การเรียนวิถีใหม่ ปลอดภัยด้วย New normal

การเรียนวิถีใหม่ ปลอดภัยด้วย New normal

การเรียนวิถีใหม่ ปลอดภัยด้วย New normal
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์ของโรค COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้น ห้างสรรพสินค้ารวมถึงสถานที่ต่างๆ เปิดให้บริการ ผู้ใหญ่หลายคนคงลดความอึดอัดกันไปบ้าง แต่ก็คงต้องยึดแนวทางการปฏิบัติตัวตามกฎที่สถานที่เหล่านั้นตั้งไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย ส่วนเด็กๆ ตามแนวโน้มของการเปิดภาคเรียนใหม่ เด็กๆ คงตั้งหน้าตั้งตารอไปเจอคุณครูและเพื่อนๆ กันอย่างขะมักเขม้น พ่อแม่ก็คงตั้งใจเตรียมตัวให้ลูกกลับไปเรียนกันทุกคน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เชื่อว่าพ่อแม่น่าจะยังไม่น่าสบายใจนัก ยิ่งจากข่าวที่โรงเรียนในประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเปิดให้เด็กๆ ไปโรงเรียน แต่ปรากฏว่าพบเด็กที่ติด COVID-19 จากการระบาดรอบ 2 ถ้าเช่นนั้นแล้วพ่อแม่จะรับมืออย่างไร

พญ. คคนางณ์ จันทรภักดี กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.เด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้มีข้อแนะนำมาฝากกัน

ไม่ว่าจะโรค COVID-19 หรือโรคติดต่ออื่นๆ พ่อแม่ก็ต้องรู้จักวิธีป้องกัน เพราะจะสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่เปิดเทอมก็มีการระบาดของโรคหรือไวรัสต่างๆ กันอยู่ทุกปี ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก RSV มือเท้าปาก ดังนั้น สิ่งที่ต้องตระหนักมากที่สุดยังควรต้องเป็นเรื่องของการป้องกันและรักษาตัวเองให้ห่างไกลจากโรคติดต่อต่างๆ

New Normal ของเด็กๆ

แนวทางการป้องกันการติดเชื้อและดูแลตัวเองของเด็กๆ ไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ว่าเด็กๆ อาจยังไม่ได้ตระหนักอย่างจริงจัง อาจต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยสอนและสร้างความคุ้นเคยให้เด็กๆ จนเกิดเป็นวินัย กลายเป็น New Normal หรือแนวทางการใช้ชีวิตใหม่ เพื่อที่จะอยู่ในสังคม โรงเรียน รวมถึงอยู่กับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุข ปลอดภัยจากโรคร้าย ซึ่งหลักๆ มีแนวทาง ดังนี้

  • รักษาระยะห่าง social distancing อยู่ห่างจากเพื่อนๆ คุณครู 1 – 2 เมตร เพราะเราไม่รู้ว่าเชื้อโรคต่างๆ อยู่ตรงไหนบ้าง สร้างให้เป็นวิถีชีวิตแบบ Physical distance
  • นั่งห่างกัน ในระหว่างรับประทานอาหาร โต๊ะอาหารของโรงเรียนควรมีฉากกัน หรือที่เรียกว่า Food shield แนวทางเดียวกับห้างสรรพสินค้า ป้องกันการไอจาม สำลักอาหารใส่เพื่อนๆ
  • สร้างระยะห่างในการเข้าคิวหรือเข้าแถว
  • สร้างสุขนิสัย การล้างมือบ่อยๆ
  • ไม่เอามือมาจับหน้า จับตาหรือเอามือเข้าปาก เพราะเชื้อไวรัสอาจติดอยู่ตามมือโดยไม่รู้ตัว
  • สอนให้เด็กใส่ mask ในทุกที่ โดยเฉพาะในห้องเรียน เพราะส่วนใหญ่ห้องเรียนเป็นห้องแอร์ มีระบบถ่ายเทอากาศที่ปิด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคได้
  • หากมีเพื่อนที่ไม่สบาย เช่น มีไข้สูงเกิน 5 องศา น้ำมูก ไอ ให้อยู่ห่างๆ และต้องรีบบอกให้คุณครูทราบ เพื่อที่จะแยกเด็กออกมา และรีบพาไปตรวจที่โรงพยาบาลอย่างละเอียด

แต่อย่างที่รู้กัน พอเป็นเด็กก็ต้องอยากเล่น ต้องอยากอยู่กับเพื่อนๆ รวมกลุ่มกัน ดังนั้นจึงต้องฝึกให้เด็กเข้าใจวิธีในการป้องกัน แล้วนำไปปรับใช้ในกิจกรรมต่างๆ

การใส่ Mask และ Face shield ในโรงเรียน

ตามหลักการแล้ว การใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือ Surgical mask จะถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุด เพราะการใส่ Face Shield อย่างเดียว อาจยังไม่สามารถป้องกันได้ดีเท่ากับหน้ากากอนามัย เนื่องจากยังมีช่องว่างทางด้านล่างและด้านข้างให้เชื้อหลุดรอดมาได้ ดังนั้นถ้าจะใส่อย่างใดอย่างหนึ่ง แนะนำให้ใส่หน้ากากผ้า หรือ surgical mask ดีที่สุด ส่วนถ้าใครอยากใส่ทั้ง 2 อย่างคู่กันก็จะมิดชิดมากขึ้น และป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น

โรงเรียนต้องดูแลเด็กๆ อย่างไร

โรงเรียนเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะ ที่จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมดูแลผู้ที่เข้าไปรับบริการ นั่นก็หมายถึงนักเรียนนั่นเอง

  • จัดระยะห่างของการเข้าแถว ไม่ว่าจะเคารพธงชาติ แถวเดินเข้าห้อง
  • รักษาความสะอาด
  • ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • การจัดแถวโต๊ะเก้าอี้ ในชั้นเรียน ต้องตั้งโต๊ะให้เด็กๆ นั่งในระยะห่าง 1 – 2 เมตร ยกเลิกการจัดโต๊ะเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อไม่ให้เด็กหันหน้าเข้าหากัน
  • การควบคุมแถวในการซื้ออาหาร ขนม หรือซื้อของในห้องสวัสดิการ ควรทำเครื่องหมายของการเว้นช่วงให้ครอบคลุม
  • ทางโรงเรียนอาจต้องจัดคณะครูเป็นทีมทำงานด้านการสุขอนามัยเป็นพิเศษ เพื่อคอยดูแลและเข้มงวดมาตรการและกฏควบคุมต่างๆ โดยทำป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ในโรงเรียน รวมถึงสื่อสารให้พ่อแม่รับทราบถึงมาตรการความปลอดภัยต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา
  • เด็กอนุบาล คุณครูต้องจัดเวลาพาเด็กๆ ไปล้างมือ ก่อน-หลังรับประทานอาหาร และหลังทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เด็กๆ ใส่หน้ากากอนามัยเสมอ

วิธีสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ

  • แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะ โรค COVID-19 เป็นโรคที่มีอาการทางปอดและเดินหายใจคล้ายๆ กัน ถ้ามีภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่จะลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
  • เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนพื้นฐานที่มีความจำเป็น รวมถึงวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อ IPD เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน ต่อต้านเชื้อโรค
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชม.
  • ดื่มน้ำสะอาด 6 -8 แก้ว

การเสริมพัฒนาการให้เด็กๆ ช่วง COVID-19

ในช่วงที่มีการระบาดของโรค covid-19 ผู้ปกครองหลายคนทำงานที่บ้านทำให้มีเวลาใกล้ชิดกับบุตรหลานมากขึ้น ในช่วงที่ยังไม่ได้ไปโรงเรียนและช่วงปิดเทอมที่ยาวนาน พ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการให้ลูก ดังนี้

  • ฝึกให้ลูกได้ทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือนปกติ เช่น ตื่นเช้า อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว รับประทานอาหาร ช่วยทำงานบ้าน เล่นกีฬา ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน โดยกิจวัตรเหล่านี้ควรคงเวลาเดิม หรือไม่ให้ต่างจากช่วงปกติมากนัก
  • มีเวลาทำกิจกรรมของครอบครัวร่วมกัน
  • ในเด็กเล็ก ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการให้ครบรอบด้าน ทั้งกล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ แขนขา การใช้ภาษา การช่วยเหลือตนเอง และการเข้าสังคม โดยเริ่มต้นจากการเล่น และทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว และไม่ควรใช้เวลาอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์นานจนเกินไป เพราะจะทำให้เสียสุขภาพและกลายเป็นเด็กติดจอ
  • สำหรับเด็กโต คุณพ่อคุณแม่อาจพาออกไปซื้อของ ฝึกอ่านชื่อสินค้า หรือป้ายราคาต่างๆ เด็ก ๆ จะได้ฝึกคิดเลขไปในตัว รวมถึงฝึกสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ ให้ติดเป็นนิสัย
  • ในบางโรงเรียนอาจมีการเรียน online หรือ Home school ซึ่งต้องมีผู้ปกครองคอยชี้แนะร่วมด้วย

New normal ตามที่กล่าวมา จะเป็นแนวทางการใช้ชีวิตประจำวันในรูปแบบใหม่ เราทุกคนควรจะต้องปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้เด็กๆ ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook