ทำไมเด็กนักเรียนชายญี่ปุ่นต้องให้กระดุมเม็ดที่ 2 ในวันจบการศึกษา?
ในวันจบการศึกษาของนักเรียนมัธยมปลายญี่ปุ่น หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินหรือได้เห็นวัฒนธรรมการให้กระดุมเม็ดที่สองผ่านอนิเมะญี่ปุ่นกันมาบ้าง โดยเด็กผู้ชายจะให้กระดุมเม็ดที่สองที่เสื้อแก่เด็กผู้หญิงในวันจบการศึกษา บางคนที่ฮอตหน่อยก็ให้ทั้งเม็ดที่หนึ่ง เม็ดที่สามไปด้วย เรียกได้ว่าเป็นความทรงจำหวานอมเปรี้ยวของหนุ่มสาวญี่ปุ่นหลาย ๆ คนเลยทีเดียวค่ะ เรามาดูกันว่าทำไมเด็กผู้ชายถึงต้องให้กระดุมเม็ดที่สองแก่ผู้หญิงกันนะ
กระดุมเม็ดที่สองที่ว่าก็คือ กระดุมเม็ดที่สองนับจากด้านบนของชุดนักเรียนชายที่เรียกว่า สึเมะเอะริ (詰襟) หรืออาจจะคุ้นในอีกชื่อก็คือ กัคคุรัน (学ラン) ซึ่งเป็นเสื้อมีปกที่กลัดกระดุมจากบนลงล่าง กระดุมมักมีตราของโรงเรียน กางเกงเป็นกางเกงขายาว ทั้งชุดสีดำหรือสีเข้ม ๆ โดยปกติชุดนักเรียนแบบนี้จะมีกระดุมอยู่ 5 เม็ด
ความหมายของกระดุมเม็ดที่สองคือ?
ว่ากันว่า กระดุมเม็ดที่สองแสดงถึงคนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเม็ดที่อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับหัวใจมากที่สุด เราจึงให้กระดุมเม็ดนี้กับคนที่สำคัญที่สุดของเรา ซึ่งก็หมายถึงคนที่ชอบ มีทั้งเด็กผู้ชายให้กระดุมกับเด็กผู้หญิงที่ชอบ หรือเด็กผู้หญิงมาขอกระดุมจากเด็กผู้ชายที่ชอบ
ที่มาของกระดุมเม็ดที่สอง?
มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของการให้กระดุมนี้หลายทฤษฎีเลยค่ะ
ที่มาจากช่วงสงคราม
ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถเตรียมเครื่องแบบทหารสำหรับชายหนุ่มที่จะไปสนามรบได้ เนื่องจากขาดแคลนเสบียง จึงต้องใส่ชุดนักเรียนกักคุรันไปสงครามทั้งอย่างนั้น
ก่อนจะไปสงครามก็เกรงว่าตนอาจจะเสียชีวิตในสงคราม จึงมีการให้กระดุมแก่คนรักไว้เพื่อเป็นของต่างหน้า ถ้าเป็นกระดุมเม็ดแรก ก็จะไม่สามารถปิดกระดุมที่คอเสื้อได้ จะโดนหัวหน้าว่าได้ว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย จึงให้เม็ดที่สองที่ไม่ค่อยเตะตาแทน
ที่มาจากภาพยนตร์
หรืออาจจะมีที่มาจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Yokaren monogatari: Konpeki no sora tooku (予科練物語 紺碧の空遠く) ซึ่งฉายในปี 1960 เป็นเรื่องราวความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง ก่อนที่พระเอกจะได้บอกความในใจกับนางเอก พระเอกก็ต้องไปสงครามในฐานะกองกำลังโจมตีพิเศษเสียก่อน ตอนจากลากัน ฝ่ายชายจึงมอบกระดุมเม็ดที่สองให้กับฝ่ายหญิง แต่จากนั้นฝ่ายชายก็เสียชีวิต ว่ากันว่าหลังหนังเรื่องนี้ฉาย วัฒนธรรมการให้กระดุมเม็ดที่สองแก่ฝ่ายหญิงตอนจากลากันในพิธีจบการศึกษาจึงแพร่หลาย
เพื่อคว้าหัวใจ
เหตุผลนี้ง่าย ๆ เลย ก็เพราะว่าเม็ดที่สองเป็นเม็ดที่ใกล้กับหัวใจที่สุด การให้หรือรับเม็ดที่สองจึงเป็นการคว้าหัวใจของคนที่ชอบนั่นเองค่ะ
แล้วเม็ดอื่น ๆ ล่ะ?
- เม็ดที่หนึ่ง แสดงถึงตัวเอง
- เม็ดที่สอง แสดงถึงคนสำคัญ
- เม็ดที่สาม แสดงถึงเพื่อน
- เม็ดที่สี่ แสดงถึงครอบครัว
- เม็ดที่ห้า แสดงถึงคนอื่น
แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าความหมายของกระดุมแต่ละเม็ดจะแตกต่างกันตามยุคสมัยและพื้นที่ บ้างก็ว่าเม็ดแรกคือเพื่อน เม็ดที่สี่และห้าคือเม็ดสำรองของเม็ดที่สอง เป็นต้น
แต่เหมือนช่วงหลังมานี้จะไม่ค่อยมีแล้ว
จากผลสำรวจจากนิตยสาร cancam ของญี่ปุ่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อสอบถามเด็กมัธยมปลายและเด็กมหาวิทยาลัยในช่วงอายุ 10-20 ปีจำนวน 376 คนว่า มีวัฒนธรรมการให้กระดุมเม็ดที่สองในวันจบการศึกษาหรือไม่ ก็ได้คำตอบมาดังนี้
- 34% ตอบว่า มี
- 53% ตอบว่า เคยได้ยิน แต่ไม่มี
- 13% ตอบว่า ไม่เคยได้ยินเลย
จากผลสำรวจแสดงให้เห็นเลยว่า กว่าครึ่งเคยได้ยินธรรมเนียมนี้ แต่ไม่มีการทำแล้ว และอีก 13% ที่ไม่เคยได้ยินเลย จึงกล่าวได้ว่า เกือบ 70% ไม่มีการให้กระดุมกันแล้ว เหมือนว่าวัฒนธรรมนี้กำลังจะเริ่มหายไปจากญี่ปุ่น โดยเมื่อลองถามนักเรียนในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าเคยให้กระดุมอยู่ จึงดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงเพิ่งจะมีไม่นานนี้เอง
เป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นเพราะว่าหลาย ๆ โรงเรียนเปลี่ยนจากชุดนักเรียนแบบกัคคุรัน มาเป็นแบบเบลเซอร์ (ブレザー) หรือแบบเสื้อสูทมากขึ้น กรณีของกัคคุรัน เหตุผลที่ให้กระดุมที่สองเพราะใกล้หัวใจ แต่ถ้าเป็นแบบเบลเซอร์ เม็ดที่สองจะไกลจากหัวใจ หลาย ๆ คนก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้กระดุมเม็ดที่สอง
หรืออาจจะเป็นเพราะว่าในยุคนี้มีทั้งไลน์หรือโซเชียลทางอื่นที่ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น การเรียนจบก็เลยไม่ได้รู้สึกถึงการจากลา หรือรู้สึกว่าพิธีจบเป็นจุดเปลี่ยนอะไรเท่าไร อาจจะเป็นยุคที่ได้ไลน์ไอดี ยังดีเสียกว่าการได้กระดุมเม็ดที่สองจากรุ่นพี่ที่ชอบหรือคนที่ชอบ
แต่ถึงจะไม่ค่อยมีแล้ว วัฒนธรรมนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นความทรงจำหวานอมเปรี้ยวของหลาย ๆ คนทีเดียวค่ะ
ตัวอย่าง
“จากคนมีประสบการณ์ต่างคนต่างคิดว่าแอบรักข้างเดียว.. ฉันไม่ได้กระดุมเม็ดที่สองในวันจบค่ะ แต่สุดท้ายก็ได้ผ่านคนอื่นมาอีกที♡”
“โรงเรียนของเราเป็นชุดแบบเบลเซอร์ ก็เลยไม่มีวัฒนธรรมการให้กระดุมเม็ดที่สอง แต่ให้ตราโรงเรียนตรงอกแทน ฉันเองก็ได้มาจากรุ่นพี่เหมือนกัน แล้วฉันก็ให้รุ่นน้องที่มาขอด้วยค่ะ” (ในกรณีของเบลเซอร์ ผู้หญิงก็จะมีตราโรงเรียนด้วยเหมือนกัน)
“อย่าว่าแต่กระดุมเม็ดที่สองเลย เด็กผู้ชายที่ฮอต ๆ ในคลาส ทั้งกระดุมกลัดแขนเสื้อ เนคไท กระเป๋าก็โดนเอาไปหมด”
บ้านเราไม่มีอะไรแบบนี้ แต่ดูแล้วก็เป็นอะไรที่น่ารักดีเหมือนกันนะคะ แต่จะว่าไปไทยเราก็มีการเขียนเฟรนด์ชิพแลกกันหรือการเขียนเสื้อเหมือนกันเนอะ เหมือนแต่ละที่ก็มีวัฒนธรรมในวันจากลากันอย่างนี้แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นความทรงจำดี ๆ ทั้งนั้นเลยว่าไหมคะ