ธรรมเนียมการฉลอง “วันเกิด” ใครเป็นคนริเริ่ม?

ธรรมเนียมการฉลอง “วันเกิด” ใครเป็นคนริเริ่ม?

ธรรมเนียมการฉลอง “วันเกิด” ใครเป็นคนริเริ่ม?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“สุขสันต์วันเกิดนะคะ”

จริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะอวยพรวันเกิดใครเป็นพิเศษ แต่เมื่อใดก็ตามที่ได้กลับมาเปิดบทความนี้อีก จะได้เห็นคำอวยพร “สุขสันต์วันเกิด” ตลอดไป

ปกติเมื่อถึงวันเกิดเราก็เฉลิมฉลองกันปกติ แต่หลายคนอาจสงสัยว่าใครกันที่เป็นคนที่ริเริ่มการจัดงานวันเกิดขึ้นบนโลก

ข้อสันนิษฐานในการเริ่มเฉลิมฉลองวันเกิด

มีนักประวัติศาสตร์หลายคนพยายามตั้งสมมติฐานในการจัดงานวันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกว่ามีที่มาจากไหนแล้วก็พบว่า การพูดถึงวันเกิดมีขึ้นหลังจากที่มีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิทิน” เกิดขึ้นบนโลกแล้ว วันเกิดมีขึ้นสำหรับเป็นสิ่งที่แสดงความเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุของคนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จากนั้นมา วันเกิดเลยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับคนคนหนึ่งขึ้นมา เพราะเป็นโอกาสที่จะได้เฉลิมฉลองวันสำคัญของตัวเอง

เรื่องของวันเกิดที่เก่าแก่ที่สุด ถูกอ้างขึ้นในสมัยอียิปต์ ด้วยมีบันทึกวันเกิดของฟาโรห์ แต่การศึกษาเพิ่มเติมก็พบข้อโต้แย้งว่าวันเกิดที่ว่าอาจจะเป็นการกำเนิดเทพเจ้าสำคัญของอียิปต์มากกว่า แต่คนอียิปต์ยุคโบราณก็นับถือฟาโรห์เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งเหมือนกัน เลยยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด

ต่อมา วันเกิดก็เริ่มมีการพูดถึงโดยชาวกรีกโบราณ ที่มีความเชื่อว่าคนทุกคนมีเพพเจ้าที่สถิตอยู่ในวันเกิดของตัวเอง ซึ่งจะคอยปกป้องดูแลเจ้าของวันเกิด จึงต้องมีการบูชาประจำปี

การจัดวันเกิดของคนธรรมดา

ก่อนหน้านี้ วันเกิดถูกสงวนให้พูดถึงเฉพาะเทพเจ้าที่สำคัญของอารยธรรมต่าง ๆ แต่เชื่อกันว่า ชาวโรมันโบราณเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่คิดการเฉลิมฉลองวันเกิดของคนธรรมดาขึ้นมา คนทั่วไปจะมีวันเกิดและมีการเฉลิมฉลองในวันนี้ รวมถึงทางราชการยังได้เริ่มมีวันหยุดราชการขึ้นมาให้กับวันเกิดของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา อย่างพวกคนที่สร้างคุณงามความดี สร้างชื่อเสียงต่าง ๆ

ในวันเกิด ชาวโรมันที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะได้รับของขวัญพิเศษเป็นขนมปังที่ทำจากแป้งสาลี ชีสขูด น้ำผึ้ง และน้ำมันมะกอกในการเฉลิมฉลอง แต่ระยะแรกมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่ได้รับสิทธินี้ ส่วนผู้หญิงไม่มีบันทึกการเฉลิมฉลองวันเกิดเลยจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีศาสนาขึ้นบนโลก วันเกิดกลายเป็นพิธีกรรมนอกรีตในวัฒนธรรมคริสเตียน เพราะชาวคริสเตียนเชื่อว่าคนทุกคนที่เกิดมามีบาปติดตัวมา การเฉลิมฉลองวันเกิดก็เท่ากับเป็นการเฉลิมฉลองความชั่วร้าย ซึ่งชาวคริสเตียนมีความคิดเช่นนี้อยู่ราว ๆ 200-300 ปีแรกที่มีศาสนาคริสต์ จนกระทั่งช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ชาวคริสเตียนก็ทิ้งความคิดเก่านี้ไป แล้วเริ่มเฉลิมฉลองวันเกิดให้กับพระศาสดาหรือพระเยซู ที่สืบเนื่องมาเป็นวันคริสต์มาสในปัจจุบัน

หลังจากนั้นมา ธรรมเนียมการเฉลิมฉลองวันเกิดจึงได้แพร่หลายไปทั่วโลก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงจะมาร่วมฉลองงานวันเกิดของผู้ที่เกิดในวันนั้น ๆ มีการมอบเค้ก ร้องเพลง อธิษฐาน เป่าเทียน และมีการมอบของขวัญและการ์ดอวยพรวันเกิดตามมา

ที่มาของเค้กและเทียนวันเกิด

เริ่มต้นโดยชาวกรีกที่พยายามจะบูชาเทพเจ้าอาร์เตมิส ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ เพื่อเป็นการบูชาอาร์เตมิส ชาวกรีกจะทำเค้กรูปพระจันทร์ที่ปักด้วยเทียนที่จุดไฟแล้ว เพื่อให้อาร์เตมิสรับรู้ถึงการบูชานี้ นอกจากนี้ การจุดเทียนยังเป็นการส่งสัญญาณหรือคำอธิษฐานไปยังพระเจ้า และการเป่าเทียนหลังจากที่ขอพรแล้ว ก็คือการส่งสิ่งที่ตนปรารถนาไปขอเทพเจ้านั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นัยดั้งเดิมของการเป่าเทียนวันเกิด สันนิษฐานว่าชาวกรีกได้รับเอาประเพณีบูชาวันเกิดของเทพเจ้ามาใช้บ้าง ในเมื่อวันเกิดเป็นวันที่คนแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ในความมืด จะมีสิ่งชั่วร้ายอยู่เต็มไปหมด พวกเขาจึงจุดเทียนขึ้นมาเพื่อเป็นแสงสว่างเล็ก ๆ ในความมืดนั้น แล้วเป่าให้ดับเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป

ต่อมามีการอ้างว่า คนที่มีอาชีพทำขนมปังชาวเยอรมนี เป็นคนที่คิดค้นเค้กวันเกิดแบบที่เราใช้จุดเทียนเฉลิมฉลองกันในปัจจุบันขึ้น ในวันเกิดที่มีชื่อว่า Kinderfeste ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเฉลิมฉลองวันเกิดให้กับเด็ก ๆ จึงได้ทำขนมเค้กให้เด็ก ๆ ได้กินในโอกาสพิเศษ ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะได้รับเทียน 1 เล่มเพื่อขอพรในวันพิเศษของตนเอง

ในช่วงเวลานั้น หลาย ๆ คนก็ได้มีเค้กสำหรับฉลองในวันเกิดของตนเอง แต่เค้กวันเกิดก็ถูกสงวนไว้เฉพาะคนที่ร่ำรวยเท่านั้น เพราะน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเค้กเป็นสิ่งที่หายากและมีราคาแพง มาจนถึงช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม น้ำตาล รวมไปถึงส่วนผสมต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับทำขนมเค้กเป็นสิ่งที่ไม่ได้หายากเท่าแต่ก่อน ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมทำให้มีส่วนผสมในการทำเบเกอรี่หาง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีการทำเค้กสำเร็จรูปในราคาประหยัดเพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสฉลองวันเกิดด้วยเค้กด้วย

ที่มาของเพลงอวยพรวันเกิด Happy Birthday (to you)

สำหรับเพลง “Happy Birthday (to you)” ที่เราใช้ร้องอวยพรวันเกิดนั้นก็มีประวัติความเป็นมาเช่นกัน โดย “Happy Birthday (to you)” นี้ ตามที่ Guinness World Records ได้บันทึกไว้ เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการอวยพรวันเกิด เพลงนี้จึงถูกแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อย่างน้อย 18 ภาษา แล้วกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ทำนองเพลง Happy Birthday เรียบเรียงขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และถูกนำมาใช้ครั้งแรกในเพลง Good Morning to All มีที่มาจากครูผู้หญิง 2 คนที่สอนหนังสืออยู่ที่ Louisville Experimental Kindergarten School ในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา คือ Patty Hill. เป็นผู้คิดเนื้อเพลง และ Mildred J. Hill. เป็นผู้แต่งทำนอง

ต่อมาเพลง Good Morning to All ที่พัฒนาขึ้นโดยครูทั้งสอง ก็ได้รับการตีพิมพ์ลงใน Song Stories for the Kindergarten ในปี 1893 เพื่อใช้เป็นเพลงที่ร้องต้อนรับเด็กนักเรียนในทุกเช้า แต่ต่อมาเด็ก ๆ ก็เริ่มที่จะร้องเพลงนี้เพื่อต้อนรับครูด้วยเช่นเดียวกัน

ในปี 1924 เพลง Good Morning to All ถูกตีพิมพ์ในหนังสือของ Robert H. Coleman ในเวอร์ชันที่แก้ไขดัดแปลงบ้างแล้ว กลายเป็นว่า Good Morning to All เวอร์ชันใหม่นี้ทำให้เวอร์ชันเก่าค่อย ๆ เลือนหายไป เนื่องจากมีการใช้เพลงนี้ในการแสดงบรอดเวย์ในปี 1931 และ 2-3 ปีให้หลัง ก็เพลงที่ใช้ในการส่งโทรเลขของ Western Union ด้วย ทำให้เพลงเวอร์ชันใหม่โด่งดังขึ้นมากลบของเก่าไปอย่างแทบไม่เห็นเงาเลย

นั่นทำให้ Jessica Hill น้องสาวของ Mildred และ Patty ได้ออกมาเรียกร้องเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่พี่สาวทั้งสองเป็นคนพัฒนาขึ้น แต่เพลงนี้ก็มีคนพยายามอ้างลิขสิทธิ์อยู่หลายต่อหลายคน รวมถึงมีทฤษฎีที่บอกว่าครูสาวทั้ง 2 ก็ไปลอกเลียนทำนองเพลงอื่นมาเหมือนกัน ทำให้เป็นคดีความกันอยู่นานหลายปี จนในปี 2016 Jessica Hill ชนะคดี ได้มีการจ่ายค่าเสียหายลิขสิทธิ์เพลงนี้มากถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งศาลตัดสินว่าเพลงนี้เป็นสาธารณสมบัติและการแสดงต่าง ๆ จะไม่อยู่ภายใต้ค่าลิขสิทธิ์หรือถูกจำกัดแต่อย่างใด นั่นจึงหมายความว่าเพลงนี้มีเจ้าของ แต่สามารถใช้ร้องกันได้โดยทั่วไปโดยไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

เพลง Happy Birthday โด่งดังถึงขีดสุด เพราะใช้ร้องฉลองในวันเกิดของประธานาธิบดี จอห์ เอฟ. เคนเนดีแห่งสหรัฐอเมริการในปี 1962 ขับร้องโดยมาริลีน มอนโร และอีกครั้งในปี 1969 โดยทีมงานนักบินอวกาศยาน Apollo 9 ที่กำลังโคจรอยู่ ร้องเพลงนี้ให้กับ Christopher Kraft ซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การนาซ่าในขณะนั้น

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมเพลงที่ร้องซ้ำ ๆ ด้วยวลีเดียว 4 ครั้ง อย่าง Happy Birthday (to you) นี้จึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และมีผลต่อวัฒนธรรมของโลกดนตรีด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook