รู้แล้วอย่าทำ! 8 พฤติกรรมเสี่ยง “ทำลายสมอง”

รู้แล้วอย่าทำ! 8 พฤติกรรมเสี่ยง “ทำลายสมอง”

รู้แล้วอย่าทำ! 8 พฤติกรรมเสี่ยง “ทำลายสมอง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้ตัวหรือไม่ว่าพฤติกรรมที่คุณทำจนคุ้นชินจนกลายเป็นนิสัยติดตัวนั้น เป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพสมองในระยะยาว มาดูกันว่าพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง

1. ไม่กินอาหารเช้า

อาหารเช้าสำคัญใคร ๆ ก็รู้ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะละเลยการกินอาหารเช้า เพราะรีบเร่งเดินทาง และหน้าที่การงานที่รัดตัวจนทำให้ละเลยอาหารเช้าแล้วไปควบรวมเป็นอาหารกลางวันแทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วร่างกายที่ขาดอาหารขณะหลับมานาน 6-7 ชั่วโมงนั้น ต้องการอาหารเช้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อคุณละเลยอาหารเช้าและปล่อยให้ท้องว่างไปจนถึงเที่ยงวัน นั่นเท่ากับว่าร่างกายและสมองขาดสารอาหารที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยง ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว

2. สูบบุหรี่

รู้กันดีว่าสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะมีการรณรงค์อย่างเข้มข้นมากขึ้นก็ตาม อย่างงานวิจัยในปี 2012 ระบุว่าชายวัยกลางคนที่สูบบุหรี่ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมมากกว่าคนที่ไม่สูบ หรืองานวิจัยในปี 2015 ก็ระบุตรงกันว่า ผู้ที่สูบบุหรี่นั้นมีโอกาสสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ที่จะมีภาวะสมองเสื่อมหากเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ เห็นอย่างนี้แล้วอาจจะทำให้หลายคนอยากหันเลิกบุหรี่กันบ้าง

3. กิน-ดื่มมากจนเกินพอดี

เป็นคนช่างกินแล้วมันผิดตรงไหน คำตอบคือไม่ผิด ถ้าคุณไม่กินจนเกินความต้องการของร่างกาย เพราะการบริโภคอาหารเครื่องดื่มมากเกินไปนั้นไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง จากผลวิจัยของสถาบันการแพทย์ Mount Sinai School of Medicine นั้นระบุว่า การกินดื่มที่มากเกินความต้องการของร่างกายนั้น ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำงานผิดปกติ และอาจเป็นการนำไปสู่โรคอ้วนหรือเบาหวานได้

4. ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

ปัจจุบันการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันดูจะกลายเป็นนิสัยที่คนในสังคมบอกว่าไม่ผิดปกติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันเอื้อให้เกิดความผิดพลาดสูงมาก เหนืออื่นใดมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ดระบุว่า การทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันเปรียบเสมือนการใส่ยาพิษทีละน้อยให้กับสมองของคุณ

จากงานวิจัยพบว่า คนที่ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือรับข้อมูลจากสังคมดิจิทัลหลายทางในทุก ๆ วัน จะมีปัญหาในเรื่องของความจำ เมื่องานผ่านพ้นไปแล้วจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดที่สำคัญได้ ซึ่งแตกต่างจากคนที่ทำงานอย่างเดียวให้เสร็จแล้วค่อยทำงานอย่างอื่นต่อ ซึ่งจะจำในรายละเอียดของงานที่ทำได้ดีกว่า

5. ดื่มน้ำน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่าการดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันนั้นทำร้ายสมองของคุณเป็นอย่างยิ่ง และส่งผลต่อกระบวนการรับรู้ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ วางแผน หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจ ดังนั้นการดื่มน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันจึงสำคัญต่อสุขภาพสมองมาก ถ้าดื่มน้ำให้เป็นนิสัยจะทำให้ร่างกายของคุณดีขึ้นอย่างที่คุณคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

6. นอนไม่พอหรือพฤติกรรมการนอนไม่เหมาะสม

เรารู้กันอยู่แล้วว่าการนอนที่เพียงพอจะอยู่ที่ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะร่างกายจะได้พักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่หลายคนก็นอนดึกหรือนอนไม่เพียงพอ เพราะต้องอ่านหนังสือ ทำงานดึก ดังนั้นเราควรจัดตารางการนอนของตนเองให้เหมาะสม เพื่อที่ร่างกายและสมองจะได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ จำไว้ว่าเมื่อใดที่คุณนอนน้อยคุณกำลังฆ่าเซลล์สมองของคุณด้วยตัวของคุณเอง

7. ฝืนทำงานแม้ว่าร่างกายเจ็บป่วย

หลายคนบอกว่าชีวิตการทำงานมันต้องไปให้สุด หรือบางคนต้องมาทำงานเพราะกลัวว่าเจ้านายจะว่าถ้าลาป่วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานขณะที่ร่างกายกำลังเจ็บป่วยนั้นเท่ากับสมองของคุณต้องทำงานเพิ่มเป็นสองเท่า เนื่องจากร่างกายของคุณกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค และต้องการการพักผ่อนเพื่อเยียวยาให้อาการดีขึ้น ดังนั้นการฝืนทำงานแม้ว่าร่างกายจะเจ็บป่วย เท่ากับเป็นการทำร้ายสมองของคุณเองเช่นกัน

8. เสิร์ชกูเกิลจนเป็นนิสัย

ในยุคสมัยที่คิดอะไรไม่ออก อยากรู้อะไรก็เสิร์ชหาในกูเกิล กลายเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายสมองโดยไม่รู้ตัว เพราะในอดีตนั้นความจำของเราจะถูกสร้างจากการท่องจำ เขียน หรืออ่าน ข้อความนั้นบ่อย ๆ ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในความทรงจำระยะยาว จนกระทั่งเมื่อโลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างสามารถค้นหาได้จากกูเกิล ทำให้ความทรงจำนั้นสั้นลง ไม่ว่าจะเป็นการจำคำศัพท์ หรือข้อมูลสั้น ๆ หลายคนก็ไม่สามารถจำได้แล้ว ดังนั้นพฤติกรรมที่คิดอะไรไม่ออก ก็เสิร์ชกูเกิลจนเป็นนิสัย ก็อาจจะต้องเพลา ๆ ลงบ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook