7 วิธีจัดการกับ “ความโกรธ” ที่ทำได้ด้วยตนเอง
การหงุดหงิด หัวร้อน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่การควบคุมอารมณ์ตนเองได้ต่างหากที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดี ทำให้เกิดปัญหาบานปลายได้บ่อยครั้ง เพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เราจึงต้องพยายามกำจัดความโกรธออกไปให้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น การจัดการกับอารมณ์โกรธหรือหัวร้อนของตัวเอง ยังแสดงให้เห็นถึงการมีวุฒิภาวะและมีทักษะในการควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนควรจะมี และองค์กรต่าง ๆ ก็ต้องการคนประเภทนี้ ฉะนั้น Tonkit360 จะมาแนะนำวิธีสยบความโกรธด้วยตัวเองมาให้ทุกคนลองฝึกดู
1. หายใจเข้า หายใจออกลึก ๆ ช้า ๆ
เป็นวิธีเบสิกที่สุดแล้วในการพยายามสงบจิตสงบใจ อาจไม่ต้องถึงขั้นภาวนาพุทโธ แต่จดจ่อกับลมหายใจของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะอย่างน้อยเราก็ได้พาตัวเองออกมาจากจุดที่ใช้แต่อารมณ์ได้ นอกจากนี้ การหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ ยังทำให้ร่างกายของเราได้รับออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นกว่าการหายใจเร็ว ๆ แรง ๆ ในเวลาที่โกรธเลือดขึ้นหน้า อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตลดลง ซึ่งจะทำให้เราผ่อนคลายและมีสติมากขึ้นด้วย
2. นับ 1-10 ในใจ
หรือจะนับให้ถึง 100 ไปเลยก็ได้ ถ้าจะทำให้เราอารมณ์เย็นลงได้ ลองหลับตาแล้วเริ่มนับเลขไปจนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น เพราะการที่เราหันมาจดจ่อกับการนับเลขจะช่วยให้เราได้หยุดพักความรู้สึกโกรธ แล้วหันมาใช้สมาธิกับตัวเลขแทน ถ้าหากรู้ว่าตัวเองนับผิดหรือจำไม่ได้ว่าถึงไหนแล้ว ให้เริ่มต้นกลับมานับ 1 ใหม่ เพราะถ้าเราไม่อยากจะต้องเริ่มต้นนับใหม่หลาย ๆ รอบ ก็จะค่อย ๆ ใจเย็นลงได้เอง (หรือหันมาโกรธตัวเองแทน)
3. ทำอะไรให้ช้าลง และทำทีละอย่าง
การที่เราต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน หรือทำอะไรรวดเร็วเกินไปก็ทำให้เราหงุดหงิดหัวร้อน จนปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำการกระทำทุกอย่างได้เหมือนกัน ฉะนั้น เบรกตัวเองแล้วหันมาทำอะไรให้ช้าลง พูดให้ช้าลง ค่อย ๆ อธิบาย เพื่อจะได้มีเวลากลั่นกรองคำพูด ไม่หลุดพ่นคำสบถ ผรุสวาท หรือคำที่ทำร้ายจิตใจคนอื่นออกมา จะทำอะไรก็ค่อย ๆ ทำทีละอย่างใจเย็น ไม่ต้องรีบ จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มาก ๆ
4. ฟังให้มากกว่าพูด
แน่นอนว่าเมื่อเกิดอารมณ์โกรธหรือหัวร้อนขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วอารมณ์จะอยู่เหนือเหตุผล และเราก็จะนึกถึงแต่ตัวเอง แทบจะไม่สนใจฟังเลยว่าคนอื่นจะพูดอะไร ซึ่งเขาอาจจะกำลังอธิบายเหตุผลของเขาอยู่ก็ได้ ฉะนั้น ลองเปิดใจให้กว้างแล้วรับฟังคนอื่นบ้าง บางทีเราอาจจะเห็นจะพบกับความจริงอีกด้านที่เราไม่เคยสนใจ เพราะมัวแต่ปิดกั้น เอาตัวเองเป็นใหญ่อยู่ก็ได้ ลองฝึกพูดให้น้อยลง แต่ฟังคนอื่นให้มากขึ้นดู แล้วจะพบว่ามันดีกว่าที่คิด
5. หลบไปสงบสติอารมณ์
ถ้าพยายามจะใจเย็นกับสถานการณ์ตรงหน้าแล้วแต่ไม่เป็นผล หลบออกมาเถอะ ออกมาสงบจิตสงบใจ ออกมาอยู่กับตัวเองสักพัก หรือหาคนที่เรารู้สึกอุ่นใจได้แล้วระบายความรู้สึกอัดอั้นนั้นบ้างก็ได้ ไปล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นเรียกสติกลับมา ให้อารมณ์ได้เย็นลงหน่อยแล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่ อย่างน้อยก็มีเหตุผลมากกว่าตอนที่หัวร้อนแน่นอน
6. ขอโทษให้ได้ ให้อภัยให้เป็น
พูดขอโทษให้ได้ หากเราเป็นคนผิด หรือต่อให้เราไม่ผิด ก็พูดขอโทษได้เหมือนกัน การขอโทษไม่ได้แปลว่าเราต้องเป็นคนผิดในสถานการณ์นั้นเสมอไป แต่อาจจะขอโทษด้วยเหตุผลที่ว่าแสดงอารมณ์ที่ไม่ดีออกมา เชื่อเถอะว่าจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น สถานการณ์ก็ดีขึ้นด้วย ในทางกลับกัน ถ้าอีกฝ่ายขอโทษแล้ว ปล่อยผ่านได้ก็ปล่อยผ่านบ้าง หากไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย รู้ไหมว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้จะช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลย
7. หาอะไรกิน
บางทีการที่เราหงุดหงิด หัวร้อน วีนแตก พาลคนอื่นเขาไปทั่ว อาจจะมาจากการที่ร่างกายขาดน้ำตาลก็เป็นได้ ต้องเพิ่มสารตั้งต้นความสุขอย่างเอ็นโดรฟินให้หลั่งออกมาช่วย ซึ่งเอ็นโดรฟินจะช่วยให้เรารู้สึกดี สบายตัว และใจเย็นลง ลองหาของหวานกินเพิ่มน้ำตาลในเลือด หรือกินอาหารที่มีรสเย็น ๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน จะทำให้เราชื่นใจ สดชื่น ผ่อนคลาย และหายจากอารมณ์เหวี่ยงวีนได้เยอะเลยทีเดียว