สัมภาษณ์งานอย่างไรให้เป็น คนที่ใช่

สัมภาษณ์งานอย่างไรให้เป็น คนที่ใช่

สัมภาษณ์งานอย่างไรให้เป็น คนที่ใช่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพราะ “ตำแหน่งงานที่ว่างอยู่” ในแต่ละบริษัทไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน นั่นหมายความว่า หากคุณอยากจะได้งาน ก็ต้องโดดเด่นมากพอที่จะทำให้ฝ่ายบุคคลหยิบ เรซูเม่ ขึ้นมาพิจารณา และเมื่อเรซูเม่ของคุณถูกใจฝ่ายบุคคลแล้ว ก็จะทำให้ผ่านเข้าสู่ด่านต่อไป นั่นคือ “การสัมภาษณ์งาน”

วัตถุประสงค์ในการสัมภาษณ์งาน ก็เพื่อให้บริษัทได้รู้จักตัวตนของคุณมากขึ้น เพื่อประเมินว่ามีความรู้ความสามารถมากพอที่จะรับเข้าทำงานหรือไม่ มีทัศนคติอย่างไรในการดำเนินชีวิต มีทักษะการควบคุมอารมณ์และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร รวมถึงความสำเร็จที่ผ่านมาสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับบริษัทได้อย่างไร

หากคุณคือคนที่เหมาะสม บริษัทก็จะเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ดังนั้น ถ้าอยากสัมภาษณ์งานให้ได้งาน และเป็นคนที่ได้รับเลือกก็จำเป็นต้องต้องเตรียมตัวให้พร้อมในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย

1. ภาษากาย

หากมีบุคลิกภาพที่สร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกพบ ก็ช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ซึ่งลักษณะการนั่ง การเดิน การเคลื่อนไหว การแสดงออกต่าง ๆ ล้วนให้ข้อมูลเชิงจิตวิทยาได้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร โดยเฉพาะการสบตากับผู้ให้สัมภาษณ์ เพราะสามารถสื่อสารได้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ นอกจากนี้ บริษัทจะพิจารณาจากภาษากายเพื่อประเมินการแสดงออกของคุณด้วยว่า เมื่อตกอยู่ในสภาวะกดดันจากคำถามต่าง ๆ คุณสามารถรับมือได้ดีเพียงใด

2. เตรียมรับมือกับคำถาม

ในการสัมภาษณ์งานนอกจากพูดคุยเรื่องประวัติส่วนตัวและประสบการณ์ของคุณแล้ว ส่วนใหญ่กรรมการมักจะใช้สูตร S-T-A-R ในการสัมภาษณ์ด้วยการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร เพื่อค้นหาศักยภาพที่แท้จริงว่าคุณมีกระบวนการคิด วิธีสื่อสาร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า วิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่าง ซึ่งเป็นการพิสูจน์อีกทางว่าคุณเก่งจริงตามที่ระบุไว้ในเรเซูเม่หรือไม่

3. ทัศนคติ

เมื่อสังคมการทำงานต้องพบเจอกับคนต่างเพศ ต่างวัย หากเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ หรือเคยมีปัญหากับผู้บังคับบัญชาเก่า ก็มีผลต่อการพิจารณาด้วยเช่นกัน และถ้าทัศนคติของคุณเป็นปัญหาต่อการทำงาน ศักยภาพไม่ถึง คุณก็มีโอกาสตกม้าตายสูง จึงต้องเตรียมตัวให้ดี ไม่ควรให้ข้อมูลในเชิงลบต่อที่ทำงานเก่า หรือเจ้านายเก่า เพราะแสดงให้เห็นถึงทัศนคติแย่ ๆ ของตัวเอง

4. มีความใฝ่รู้

ทุกบริษัทย่อมต้องการคนที่มีศักยภาพมาทำงาน หากคุณมีความใฝ่รู้ กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บริษัทก็อยากจะรู้ว่าคุณมีวิธีเพิ่มทักษะความรู้ให้กับตัวเองอย่างไร โดยเฉพาะงานอดิเรกหรือความสนใจเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้กระหายที่จะเรียนรู้ และสามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้  และทำให้บริษัทมองคุณเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อองค์กร

5. ถามคำถามที่ควรถาม

ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์ บริษัทจะถามคุณว่ามีคำถามอะไรหรือไม่ ตรงจุดนี้นี่เองที่คุณจะได้แสดงความกระตือรือร้นที่อยากจะทำงาน ให้บริษัทเห็นว่าคุณมีความสนใจที่อยากได้งานนี้จริง ๆ และมีทัศนคติในหน้าที่การงานอย่างไร ในบางบริษัท คำถามที่คุณถามกลับมีผลต่อการพิจารณาเข้าทำงานด้วย ดังนั้น คำถามที่คุณควรถามจึงต้องฉลาดมากพอ อาจเกี่ยวกับขอบเขตของงาน หรือวัฒนธรรมองค์กร เป็นต้น

หากคุณมีเรซูเม่ที่สมบูรณ์แบบ และทักษะการสัมภาษณ์ที่เป็นมืออาชีพสุด ๆ ก็เตรียมรอรับข่าวดีได้เลย!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook