เพราะเหตุใด คนไทยยังใช้ “ภาษาไทย” ผิด ๆ
เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไม “ภาษาไทย” ซึ่งเป็นภาษาแม่ที่เราใช้กันตั้งแต่เกิด พูดกันทุกวัน เขียน/พิมพ์กันทุกวัน แต่ก็ยังใช้กันผิด ๆ ถูก ๆ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เรียนกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล และผ่านการเรียนหลักภาษากันมาแล้ว
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “ภาษาไทย” เป็นภาษาในกลุ่มภาษาไท (Tai) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาขร้า-ไท (Kra–Dai Languages) หรือที่คุ้นหูกันว่าไท-กะได (Tai–Kadai) โดยจุดเด่นของภาษาตระกูลนี้คือ “เสียงวรรณยุกต์” ที่มีลักษณะเป็นเสียงสูง-เสียงต่ำคล้ายเสียงดนตรี
นอกจากมีความไพเราะเสนาะหูแล้ว การออกเสียงวรรณยุกต์ที่ต่างกันก็ยังส่งผลต่อความหมายของคำด้วย ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของภาษาไทยที่มีการไล่เสียงคำ หรือที่เรียกว่า “การผันวรรณยุกต์” นั่นเอง ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเขียนภาษาไทยกันผิด ๆ สามารถจำแนกได้ดังนี้
1. แยกภาษาพูด-ภาษาเขียนไม่ออก
- ภาษาพูด เป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ ใช้สนทนาในชีวิตประจำวัน ทั้งพูด และเขียน/พิมพ์ ที่ไม่ใช่การติดต่อกิจธุระ
- ภาษาเขียน เป็นภาษาที่ใช้ติดต่อกันอย่างเป็นทางการ ในการติดต่อกิจธุระ
หากสังเกตจะพบว่า แทบไม่มีใครใช้คำว่า “เขา” ในการพูดคุยในชีวิตประจำวันเพื่อใช้เรียกแทนสรรพนามบุรุษที่ 3 แต่จะใช้ “เค้า” แทน ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องใช้ในการเขียนติดต่อที่เป็นทางการ จึงมีคนติดใช้ “เค้า” ในการเขียนแทน “เขา” ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ภาษาเขียน แม้ว่าจะสื่อสารได้เช่นกัน แต่กลับลดความน่าเชื่อถือลงไปหากนำไปใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้คำเขียนที่เป็นทางการ เช่น การติดต่อทางราชการ หรือติดต่อธุรกิจ เป็นต้น
2. ไม่เข้าใจคำพ้องรูป-พ้องเสียง
คำพ้องเสียง
“หน้า” กับ “น่า” และ “หย่า” กับ “อย่า” คือตัวอย่างของ “คำพ้องเสียง” ที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เมื่อใช้ “หน้า” และ “น่า” ผิด จึงทำให้การสื่อสารมีปัญหา เช่น น่ารัก กลับเขียนเป็น “หน้ารัก” เป็นต้น ซึ่งคำว่า “หน้า” หมายถึง ใบหน้า หรือด้านหน้า ส่วน “น่า” เป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายชักชวน ทำให้อยาก เช่น น่ากิน น่าอยู่ หรือใช้ประกอบหน้าคำกริยา (ลักษณะของคำประสม) ในความหมายว่าควร เช่น น่าจะไป น่าจะทำ
คำพ้องรูป
“แหน” กับ “แหน” เป็นตัวอย่างในกรณี “คำพ้องรูป” เมื่อคำหนึ่งอ่านว่า “แหฺน” ที่แปลว่า ชื่อพืชชนิดหนึ่ง ส่วนอีกคำอ่านว่า “แหนฺ” ที่แปลว่า “หวง ล้อม รักษา เฝ้าระวัง (มาจากหวงแหน)” ซึ่งการใช้แปลความหมายของคำพ้องรูปให้ถูกต้องนั้น จำเป็นต้องอาศัย “บริบท” หรือลักษณะความหมายแวดล้อมของประโยค จึงจะทราบว่าคำดังกล่าวต้องอ่านเช่นไร หากพูดถึงพืช ก็ต้องออกเสียง แหฺน แต่ถ้าใช้ในความหมายรักษา หวงแหน ก็ต้องออกเสียง แหนฺ
3. เว้นวรรคผิด
“เว้นวรรคผิดชีวิตเปลี่ยน” เพราะทำให้การสื่อสารผิดความหมาย ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สัมฤทธิผล ตัวอย่างเช่น “ตากลม (ตาก-ลม)” และ “ตากลม (ตา-กลม)” หรือตัวอย่างตั้งแต่เรียนประถมศึกษา “ยานี้ดีกินแล้วแข็งแรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” ซึ่งทำให้เห็นว่า การเว้นวรรคผิดในประโยคหรือในวลีที่ยาว จะทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารที่ผิดเพี้ยน และอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเว้นวรรคให้ถูกต้อง
4. ผันวรรณยุกต์ไม่เป็น
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการผันวรรณยุกต์ คือ “ไตรยางศ์”, “คำเป็น-คำตาย” และ “วรรณยุกต์” ซึ่งทั้งสามสิ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนไทยหลายคนสับสนการใส่วรรณยุกต์ “คะ ค่ะ” และอีกหลายคำ จึงกลายเป็นปัญหาในการสื่อสาร หากไม่ใส่ใจเรื่องของการผันวรรณยุกต์ ก็จะทำให้การสื่อสารผิดพลาดและเกิดความเข้าใจผิดได้
ไตรยางศ์ และวรรณยุกต์
หากจะผันวรรณยุกต์ให้ถูกต้องก็จำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อนว่าไตรยางศ์นั้นประกอบด้วยอักษร 3 หมู่ คือ อักษรกลาง อักษรสูง และอักษรต่ำ ส่วนวรรณยุกต์ในภาษาไทยมีวรรณยุกต์ 4 รูป คือ วรรณยุกต์เอก (-่) วรรณยุกต์โท (-้) วรรณยุกต์ตรี (-๊) และวรรณยุกต์จัตวา (-๋) และมี 5 เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงวัตวา
- อักษรกลาง มี 9 รูป 7 เสียง ได้แก่ ก จ ด ต (ฎ ฏ) บ ป อ สามารถผันวรรณยุกต์ได้ครบทั้ง 5 เสียง
- อักษรสูง มี 11 รูป 7 เสียง ได้แก่ ข (ฃ) ฉ (ฐ) ถ ผ ฝ (ศ) ส (ษ) ห สามารถจับคู่เสียงกับอักษรต่ำคู่
- อักษรต่ำคู่ มี 14 รูป 7 เสียง คือ ข (ฃ) คู่กับ ค (ฅ ฆ) / ฉ คู่กับ ช (ฌ) / (ฐ) ถ คู่กับ (ฑ ฒ) ท (ธ) / ผ คู่กับ พ (ภ) / ฝ คู่กับ ฟ / (ศ) ส (ษ) คู่กับ ซ และ ห คู่กับ ฮ
ทั้งนี้ อักษรสูงสามารถผันวรรณยุกต์ได้เพียง 3 เสียง และปรากฏรูปวรรณยุกต์เพียง 2 รูปเท่านั้น เช่น ขา ข่า ข้า ขณะที่อักษรต่ำเดี่ยว มี 10 รูป 7 เสียง ได้แก่ ง (ญ) (ณ) น ม ย ร ล ว (ฬ) และอักษรต่ำ สามารถผันวรรณยุกต์ได้เพียง 3 เสียง ปรากฏรูปวรรณยุกต์เพียง 2 รูปเท่านั้น เช่น คา ค่า ค้า ซึ่งจะสังเกตได้ว่า อักษรต่ำคู่ที่มีเสียงจับคู่กับอักษรสูง จะทำให้ผันได้ครบ 5 เสียง คือ คา ข่า ข้า(ค่า) ค้า ขา
คำเป็น-คำตาย
- คำเป็น คือ คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว และสะกดด้วยมาตราตัวสะกดแม่กง กน กม เกย เกอว
- คำตาย คือ คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น และสะกดด้วยมาตราตัวสะกดแม่กก กด กบ
คำเป็น-คำตาย ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อนำมาผันวรรณยุกต์จะยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังเช่นกรณีของคำว่า คะ/ค่ะ ที่หลายคนมักเขียนผิดกันอยู่บ่อย ๆ
- “คะ” เป็นคำตาย (สระเสียงสั้น) รูปสามัญ แต่เป็นเสียงตรี (คะ-จ๊ะ)
- “ค่ะ” เป็นคำตาย (สระเสียงสั้น) รูปเอก แต่เป็นเสียงโท (ค่ะ-จ้ะ)
- “คา” เป็นคำเป็น (สระเสียงยาว) รูปสามัญ เสียงสามัญ (คา-จา)
- “ค่า” เป็นคำเป็น (สระเสียงยาว) รูปเอก เสียงโท (ค่า-ป้า)
ตัวอย่างการใช้ คะ ค่ะ นะคะ น่ะค่ะ ที่ถูกต้อง
- “คะ” ใช้ในความหมาย “คำถาม” และ “แสดงความสุภาพ” เช่น อะไรนะคะ จริงหรือคะ ขอบคุณนะคะ แต่ “ค่ะ” ใช้ในความหมาย “บอกเล่า” และ “ตอบรับ” เช่น ได้ค่ะ สวัสดีค่ะ ไม่เป็นไรค่ะ
- “นะคะ” ใช้กับการบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น โอเคนะคะ ไปก่อนนะคะ ขอบคุณมาก ๆ นะคะ
- “น่ะค่ะ” จะใช้กับการบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น เธอกำลังรีบน่ะค่ะถึงได้ไปโดยไม่บอกกล่าว
ทั้งหมดนี้ หากพิจารณาเรื่องการผันวรรณยุกต์และความหมายของการใช้งานแล้ว จะรู้ทันทีว่าความหมายไม่เหมือนกัน จึงสามารถสรุปได้ว่า แม้ภาษาไทยจะเป็นภาษาที่เราใช้กันทุกวัน แต่คนไทยหลายคนกลับยังไม่แม่นเรื่องการผันวรรณยุกต์ และการสะกดคำเป็น-คำตาย จึงทำให้ “คะ ค่ะ” ยังเป็นคำที่ใช้กันไม่ถูกต้องเสียที
อย่างไรก็ตาม มีคนแย้งว่า การเขียนผิดไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ จะต้องเข้มงวดอะไรนักหนา หากสื่อสารรู้เรื่องก็พอแล้ว แต่เหตุผลหนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุดที่เราจำเป็นต้องสะกดให้ถูกก็คือ เพื่อให้การสื่อสาร “สัมฤทธิ์ผล” โดยเฉพาะการสนทนาที่ไม่เห็นหน้า ไม่ได้ยินน้ำเสียง เพราะไม่ใช่ผู้รับสารทุกคนจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อ เนื่องจากเพียงใช้วรรณยุกต์ผิด เว้นวรรคผิด ความหมายก็จะเปลี่ยนทันที และทำให้ “คุยกันไม่รู้เรื่อง” ได้