ขอโทษ คำนี้สำคัญอย่างไร ทำไมเราต้องฝึกกล่าว “ขอโทษ” จากใจจริง
“ขอโทษจริงๆ” “ก็ขอโทษด้วยแล้วกัน” “ผมเสียใจ ขอโทษ” “ก็ขอโทษพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยแล้วกัน”
ขอโทษ คำนี้แม้จะเป็นคำที่พูดที่ใครๆ ก็พูดได้ หลายคนพูดขอโทษติดปากทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด บางคนพูดขอโทษออกมาอย่างอัตโนมัติ แต่ความจริงแล้วคำ “ขอโทษ” นี้ไม่ได้มาจากธรรมชาติของมนุษย์ ตรงกันข้าม การขอโทษเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อรักษาความราบรื่นในเรื่องความสัมพันธ์ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหมู่สัตว์สังคมที่เรียกว่า “มนุษย์” ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ต่างก็มี อัตตา ยึดถือตัวตนของแต่ละบุคคลเป็นใหญ่
ดังนั้นเมื่อถึงกาลจะต้องเอ่ยคำ “ขอโทษ” ขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนั่นหมายถึงเราต้องยอมลดคำว่าอัตตาของเราลง พร้อมยอมรับในความผิดที่ทำลงไป จึงจะทำให้การขอโทษสำฤทธิ์ผลในแง่ที่ทำให้คนพูด สามารถพูดขอโทษออกมาจากใจจริงได้อย่างไม่รู้สึกขวยเขิน และคนฟังเองก็รับรู้ได้ถึงความรู้สึกผิดนั้นจนเกิดการให้อภัย และพร้อมที่จะสานต่อความสัมพันธ์ต่อไปได้
การขอโทษ คำนี้สำคัญในทุกวัฒนธรรม ถึงขั้นที่มีผู้ศึกษาค้นคว้าทั้งในแง่ความหมายและวิธีการขอโทษอยู่มากมายรวมไปถึงการขอโทษที่ใช้ในเวทีการเมืองและวงการบันเทิง เช่นในงานวิจัยเรื่อง การขอโทษในปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาว ของบุคคลในวงการบันเทิงไทย ซึ่งได้รวบรวมนิยามและความหมายของการขอโทษไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ กอฟแมน (Goffman, 1971) กล่าวว่า หน้าที่หลัก ของการขอโทษคือการสลัดภาพด้านลบของผู้แสดงการขอโทษออก และยังคงภาพด้านดีที่ต้องการนำเสนอไว้
ส่วนนักปรัชญากลุ่มเจตนานิยมอย่าง ออสติน (Austin, 1962) กล่าวถึง การขอโทษ ว่าเป็นการกล่าวถ้อยคำเพื่อแสดงการกระทำ โดยผู้พูดไม่ได้เพียงแต่กล่าวสิ่งที่เป็นจริงหรือเท็จเท่านั้น แต่ยังใช้ภาษาเพื่อกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย
ด้านเบอนัวต์ (Benoit, 1995) กล่าวว่าการขอโทษเป็นกลวิธีหนึ่งของการกู้ภาพลักษณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลสาธารณะได้กระทำความผิดโดยที่สังคมรับรู้และไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะการนิ่งเฉยอาจถูกพิจารณาว่าเป็นการยอมรับความผิด ส่งผลต่อเนื่องถึงหน้าตา ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงที่สั่งสมไว้ หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเสียหน้า หรือขอโทษเพื่อแก้ไขเมื่อเกิดการเสียหน้าขึ้นแล้ว
แต่บางครั้งการขอโทษก็เกิดจากสังคมรอบข้าง เช่น นิยามการขอโทษของ แฮริสและคณะ (Harris et al., 2006) ที่เห็นว่า บางกรณีการขอโทษของบุคคลสาธารณะก็เกิดขึ้นเพราะการกดดันจากกระแสสังคมที่เกิดการถกเถียงโต้แย้งเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ รวมไปถึงมีการเรียกร้องกดดันให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงการขอโทษ
ตัวอย่างที่สนับสนุนคำกล่าวของแฮริส เช่น ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ออกมาขอโทษกรณีสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าทาสชาวแอฟริกัน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขอโทษกรณีอังกฤษเข้ายึดครองดินแดนของชาวเมารี และ นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ขอโทษกรณีทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ เป็นต้น
How to “ขอโทษ” จากใจจริง
เมื่อการขอโทษไม่ได้เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ การฝึกกล่าวคำขอโทษจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น เช่นเดียวกับ How to ขอโทษอย่างไรให้มาจากใจจริงที่เราได้รวบรวมเป็นไอเดียในการฝึกที่จะกล่าวขอโทษไว้ ดังนี้
- รู้สึก : คำขอโทษไม่ใช่น้ำ “ยาลบความผิด” ที่ใครก็สามารถพูดได้ ดังนั้นก่อนจะพูดคำขอโทษออกมาเราต้องรู้สึกจริงๆ ว่าเราผิด การกระทำครั้งนี้ของเรามันผิดจริงๆ อาจจะไม่ใช่ความผิดต่อร่างกาย แต่ก็อาจจะผิดต่อจิตใจ ความรู้สึก ผิดต่อคุณธรรมความถูกต้อง ผิดต่อศีลธรรมของบ้านเมือง และเมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งนี้ผิดจริงๆ กำแพงของอัตตาที่บอกว่ามนุษย์ทุกคนย่อมผิดพลาดได้ก็จะค่อยๆ ลดลงจนทำให้เราอยากจะสารภาพความผิดนี้ออกไป
- สารภาพ : เมื่อเรารู้สึกผิดขั้นตอนต่อมาคือ สารภาพผิด หมายถึงการอธิบายความรู้สึกผิดของเราต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สารภาพว่าเราได้ทำอะไรลงไปอย่างไม่ปิดบัง จำไว้ว่าการสารภาพที่ล่าช้าเกินไปไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเท่ากับการปิดบัง เพราะนั่นจะกระตุ้นทำให้คนฟังเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า ความรู้สึกผิดที่เรากำลังสารภาพไปนั้นเกิดจากความจริงใจหรือไม่
- อย่าหาข้ออ้าง : การกล่าวขอโทษจะพังทลายความสัมพันธ์ลงทันทีหากผู้กล่าวคำขอโทษเริ่มหาข้ออ้าง โทษฟ้า โทษฝน โทษรถติด โทษความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะข้ออ้างเหล่านั้นแสดงถึงการที่คุณไม่ได้รู้สึกผิดจากใจจริง หนำซ้ำยังทำให้คนฟังรู้สึกว่าคุณได้โยนความผิดเหล่านี้ให้กับสิ่งรอบตัวที่กล่าวอ้างมา ไม่ได้เป็นการขอโทษที่เกิดจากตัวคุณจริงๆ ซึ่งในฮาวทูการขอโทษแทบทุกฉบับระบุไว้ตรงกันว่าหัวใจของการขอโทษคือ “ความจริงใจ”
- แก้ไข : นอกจากคำกล่าวขอโทษอย่างจริงใจแล้ว แน่นอนว่าผู้ฟังย่อมต้องการได้ยินแนวทางการแก้ไข หรือการสร้างความมั่นใจว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก คนกล่าวคำขอโทษตั้งใจจะแก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดนี้จริงๆ ซึ่งการแก้ไขจะไม่เกิดขึ้นหากผู้พูดคำว่าขอโทษไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้คือความผิดพลาดของตัวเองจริงๆ นั่นจึงทำให้เราต้องกลับไปจุดตั้งต้นของการฝึกฝนนั่นคือ คือการรู้สึกถึงความผิดนั้นจริงๆ ทางหนึ่งที่ทำได้คือลบความรู้สึกที่ว่า คนขอโทษ คือ ผู้แพ้ ทิ้งไป เพราะในสังคมแห่งความสัมพันธ์ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ มีก็แต่การปรับตัว ลดอัตตาเพื่อผสานสัมพันธ์ และการพร้อมแก้ไขข้อผิดพลาดก็เป็นอีกทางให้เราได้กลับมาสำรวจตัวเราเองอีกด้วย
- ถามหาการให้อภัยได้ แต่จงอย่าคาดหวัง : แน่นอนว่าสิ่งที่คนกล่าวคำขอโทษ คาดหวัง ก็คือการให้อภัยจากผู้ที่รับฟัง แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะได้ยินคำว่ายกโทษให้ตั้งแต่ครั้งแรก เพราะการขอโทษและการให้อภัยจะเกิดขึ้นได้เมื่อเกราะของอัตตาของแต่ละคนลดลง ไม่นับรวมความเชื่อมั่นในตัวผู้ฟังที่มีต่อผู้เอ่ยคำว่าขอโทษว่าจะไม่ทำผิดซ้ำๆ อีกต่อไป ดังนั้นทั้งการกล่าว “ขอโทษ” และการให้อภัยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องฝึกฝน ซึ่งพื้นฐานก็เหมือนกันนั่นคือ ความจริงใจที่จะขอโทษ และการให้อภัยจากใจจริง
หากคุณรู้สึกถึงความผิดนี้จริงๆ การขอโทษก็ไม่ยากเกินที่จะพูดออกมา