ไม่อยากเตะฝุ่น! ต้อง “ฝึกงาน” ให้ได้งาน

ไม่อยากเตะฝุ่น! ต้อง “ฝึกงาน” ให้ได้งาน

ไม่อยากเตะฝุ่น! ต้อง “ฝึกงาน” ให้ได้งาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้การหางานถือเป็นเรื่องยากของเด็กจบใหม่ เพราะในแต่ละปีมีนิสิตนักศึกษาจบการศึกษาหลายแสนคน ในขณะที่บริษัทซึ่งเปิดรับพนักงานจบใหม่กลับมีจำนวนน้อยกว่ามาก

อีกทั้งยังมีวิกฤต COVID-19 ในช่วงครึ่งปีแรกด้วยทำให้หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงานลง จึงส่งผลกระทบต่อการหางานยิ่งกว่าปีก่อน ๆ

โดยจากรายงานของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับสังคมไทยไตรมาสแรกปี 2563 เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 ทำให้มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน ขณะที่เด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกราว 5.2 แสนคนก็เสี่ยงต่อการหางานทำไม่ได้ตามมา

แต่ใช่ว่าโอกาสได้งานของนิสิตนักศึกษาจะถูกปิดกั้นเสียทีเดียว เพราะการฝึกงานในช่วงเทอมสุดท้ายของปีการศึกษา ยังเป็นอีกช่องทางที่ทำให้น้อง ๆ ได้งานทำในอนาคตด้วย

หากไม่อยากออกไปเตะฝุ่นหลังเรียนจบ Tonkit360 มีคำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ในการฝึกงานอย่างไรให้ได้งานมาฝากกัน ดังนี้

1. เลือกสถานที่ฝึกงานให้ตรงสาย

เมื่อคิดจะเดินหน้าสู่เส้นทางในอาชีพใด ก็ควรเลือกบริษัทที่จะฝึกงานให้ตรงกับสายที่เรียนมา หรืออย่างน้อยก็ควรตรงกับความสนใจของตนเองด้วย เพื่อจะได้เป็นเวทีในการเรียนรู้งานก่อนที่จะก้าวไปสู่อาชีพนั้น ๆ ในชีวิตจริง

2. พร้อมที่จะเรียนรู้ในทุกเรื่อง

ตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนของการฝึกงาน ถือเป็นโอกาสทองที่จะได้ตักตวงความรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เต็มที่ จึงควรแสดงความกระตือรือร้นให้พี่ ๆ ในบริษัทได้เห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในทุกเรื่อง

3. ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่

แม้การฝึกงานในหลาย ๆ ที่อาจไม่ได้รับเงินเดือนเหมือนพนักงานบริษัท แต่ควรทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่เมื่อได้รับมอบหมายงานใด ๆ และหากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรสอบถามให้เกิดความกระจ่างทุกครั้ง

4. สร้างผลงานให้เห็น

อย่ามัวแต่คิดว่าการเป็นนักศึกษาฝึกงานจะทำหน้าที่แค่ซื้อกาแฟ หรือเดินเอกสารเท่านั้น เพราะหากพิสูจน์ว่าสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ครบถ้วน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ก็จะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานที่ตรงกับความสามารถตามมา

5. ไม่เล่นโซเชียลมีเดียในเวลาฝึกงาน

มารยาทที่พึงระวังในการฝึกงานคือการใช้มือถือในเรื่องส่วนตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้จักกาลเทศะ หากงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จแล้ว ก็ควรสอบถามพี่ ๆ ว่ามีงานอื่นให้ทำอีกหรือไม่ แทนที่จะเล่นโซเชียลมีเดียในเวลางาน

6. ตรงต่อเวลาและไม่ลางานโดยไม่จำเป็น

การเป็นคนตรงต่อเวลาแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบได้อีกทางหนึ่ง แม้บางบริษัทไม่ได้สแกนนิ้วมือเพื่อบันทึกเวลาทำงาน แต่ก็ควรรักษาเวลาเพราะการมาสายอาจจะกระทบต่อการทำงานของคนอื่นได้ และไม่ควรลางานด้วยกิจธุระที่ไม่จำเป็นใด ๆ

7. มีมนุษยสัมพันธ์และสุภาพนอบน้อม

นอกจากทักษะด้านความรู้หรือ Hard Skill แล้ว ทักษะด้านสังคมอย่าง Soft Skill ก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน ซึ่งการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีความสุภาพนอบน้อม จะทำให้ร่วมงานกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook