เรียนออนไลน์ “ทางออก” หรือ “ทางตัน”
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์จนแฮชแท็ก #เรียนออนไลน์ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์เลยทีเดียว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทดลองถ่ายทอดสัญญาณการเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลเป็นวันแรก ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และแอปพลิเคชัน / เว็บไซต์ของ DLTV ซึ่งเป็นมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
แม้ว่ามีเจตนาอันดีเพื่อให้การเรียนการสอนสามารถดำเนินต่อไปได้ ในช่วงที่ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวัง COVID-19 กันอยู่ ซึ่งจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้ ศธ.ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เหมือนเดิม จึงต้องหาวิธีทางออกเพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศในทุกชั้นเรียนได้รับโอกาสในการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพในขั้นพื้นฐาน จนกว่าจะกลับมาเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.2563
แต่หลังจากทดลองเรียนออนไลน์ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปได้เพียงวันเดียว ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับในเชิงลบกระหน่ำเข้ามาชนิดที่ตั้งตัวแทบไม่ทัน ทั้งจากตัวนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงคนที่อยู่วงนอกที่มองว่าทางเลือกในการเรียนออนไลน์อาจจะยังไม่เหมาะกับบ้านเรา
เสียงสะท้อนจากนักเรียน
- การเรียนการสอนไม่ได้คุณภาพ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเรียน
- สื่อการสอนไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง จึงเกิดความผิดพลาด
- ไม่มีสมาธิจดจ่อในการเรียน ซึ่งต่างจากการอยู่ในห้องเรียน
- หากมีข้อสงสัยใด ๆ ในระหว่างเรียน ไม่สามารถสอบถามคุณครูได้
เสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง
- การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว และเด็กยังไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ๆ
- พ่อแม่ต้องไปทำงาน ไม่สามารถให้คำแนะนำลูกได้ เมื่อเกิดข้อสงสัยระหว่างการเรียน
- ครอบครัวมีเด็กหลายคน และอยู่คนละชั้นเรียน แต่มีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว จึงไม่สามารถเรียนพร้อมกันได้ทุกคน
- ครอบครัวยากจน ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอต่อการซื้ออุปกรณ์ อาทิ โทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ หรือกล่องรับสัญญาณถ่ายทอดจากจานดาวเทียม
เสียงสะท้อนจากโซเชียลมีเดีย
- เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะบางครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงทำให้เด็ก ๆ ขาดโอกาสในการเรียน
- บางครอบครัวอยู่ในชนบทพื้นที่ห่างไกล ทำให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่สามารถเข้าถึงได้
- ครูผู้สอนไม่ได้คุณภาพ ประกอบกับสื่อการสอนมีความผิดพลาด และมีเนื้อหาที่ไม่ทันสมัย ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้คุณภาพ
- ไม่มีแผนรองรับที่ดีจึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาตั้งแต่วันแรกของการเรียนการสอน จึงไม่สามารถเข้าถึงนักเรียนได้อย่างทั่วถึง
เมื่อมีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกมาชี้แจงว่า ศธ.ไม่ได้มีนโยบายที่จะผลักภาระให้ผู้ปกครองต้องไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป หรือเพิ่มเติมในส่วนของอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด
พร้อมทั้งระบุว่า ศธ.ตั้งใจจัดการเรียนการสอนผ่านทีวี เพราะมองว่าทุกครัวเรือนในประเทศไทย ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ มีทีวีกันอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนเลือกที่จะใช้มือถือในการดึงสัญญาณผ่านเว็บไซต์ของ DLTV จึงทำให้เกิดสัญญาณล่มตามมา
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะมีโรงเรียนที่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติราว 80 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ เพราะต้องควบคุมเรื่องการระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง อาทิ กทม. ภูเก็ต และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงยังต้องใช้การเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์
“ทางออก” หรือ “ทางตัน”
เมื่อทุกอย่างดำเนินการไปแล้ว เพราะศธ. หวังให้การเรียนออนไลน์เป็น “ทางออก”สำหรับปัญหาที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ จึงต้องมองหาทางแก้กันต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ถึง “ทางตัน” ไปเสียก่อน
โดยปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือหลายครอบครัวไม่มีความพร้อมเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจัดหาอุปกรณ์เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนออนไลน์เหมือนกับเพื่อน ๆ ซึ่ง “ทางแก้” ที่พอเป็นไปได้คือการช่วยเหลือกันเองภายในชุมชน โดยอาจมีผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านคอยเป็นศูนย์กลางในการประสานงานว่าครัวเรือนใดประสบปัญหาดังกล่าวบ้าง เพื่อยื่นมือให้ความช่วยเหลือครอบครัวนั้น ๆ
อย่างน้อยการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน เช่น ศาลาประชาคม หรือห้องสมุดประชาชน เพื่อเปิดทีวีเครื่องใหญ่ หรือเปิดโปรเจกเตอร์ให้เด็ก ๆ ที่อยู่ระดับชั้นเรียนเดียวกันได้นั่งเรียนหนังสือด้วยกัน โดยรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างเหมาะสม ก็น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาสำหรับเด็ก ๆ ที่ไม่มีโอกาสให้เบาบางลงได้บ้างไม่มากก็น้อย