อย่าปล่อยให้การล้อเลียน “ปมด้อย” ลุกลามจนเกินเยียวยา!

อย่าปล่อยให้การล้อเลียน “ปมด้อย” ลุกลามจนเกินเยียวยา!

อย่าปล่อยให้การล้อเลียน “ปมด้อย” ลุกลามจนเกินเยียวยา!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้หรือไม่ว่า ทุกวันศุกร์ที่ 3 เดือนมิ.ย.ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวัน Stop Cyberbullying Day หรือวันหยุดการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันการ Bully หรือกลั่นแกล้งกันมีให้เห็นในสังคมจนเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่เรามักได้เห็นข้อความเหล่านี้มากมาย แม้ว่าต่างฝ่ายจะไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวก็ตาม

การ Bully ที่เห็นกันบ่อย ๆ มักหนีไม่พ้นการนำปมด้อยของผู้อื่นมาล้อเลียนกันจนเป็นเรื่องสนุกปาก ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอก การศึกษา ความยากดีมีจน ไปจนถึงการล้อเลียนเรื่องบุพการี

ที่สำคัญ ในบ้านเรามีอัตราการ Bully ในสถานศึกษาสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง ความรุนแรงในสถานศึกษา โดยเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่ามีเด็ก ๆ มากถึง 91.79 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนจากเพื่อน รุ่นพี่ หรือรุ่นน้อง

โดยวิธีการ Bully มีหลากหลาย ทั้งทางร่างกาย เช่น ตบตี หรือชกต่อย, ทางสังคม เช่น กดดันให้ออกจากกลุ่ม ไม่ให้อยู่ในกลุ่มเพื่อน, ทางคำพูด เช่น เยาะเย้ย ประชดประชัน เย้าแหย่ และทางโลกออนไลน์ ซึ่งไม่จำกัดแค่วงเพื่อนฝูงในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างออกไป ทำให้เกิดความอับอายและเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น  

ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ หรือ Cyber bullying มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะหาตัวผู้กระทำได้ยากกว่าวิธีการอื่น ๆ แล้ว ก็ยังทำให้ผู้ที่ถูกกระทำได้รับความอับอายและเจ็บปวดมากกว่าด้วย ซึ่งสถิติจากเว็บไซต์ nobullying.com ระบุว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ Cyber bullying ไม่กล้าบอกกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของตัวเอง จนเป็นเหตุให้ถูกกระทำซ้ำตามมา และมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น  

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือสังคมไทยยังมีกลุ่มคนบางส่วนที่มองว่าการกลั่นแกล้ง ล้อเลียนเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของเด็ก ๆ ที่ต้องมีการกระทบกระทั่งหรือทะเลาะกันบ้าง จึงเลือกที่จะปล่อยผ่านไป มากกว่าจะรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของตนเอง

หากยังคงนิ่งเฉย มองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็อาจทำให้เด็กเหล่านั้นถูกทำร้ายทางจิตใจโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพวกเขา และพร้อมรับฟังเมื่อมาขอคำปรึกษา โดยอย่าปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง เพราะพ่อแม่-ผู้ปกครองมีหน้าที่ในการสร้างเกราะคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างแข็งแกร่งในโลกที่นับวันจะโหดร้ายขึ้นทุกวัน!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook