วิธีเขียนรายงาน ฉบับสมบูรณ์ เขียนรายงาน อย่างไรให้ครบถ้วนไม่ตกทุกรายละเอียด
การเขียนรายงาน คือการเขียนเสนอผลงานอันได้มาจากการศึกษาค้นคว้าพิเศษนอกเหนือจากเรื่องที่ได้ศึกษาในชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
รูปแบบของรายงาน
รูปแบบของการรายงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนประกอบตอนต้น ส่วนเนื้อหา และส่วนประกอบตอนท้าย ดังนี้
ส่วนประกอบตอนต้น
- หน้าปกรายงาน ส่วนบนเขียนชื่อเรื่อง ส่วนกลางชื่อผู้รายงาน ส่วนล่างบรรทัดแรกให้เขียนว่า “ รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชา… ” บรรทัดที่สองเป็นชื่อสถาบันศึกษา ส่วนบรรทัดที่สามบอกภาคที่เรียนและปีการศึกษา
- คำขอบคุณ เป็นส่วนที่ไม่บังคับ อาจมีหรือไม่มีก็ได้
- คำนำ เป็นการบอกขอบข่ายของเรื่อง สาเหตุที่ทำให้เลือกทำรายงานเรื่องนี้ จุดมุ่งหมายในการเขียน
- สารบัญ หมายถึง บัญชีบทต่าง ๆ ในสารบัญมีบทและตอนต่าง ๆ เรียงตามลำดับกับที่ปรากฏในหนังสือ ตลอดจนการขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือในการทำรายงาน
- บัญชีตารางหรือภาพประกอบ (ถ้ามี) เพื่อให้มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รายงานบางเรื่องอาจต้องใช้ตาราง นิยมทำบัญชีตารางหรือบัญชีภาพประกอบไว้ในหน้าถัดไปจากสารบัญ
ส่วนเนื้อเรื่อง
- ส่วนที่เป็นเนื้อหา ต้องมีตอนนำ ตอนตัวเรื่อง และตอนลงท้ายเช่นเดียวกับการเขียนเรียงความ
- ส่วนประกอบในเนื้อหา ได้แก่
• อัญประกาศ คือข้อความที่คัดมาจากคำพูดหรือข้อเขียนของผู้อื่น โดยไม่ได้ดัดแปลง
• เชิงอรรถ คือข้อความท้ายหน้า มีไว้เพื่อแจ้งที่มาของข้อความในตัวเรื่อง
ส่วนประกอบตอนท้าย
- บรรณานุกรม คือ รายชื่อสิ่งพิมพ์ตลอดจนวัสดุอ้างอิงทุกชนิด ที่เกี่ยวข้องกับการทำรายงาน พิมพ์ไว้ ตอนท้ายสุดของรายงาน การเขียนบรรณานุกรม ต้องบอกชื่อสกุลผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ครั้งที่พิมพ์
• เมืองที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ จำนวนหน้า - ภาคผนวกหรืออภิธานศัพท์ คือ ส่วนที่นำมาเพิ่มเติมท้ายรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น
กระบวนการเขียนรายงาน
ขั้นตอนการเขียนรายงาน มีดังนี้
- การเลือกเรื่องและตั้งชื่อเรื่อง เรื่องที่เลือกมาศึกษา ควรเป็นเรื่องที่เสริมความรู้ในการเรียนวิชาใดวิชาหนึ่ง ขอบเขต ที่เลือกควรเหมาะสมกับเวลาในการค้นคว้าและการเขียนรายงาน
- การกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่อง จะต้องมีจุดมุ่งหมายและเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เพื่ออะไร มีขอบเขตเพียงใด เช่น หากจะเขียนรายงานเรื่องพิธีมงคลโกนจุกอาจกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขต ดังนี้
• จุดมุ่งหมาย : การศึกษาประเพณีไทยโบราณ
• ขอบเขต : ความเป็นมาและงานพิธีโกนจุก - การเขียนโครงเรื่อง โครงเรื่อง คือ กรอบ ของเรื่องที่ใช้เป็น แนว ในการเขียนรายงานโครงเรื่องประกอบด้วย
• บทนำหรือความนำซึ่งมีหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อย ควรตั้งชื่อให้กะทัดรัด ใจความครอบคลุมเนื้อหา - การเขียนเนื้อหา ได้จากการค้นคว้า จากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจากการอ่าน การฟัง การสังเกต การสัมภาษณ์ ฯลฯ ที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้ แต่ไม่ใช่การคัดลอกหรือตัดต่อ ผู้เขียนเรียบเรียงด้วยสำนวนของตนเอง สำนวนภาษาควรอ่านเข้าใจง่าย ใช้คำที่เหมาะสม ประโยคกะทัดรัด
- บทสรุป คือสรุปผลการศึกษาค้นคว้า มีการอภิปรายผลการศึกษาค้นคว้าและเสนอแนะ ( ถ้ามี )
- การอ้างถึง หมายถึงการบอกให้ทราบว่าข้อความที่ใช้ในการเขียนรายงานมาจากแหล่งใด เพื่อผู้อ่านจะได้ตรวจสอบหรือติดตามอ่านเพิ่มเติม
การจัดรูปแบบการเขียนรายงาน เรียงลำดับตามนี้
- หน้าปก
- หน้ารองปก (กระดาษเปล่า)
- หน้าปกใน (รายละเอียดเหมือนหน้าปกแต่ใช้กระดาษสีขาว)
- คำนำ
- สารบัญ
- เนื้อเรื่อง
- บรรณานุกรม
- ภาคผนวก
- รองปกหลัง (กระดาษเปล่า)
- หน้าปกหลัง
การจัดหน้ากระดาษ ใช้กระดาษ A4 โดยตั้งค่าหน้ากระดาษ ดังนี้
- ซ้าย ระยะห่างเท่ากับ 1.5 นิ้ว
- ขวา ระยะห่างเท่ากับ 1 นิ้ว
- บน ระยะห่างเท่ากับ 1.5 นิ้ว
- ล่าง ระยะห่างเท่ากับ 1 นิ้ว
หมายเหตุ 1 นิ้ว เท่ากับ 2.54 เซนติเมตร
ตัวอย่างปกรายงาน
ตัวอย่างคำนำรายงาน
คำนำ
รายงานเล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิชา…….ชั้น…เพื่อให้ได้ศึกษาหาความรู้ในเรื่อง……..และได้ศึกษาอย่างเข้าใจเพื่อเป็นประโยชน์กับการเรียน
ผู้จัดทำหวังว่า รายงานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน หรือนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังหาข้อมูลเรื่องนี้อยู่ หากมีข้อแนะนำหรือข้อผิดพลาดประการใด ผู้จัดทำขอน้อมรับไว้และขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ผู้จัดทำ
วันที่…………….
ตัวอย่างสารบัญ
ตัวอย่างบรรณานุกรม
ภาคผนวก ภาคผนวกคือ ส่วนที่เพิ่มเติมจากรายงานเพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ดีขึ้น เช่น สถิติ รูปภาพ แบบสอบถาม