เข้าใจ “ช่องว่างระหว่างวัย” เมื่อ Gen-Y กับ Gen-Z ต้องร่วมงานกัน
สังคมการทำงาน มีคนหลายวัยที่ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งวัยที่แตกต่างกันมีส่วนก่อให้เกิดความขัดแย้งได้บ่อยครั้ง จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะ “ความแตกต่างของช่วงวัย” ทั้งเรื่องทัศนคติ พฤติกรรม ความเชื่อ การตัดสินใจ รวมถึงวิธีการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกันก็แตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของช่วงวัย ก็มีข้อดีตรงที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดไอเดียใหม่ ๆ จากเห็นที่ต่างกันของคนต่างวัยนั่นเอง
อย่างคน Gen-Y และ Gen-Z แม้จะไม่ได้มีอายุห่างกันมาก แต่ลักษณะการเติบโตของทั้ง 2 ช่วงวัยแตกต่างกันอย่างชัดเจน การมองโลกของคน 2 วัยนี้ก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งการจะทำงานร่วมกันให้ได้ก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 2 ช่วงอายุนี้ มีอะไรที่ไม่เหมือนกัน
Gen-Y คนรุ่นใหม่วัยทำงาน
Gen-Y คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญขององค์กร คนกลุ่มนี้มี 2 กลุ่มย่อย คือกลุ่มที่ก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้าแล้ว กับกลุ่มที่เพิ่งเริ่มชีวิตทำงานได้ไม่กี่ปี เป็นช่วงวัยที่เติบโตมาแบบคาบเกี่ยวระหว่างยุคอนาลอกและยุคดิจิทัล พวกเขาทันโทรทัศน์ขาวดำ ทันโทรศัพท์มือถือขาวดำ ทันการใช้อินเทอร์เน็ตแบบต่อสายเข้ากับโทรศัพท์บ้าน ฉะนั้น พวกเขาจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกับคน Gen-X เช่น ชอบความตรงไปตรงมา และไม่ชอบถูกบงการ
คน Gen-Y ให้ความสำคัญกับเรื่องค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ต้องการคำชมและการยอมรับ บรรยากาศที่ผ่อนคลายและความท้าทายจะสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ใช้ความคิดควบคู่ไปกับความสามารถ มีทักษะการจัดการที่ดี พวกเขารับกฎได้ แต่ไม่ใช่กฎที่เข้มงวดแบบไม่มีเหตุผล หากงานมีความชัดเจน สมเหตุสมผล พวกเขาพร้อมทำงานชนิดถวายหัว แต่จะไม่อดทนกับสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทน อีกทั้งยังมี Work-Life Balance ที่ชีวิตทำงานที่ดีต้องมีเวลาพักผ่อน พวกเขาจะหาเวลาว่างทำในสิ่งที่ตนเองชอบเพื่อใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ
Gen-Z เด็กจบใหม่ไฟแรง
Gen-Z คือ กลุ่มคนที่กำลังเตรียมเข้าสู่ชีวิตทำงาน หรือเด็กจบใหม่ในช่วงนี้ พวกเขาเกิดมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี และแทบไม่ได้สัมผัสสิ่งอนาลอกเลย มีความคิดเป็นของตัวเอง มองโลกจากนอกกรอบ มั่นใจในตัวเองสูง เรียนรู้ได้เร็ว แต่ค่อนข้างจะเอาความคิดของตนเป็นที่ตั้ง ตัดสินใจเร็ว ความอดทนต่ำ ไม่ชอบรอคอย มีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ ดังนั้น พวกเขาจะวัดค่าของสิ่งต่าง ๆ ด้วยสิ่งที่พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ ไม่ฟังเชื่อไม่ฟัง แต่จะเป็นลักษณะเห็นด้วย และมักตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม พวกเขายังกลัวอนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไปไวมาก จึงมักที่จะหาข้อมูลเปรียบเทียบอย่างรอบด้าน รู้จักตั้งคำถาม เปิดกว้างทางความคิด จึงมีแนวโน้มที่จะฉีกกฎเกณฑ์เดิม ๆ ความคิดเดิม ๆ และลดช่องว่างระหว่างคน
การทำงานต่างช่วงวัย ที่ต้องใช้ใจเปิดรับ
การทำงานของคน 2 กลุ่มนี้จึงมีความแตกต่างกัน อาจเพราะคน Gen-Y เติบโตมาในแบบที่คาบเกี่ยวกับความคิดเก่า ๆ อยู่บ้าง แต่ Gen-Z ไม่ ทั้ง 2 กลุ่มจึงต้องเข้าใจความแตกต่าง และให้ความสำคัญกับการสื่อสารให้มาก เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน อีกทั้งคน Gen-Z ยังมองถึงอะไรก็ตามที่สร้างความมั่นคงได้ จะดึงดูดเขาได้มากพอ ๆ กับจำนวนเงิน จึงต้องให้โอกาสพวกเขาแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ พูดคุยคุยด้วยเหตุผล การใช้อารมณ์กับคน Gen-Z เสี่ยงต่อการเกิดเรื่องราวใหญ่โตสูงมาก
แม้ว่าจะมีจุดต่าง แต่ต้องพยายามหาจุดร่วมให้ได้ พูดให้น้อย ฟังให้มาก จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ร่วมถึงการมี Feedback ให้กันก็ช่วยให้งานเดินต่อได้ ทั้งนี้ต้องเปิดใจรับการพูดตรง ๆ (แต่ใช้คำเหมาะสม) ให้ได้ ชื่นชมข้อดี ปรับปรุงข้อเสีย ชี้แนะในสิ่งใหม่ที่ควรทำ เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันในการทำงาน