3 อารมณ์ที่ติดค้างในวัยเด็กกลายเป็นปมในวัยผู้ใหญ่
เรามักพูดกันว่าอดีตผ่านไปแล้วจะคิดถึงไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ดังนั้นควรอยู่กับปัจจุบันน่าจะเป็นการดีที่สุด แต่ก็นั่นแหละ แม้เราจะรู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่มีประโยชน์เลยที่จะคิดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว และควรก้าวเดินไปข้างหน้า แต่หลายคนก็ยังไม่สามารถทำได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์นัก เพราะแผลในอดีตบางแผล ยังคงตามมาวนเวียนและกลายเป็นปมที่ถูกเก็บเอาไว้ในใจ
โดยบาดแผลทางอารมณ์เหล่านั้นจะถูกเก็บเอาไว้ในจิตใต้สำนึก ในยามปกติคุณอาจคิดว่าตนเองก้าวข้ามได้แล้ว แต่เมื่อมีเรื่องหรือสิ่งเร้ามากระตุ้น บาดแผลทางอารมณ์นั้นจะชัดเจนในความทรงจำทันที เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเรามาทำความรู้จักบาดแผลทางอารมณ์ในวัยเด็กที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่ว่ามีอะไรกันบ้าง
1. บาดแผลทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับความรู้สึกมีอิสรภาพของคุณเอง
บางแผลทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับกับความรู้สึกมีอิสรภาพจะเกิดขึ้น เมื่อมีใครบางคนในชีวิตพยายามที่จะครอบงำคุณ และจำกัดเสรีภาพของคุณ คุณจะเติบโตมาโดยที่รู้สึกว่าความไว้ใจที่คุณจะมอบให้ผู้อื่นนั้นอาจต้องแลกมาด้วยอิสรภาพที่หายไป ดังเช่นชีวิตในวัยเด็กที่คุณจะถูกควบคุมโดยพ่อแม่ หรือ ผู้ปกครอง คุณจะเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ เพราะมักจะถูกตั้งคำถามเสมอเมื่อตัดสินใจทำอะไรลงไป และกลายเป็นว่าสิ่งที่คุณตัดสินใจกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ซึ่งการถูกควบคุมในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวัยเด็ก และได้ส่งผลต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่ เมื่อคุณต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจและบาดแผลที่อยู่ในจิตใต้สำนึกจะทำให้คุณรู้สึกลังเลในความสามารถของตนเอง
หนทางแก้ไข กับบาดแผลใจในลักษณะนี้คือการหันกลับไปเผชิญหน้ากับปมปัญหาในอดีต ทำความเข้าใจกับอิสรภาพที่ถูกจำกัด การตัดสินใจที่ไม่เคยได้รับการยอมรับ จากนั้นพยายามบอกตัวเองเสมอว่าชีวิตต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า และ คุณเองกล้าพอที่จะรับผิดชอบในทุกการตัดสินใจของตนเอง
2. บาดแผลทางอารมณ์ในวันเด็กที่ส่งผลต่อความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
หากชีวิตในวัยเด็กคุณต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้รับความสำคัญไม่ว่าจะเทศกาลใดๆ หรือ คนในครอบครัวไม่เคยให้ความสำคัญ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในวัยเด็กนั้นจะส่งผลเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาความรู้สึกมั่นใจในตนเอง หรือ รักตัวเอง เมื่อคุณโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะการถูกปฏิเสธนั้นเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ไม่ว่าจะเรื่องใดๆ และมีผลเป็นอย่างยิ่งต่อสภาพอารมณ์ของบุคคลที่ชีวิตถูกปฏิเสธมาโดยตลอด
ลักษณะของผู้ใหญ่ที่ขาดความภาคภูมิใจ เพราะมีบาดแผลทางอารมณ์จากวัยเด็กที่ถูกทำให้เป็นคนไม่สำคัญมาโดยตลอดนั้น จะทำให้เขาโตมาโดยขาดความมั่นใจ มีความรู้สึกโทษตัวเองตลอดเวลา ไม่รู้สึกว่าตนเองดีพอไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม และ มักจะลังเลในความสามารถของตนเอง ด้วยความรู้สึกดังกล่าวพวกเขามักจะยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น เพราะไม่อยากให้บาดแผลใจในอดีตถูกสะกิด
หนทางแก้ไข บาดแผลทางอารมณ์ในลักษณะนี้คือต้องลุกขึ้นมาลงมือทำในสิ่งที่คุณอยากทำสักเรื่อง (เรื่องเรียน หรือ การทำงาน) ให้ประสบผลสำเร็จเป็นการลงมือทำด้วยความทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อเอาชนะบาดแผลทางอารมณ์ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกที่มักกระซิบบอกกับคุณว่า “คุณนั้นไม่ดีพอ” เมื่อคุณลงมือทำและมุ่งมั่นทำให้จบแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก แต่เสียงกระซิบนั้นจะเบาลง เพราะคุณได้ลงมือทำแล้ว คุณได้พิสูจน์แล้วว่าคุณไม่ได้ยอมแพ้ง่ายๆเหมือนที่ผ่านมา
3. บาดแผลทางอารมณ์ในวัยเด็กที่เกี่ยวกับความรู้สึกขาดความรัก และ การมีความรัก
สิ่งสำคัญในวัยเด็กที่จะทำให้พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรักให้กับผู้อื่นและไม่เห็นแก่ตัว คือการได้รับความรักจากพ่อแม่ เพราะความรักจากพ่อแม่ และ ครอบครัว เป็นความรักเดียวของเด็ก หากพวกเขาต้องใช้ชีวิตโดยที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่ และครอบครัว อย่างที่ควรจะเป็นเพราะทุกคนมัวแต่สนใจเรื่องของตนเอง สนใจหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ ไม่มีแม้กระทั่งการสัมผัสทางกาย ไม่ว่าจะกอด หรือ หอมแก้ม
หากเด็กสักคนต้องเติบโตมาในครอบครัวซึ่งแห้งแล้งความรัก เขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่โหยหาความรัก หรือ หวาดกลัวที่จะมีความรัก ความรู้สึกดังกล่าวจะถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเมื่อถึงวัยที่จะมีความรักในรูปแบบของหนุ่มสาว บาดแผลในอดีตจะชัดเจนขึ้นมา การแสดงออกจะเป็นสองทางคือ ไม่กล้ารักใคร และ ต้องการความรักแบบไม่มีที่สิ้นสุด
หนทางแก้ไข บาดแผลใจในลักษณะนี้คือ การพบกับคนที่พร้อมจะทำให้คุณเป็นคนสำคัญ เป็นคนที่รักคุณจริง แต่เหนืออื่นใดคือคุณต้องรู้จักที่จะรักตัวเอง ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ในอดีตที่คุณกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แค่ดูให้รู้ว่า “ด้วยเหตุนั้นฉันจึงเป็นเช่นนี้” จากนั้นทำความเข้าใจกับความรู้สึกตัวเองแก้ไขตัวเองในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้ “เพราะเข้าใจอดีตจึงทำให้เกิดตัวฉันที่ดีขึ้นในอนาคต”
ทั้งสามบาดแผลทางอารมณ์ในวัยเด็กนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ทำหน้าที่พ่อแม่หรือ ผู้ปกครอง จะสามารถประคับประคองความรู้สึกไม่ให้เด็กต้องมีบาดแผลใจในลักษณะนี้ได้มากแค่ไหน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เด็กที่เติบโตมาด้วยอารมณ์ที่แหว่งวิ่น ก็มักจะกลายเป็นปัญหาที่สังคมต้องคอยมาตามแก้เมื่อผู้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่