่ง" ทำได้จริงหรือแค่มโน?
มั่นใจได้เลยว่า แทบทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนในบ้านเราจะต้องเคยเจอกับกฎระเบียบที่เข้มงวดเรื่อง “ทรงผม” แน่นอน กับกฎ “ชายเกรียน หญิงติ่ง” หลายคนอาจถึงขั้นเคยโดนลงโทษมาแล้ว แต่วันนี้ดูเหมือนกฎระเบียบดังกล่าวเริ่มมีการผ่อนปรนกันแล้ว เมื่อกระทรวงศึกษาออกระเบียบกระทรวงฯ อนุญาตให้เด็กไทย “เลิกติ่ง เลิกเกรียน” กันได้เสียที
โดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 กำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติในการไว้ทรงผมของนักเรียน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติตนของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ระเบียบใหม่ “ทรงนักเรียน”
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ “นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย” จากที่แต่ก่อนถูกบังคับให้ตัดทรงนักเรียนเกรียนเป็นลานบิน หรืออนุโลมเป็นรองทรงสูงเท่านั้น
ส่วนนักเรียนหญิง “จะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย” ซึ่งหากเป็นผมยาวก็คงไม่พ้นจากที่เคยอนุญาตไปก่อนหน้านี้ คือต้องรวบเป็นหางม้าหรือถักเปีย และมีริบบิ้นแสดงระดับชั้นการศึกษาเท่านั้น จากที่ก่อนหน้าต้องตัดสั้นเสมอติ่งหู บางโรงเรียนเลยขึ้นไปครึ่งหูด้วยซ้ำ
แต่กฎใหม่นี้ก็ไม่ถือว่าให้อิสระเสียทีเดียว ยังคงมีข้อห้าม “ห้ามดัด ห้ามย้อม ห้ามไว้หนวดเครา และห้ามทำสิ่งอื่นใดที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นนักเรียน” สรุปง่าย ๆ ก็คือ อนุญาตให้ไว้ยาวได้อย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระทรวงฯ จะมีกฎใหม่ ผู้หญิงไม่ต้องตัดสั้นติ่งหู และผู้ชายไม่ต้องเกรียน ก็มาพร้อมกับช่องโหว่ “ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถานศึกษา” อยู่ดี จึงเกิดคำถามว่า ในท้ายที่สุดอนุญาตยังไง? ถ้าโรงเรียนไม่อนุญาต ก็ต้องกลับไปเกรียนไปติ่งอยู่ดีใช่หรือไม่?
จุดกำเนิดทรงผมนักเรียน
สำหรับจุดกำเนิดของเรื่องทรงผมนักเรียนนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวถึงโดยบทความของ อ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2550 ว่าจอมพล ป. รับต้นแบบทรงผมและเครื่องแบบมาจากเครื่องแบบของทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่ไทย สาเหตุที่ต้องเลียนแบบก็เนื่องมาจากมี “เหา” ระบาด การตัดผมให้สั้นไว้ทำให้รักษาความสะอาดได้ง่ายกว่า จึงมีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 ออกมา แต่เนื้อหาเน้นไปที่ “เสื้อผ้า” มากกว่า “ทรงผม”
มาจนถึงช่วงที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำรัฐประหารตนเอง มีประกาศของคณะปฏิวัติ ในปีพ.ศ. 2515 เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนในการบังคับให้นักเรียน นักศึกษาต้องทำตัวตามกฎระเบียบ โดยอ้างถึงการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ศิษย์ที่ดีของครู ฉะนั้นต้องเชื่อฟังคำสั่งสอน ต้องอยู่ในโอวาท ระเบียบประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง จึงต้องส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ มารยาท และการแต่งกายให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน
ข้อบังคับจำกัดเสรีภาพ
ตั้งแต่นั้นมา “ทรงผม” จึงกลายเป็นระเบียบวินัยที่ผู้ใหญ่โฟกัสมากเป็นพิเศษ มากกว่าการศึกษาของเด็กด้วยซ้ำไป แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้ถูกมองว่าการมีข้อบังคับเรื่องทรงผมดูเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินไป เพราะถูกคิดแทนแล้วว่าต้องไว้ผมทรงไหน แทนที่เด็กจะได้ไว้ทรงผมแบบที่ต้องการ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรสามารถตัดสินใจได้เองเกี่ยวกับทรงผมของตนเอง
ขณะที่การให้เหตุผลว่าเด็กไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงามอะไรในตอนนี้ รวมถึงผูกโยงไปถึงสติปัญญาด้วยนั้น ก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านตามมา เพราะการไว้ผมยาว การทำสีผม การไว้หนวดไม่ได้มีผลต่อคะแนนการเรียน แต่หากเด็กไม่ทำตามก็จะมีการลงโทษทางวินัย ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีข่าวว่าคุณครูบางคนกล้อนผมทั้งนักเรียนหญิงและชาย ซึ่งนอกจากเป็นการประจานที่ทำให้เด็กอับอายแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดด้วย
เมื่อเรื่องเล็ก ๆ อย่างทรงผมกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีระเบียบวินัยที่นักเรียนต้องเชื่อฟังหรืออยู่ในโอวาท จึงทำให้เกิดการต่อต้านตามมา แม้ว่ากฎระเบียบที่ออกมาใหม่นั้นดูเหมือนให้สิทธิเสรีภาพแก่เด็กมากขึ้น แต่ก็ยังมีเสียงแตกตามมาเช่นกันว่าสุดท้ายแล้วจะทำได้จริงหรือแค่มโน เพราะสถาบันการศึกษายังคงมีสิทธิ์ขาดในการกำหนดระเบียบอยู่ดีว่าจะทำตามหรือไม่