ผู้นำ “รุ่นใหญ่” VS “รุ่นใหม่” ต่างกันอย่างไร?
ปัญหาในองค์กรที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ การสรรหาผู้นำที่เหมาะสมกับแต่ละแผนก เพื่อนำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้นำรุ่นใหญ่หรือผู้นำรุ่นใหม่ต่างก็มีข้อดีที่อีกฝ่ายไม่มี และนี่คือความแตกต่างระหว่างผู้นำสองเจเนอเรชั่นที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้
ผู้นำรุ่นใหญ่
มีประสบการณ์และมุมมอง
สิ่งที่ทำให้ผู้นำรุ่นใหญ่เหนือกว่าผู้นำรุ่นใหม่อายุน้อย คือประสบการณ์และมุมมองในการทำงาน เพราะเมื่อใดที่มีปัญหาเกิดขึ้น พวกเขาจะสามารถประมวลผลและจัดการปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคลุกคลีอยู่ในสายอาชีพนั้น ๆ มานานกว่า
คอนเน็กชั่นแข็งแกร่ง
คอนเน็กชั่นถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานยุคนี้ ยิ่งอยู่ในสายงานมายาวนานเพียงใด ก็ยิ่งมีคอนเน็กชั่นที่แข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตให้กับบริษัทได้มากยิ่งขึ้น แม้ว่าความสามารถและฝีมือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีเครือข่ายและสายสัมพันธ์ที่ดีก็สำคัญไม่แพ้กัน
มีความจงรักภักดี
หากพอใจงานที่ทำอยู่ และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ผู้นำรุ่นใหญ่มักมีแนวโน้มอยู่กับบริษัทนั้น ๆ ได้ยาวนานกว่าผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งบางคนอาจทำงานที่เดิมได้เป็น 10 ปี ต่างจากผู้นำอายุน้อยที่พร้อมเปลี่ยนงานได้ทุกเมื่อ หากต้องการความท้าทายใหม่ ๆ หรือมีโอกาสที่ดีกว่าเข้ามา
ผู้นำรุ่นใหม่
พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
ผู้นำรุ่นใหม่จะยินดีรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และแสดงให้เห็นถึงทักษะอันยอดเยี่ยมในการปรับตัว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความที่ไม่มีประสบการณ์มากพออย่างผู้นำรุ่นใหญ่ จึงทำให้พวกเขามองในมุมบวกมากกว่าเมื่อมีข้อเสนอที่เข้ามาหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น
สร้างแรงบันดาลใจ
ผู้นำรุ่นใหม่รู้วิธีที่จะกระตุ้นคนอื่นให้เกิดความฮึกเหิม หรือรู้สึกตื่นเต้นกับการทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ จึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานได้มากกว่าผู้นำรุ่นใหญ่
รับฟังความคิดเห็น
ผู้นำรุ่นใหม่พร้อมจะที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และมักจะถามฟีดแบคจากทีมงานอยู่เสมอ เพื่อจะได้นำไปวิเคราะห์และพัฒนาผลงาน ต่างจากผู้นำรุ่นใหญ่ที่มักไม่ค่อยยินดีรับฟังคำแนะนำจากคนที่อายุน้อยกว่าตนเองสักเท่าไร