กระบวนการทาง “วิทยาศาสตร์” ที่น่าสนใจในการสืบคดี

กระบวนการทาง “วิทยาศาสตร์” ที่น่าสนใจในการสืบคดี

กระบวนการทาง “วิทยาศาสตร์” ที่น่าสนใจในการสืบคดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเกิดคดีความขึ้น ย่อมมีคู่กรณี และสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้ความยุติธรรมกับคู่กรณีทุกฝ่ายคือ “พยาน” โดยปกติแล้ว การหาพยานจากคดีความต่าง ๆ จะมีพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ หรือที่เรียกว่า “หลักฐาน” ดังนั้นการจะชี้ตัวคนผิดได้อย่างแม่นยำและลดโอกาสการจับแพะ จึงต้องมีกระบวนการในการพิสูจน์หลักฐาน

หากลองพิจารณาดูเล่น ๆ จะพบว่า พยานบุคคลเป็นพยานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ เพราะพยานบุคคลสามารถให้การเท็จได้ หากใครที่โกหกเก่ง ๆ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะจับพิรุธไม่ได้ ต่อมาที่พยานเอกสาร แม้จะเป็นพยานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถปลอมแปลงขึ้นมาได้เช่นกัน ดังนั้น พยานวัตถุจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยไขปริศนาให้กระจ่างชัด เพราะปลอมแปลงขึ้นมายาก อีกทั้งยังสามารถเก็บพิสูจน์ได้ชัดเจนในที่เกิดเหตุ

เพื่อผดุงความยุติธรรม และการตรวจสอบหาความจริง จึงจำเป็นต้องนำวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์คดี เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการใช้หลักการ การใช้เหตุผล จนนำมาสู่การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์หาคำตอบของสมมติฐาน จนได้ข้อสรุปที่สามารถพิสูจน์ย้อนกลับได้ Tonkit360 จึงจะมาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการพิสูจน์ทราบหลักฐานด้วยกระบวนการทาง “นิติวิทยาศาสตร์” เพื่อหาความจริง และผู้ที่กระทำผิดในคดี ซึ่งเป็นนิติวิทยาศาสตร์ที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคย

1. การตรวจลายนิ้วมือ

ลายนิ้วมือ เป็นสิ่งที่เฉพาะบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยที่มีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่ลายนิ้วมือของเราจะไปซ้ำกับบุคคลอื่นบนโลกนี้ โดยมีโอกาสเพียง 1 ใน 64,000 ล้านคนเท่านั้น แม้แต่ฝาแฝดที่เกิดมาจากไข่ใบเดียวกัน แรงดันภายในมดลูกยังทำให้ลายนิ้วมือแตกต่างกัน อีกทั้งลายนิ้วมือของมนุษย์เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงไม่สามารถทำให้ลายนิ้วมือของเราหายไปได้ด้วย

ประโยชน์ของการใช้ลายนิ้วมือในกระบวนการสืบคดีความ ใช้ในการสืบหาอาชญากร เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและใช้ระบุตัวคนร้ายได้ชัดเจน รวมถึงใช้ในการเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมือที่นำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีการระบุตัวตนที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล

2. การตรวจ DNA

DNA เป็นสารพันธุกรรมที่เป็นส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรม และถ่ายทอดรหัสทางพันธุกรรม จึงเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต แทบทุกเซลล์ในร่างกายล้วนมี DNA อยู่ ดังนั้น DNA จึงนำมาใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล รวมถึงพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้

กรณีตัวอย่างการตรวจ DNA ที่เราคุ้นเคย คือ การพิสูจน์ตัวบุคคลของศพนิรนามที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ตายเป็นใคร ในกรณีนี้ จะต้องนำ DNA ของศพมาเปรียบเทียบกับ DNA ต้นแบบ เช่น การที่พบศพนิรนามศพหนึ่ง ในเวลาใกล้เคียงกันกับที่ นาย ก. หายตัวไป ซึ่งทางญาติที่แจ้งหายก็มี DNA ของนาย ก. เพื่อใช้เปรียบเทียบกับศพที่พบ หาก DNA ทั้ง 2 ตรงกัน ศพนั้นก็คือ นาย ก.

อีกกรณีคือการตรวจหาอาชญากร ซึ่งก็ใช้หลักการเดียวกัน โดยเปรียบเทียบกับ DNA ของญาติ หากพบ DNA ในที่เกิดเหตุ และสงสัยว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นคนในครอบครัว หรือ DNA ที่พบจากพยานวัตถุในที่เกิดเหตุ ก็นำไประบุตัวผู้กระทำผิดต่อไป

3. การชันสูตรพลิกศพ

เป็นการพิสูจน์หลักฐานด้วยวิชานิติเวชศาสตร์ เป็นการใช้เทคนิคทางการแพทย์เพื่อพิสูจน์หลักฐานทางคดี โดยเฉพาะสาเหตุการตาย เวลาในการตาย และผู้ตายเป็นใคร ส่วนมากการชันสูตรพลิกศพจะกระทำเมื่อมีเหตุสงสัยว่าเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ 5 ลักษณะ คือ การฆ่าตัวตาย การถูกผู้อื่นทำให้ตาย การถูกสัตว์ร้ายทำร้ายตาย การตายโดยอุบัติเหตุ และการตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ ซึ่งวิธีการชันสูตรศพในประเทศไทยมีอยู่ 2 วิธี คือการชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่า และการชันสูตรพลิกศพโดยผ่าศพตรวจ ซึ่งเราคุ้นเคยดีกับคดี “น้องชมพู่”

การชันสูตรพลิกศพโดยไม่ผ่า เป็นการตรวจสภาพภายนอกของศพ โดยดูจากเพศ ประมาณอายุจากสภาพร่างกาย เชื้อชาติ หรือสิ่งของติดตัว เพื่อพิจารณาว่าผู้ตายคือใคร ดูสภาพการเปลี่ยนแปลงของศพหลังการตาย เพื่อประมาณเวลาตาย ดูลักษณะบาดแผลที่ปรากฏเพื่อสันนิษฐานสาเหตุของการตายซึ่งการตรวจดังกล่าวจะต้องพลิกศพดูทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จึงเป็นที่มาของคำว่า “พลิกศพ”

สภาพการเปลี่ยนแปลงของศพหลังการตาย เป็นการตรวจสภาพร่างกายของผู้ตาย เป็นการประเมินขั้นต้นตั้งแต่การพบศพ เพื่อสันนิษฐานสาเหตุการตายและเวลาในการตาย โดยดูจาก

  • รอยเขียวช้ำหลังตาย หรือรอยจ้ำเลือดตกสู่ที่ต่ำ คือ การตกของเม็ดเลือดแดงตามแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตแล้ว ใช้สันนิษฐานเวลาตายคร่าว ๆ
  • สภาพแข็งทื่อหลังตาย หรือการแข็งตัวของศพ เป็นอีกวิธีที่ใช้สันนิษฐานเวลาตายได้คร่าว ๆ ใช้ประโยชน์ในการสืบสวนเกี่ยวกับกรณีศพที่ถูกเคลื่อนย้ายไปมาได้
  • การลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตาย จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อตายแล้วอุณหภูมิภายในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ อย่างปกติอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์จะอยู่ที่ประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส เมื่อมนุษย์ตายลง อุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายจะเปลี่ยนแปลง หลังจากเสียชีวิตอุณหภูมิของร่างกายจะลดลงเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสต่อชั่วโมง ซึ่งการลดลงของอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ สามารถนำไปใช้ในการคำนวณเพื่อหาระยะเวลาการตาย
  • การเน่าเปื่อย เมื่อตาย หัวใจหยุดเต้น ศพจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตามลำดับ โดยเรียงจาก 3 ข้อด้านบนก่อน ส่วนการเน่าเปื่อยจะเกิดขึ้นในลำดับสุดท้าย การเน่าสลายในช่วงแรก คือเริ่มมีน้ำเหลืองไหลออกมาจากทวารทั้ง 5 สภาพศพเริ่มขึ้นอืด มีกลิ่นเหม็นเน่า จากนั้นอวัยวะบางส่วนจะหลุดลอกออกจนเริ่มเห็นกระดูกและอวัยวะภายใน ต่อมาเส้นเอ็นจะเริ่มหลุด รวมถึงกระดูกที่มีลักษณะเป็นข้อต่อก็จะหลุดออกจากกัน การเน่าสลายจะสิ้นสุดในระยะเวลาประมาณ 1 ปี (ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย) โดยที่ศพจะเหลือเพียงโครงกระดูกขาวโพลน ไม่มีเนื้อเยื่อใด ๆ หลงเหลือ
  • การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะอาหารที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายในร่างกาย ใช้บอกระยะเวลาการตายได้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมื้ออาหารที่ผู้ตายกิน และสารอาหารที่ผู้ตายกิน ซึ่งปกติกระบวนการย่อยอาหารของมนุษย์จะย่อยสารอาหารแต่ละอย่างในเวลาที่ต่างกัน
  • การเจริญเติบโตของหนอนที่พบในศพ เมื่อศพอยู่ในสภาพเน่า อาจพบหนอนในศพช่วงระยะเวลาประมาณ 3-4 วันหลังจากตาย ซึ่งการเจริญเติบโตของหนอนที่พบในศพ สามารถเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยบ่งบอกระยะเวลาการตายของผู้ตายได้

การชันสูตรพลิกศพโดยผ่าศพตรวจ จะกระทำเมื่อมีเหตุจำเป็นในการหาสาเหตุการตาย ในกรณีที่การพลิกศพโดยไม่ผ่าไม่สามารถบอกสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน ผ่าศพจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพิสูจน์หาสาเหตุการตาย สามารถตอบปัญหา และข้อสงสัยจากการพลิกศพได้ เพราะการผ่าศพจะทำให้รู้ว่าบาดแผลนั้นเกิดจากอาวุธหรือวัตถุอะไร จุดตายอยู่ตรงไหน หรือในกรณีที่การพลิกศพไม่พบบาดแผลปรากฏภายนอกให้เห็น ก็ทำให้รู้ว่าอวัยวะภายในใดที่เสียหายจนเป็นสาเหตุการตาย ซึ่งอาจจะตรวจดูและสรุปผลได้ด้วยตาเปล่า หรือการตัดเนื้อเยื่อไปส่งตรวจ

4. การตรวจเลือดในที่เกิดเหตุ

เป็นกระบวนการตรวจด้วยกระบวนการทางเคมี เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อเหตุทำลายหลักฐาน โดยเฉพาะการฆาตกรรม ผู้ก่อเหตุจะทำความสะอาดคราบเลือด แม้ว่าจะใช้น้ำล้างได้ ใช้ไม้ถูพื้นทำความสะอาดแล้วก็ตาม แต่ยังมีร่องรอยเลือดอยู่ถึงจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นก็ตาม

การตรวจจะใช้สารเคมี “ลูมินอล” ซึ่งอยู่ในสถานะของแข็ง เป็นผงที่มีคุณสมบัติเป็นสารเรืองแสง มาผสมกับของเหลวที่มีส่วนประสมของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นหลัก ลูมินอลจะทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็กที่อยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง เจ้าหน้าที่จะใช้สารเคมีนี้ พ่นเป็นละอองฝอยบนพื้นที่ที่สงสัยว่าจะมีคราบเลือด จากนั้นจะใช้ไฟฉายแสงยูวีส่อง ก็จะเห็นคราบเลือดเรืองแสงสีน้ำเงินอมเขียว

5. การตรวจสอบคดีที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนน

อุบัติเหตุบนท้องถนน จะต้องมีรถเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรถชนกับรถ รถชนกับคน หรืออุบัติเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เพราะหากเป็นอุบัติเหตุรุนแรง ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตทั้งหมด ก็ยากที่จะทราบข้อเท็จจริงในการเกิดเหตุ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตรวจสอบด้วยกระบวนการทางฟิสิกส์มาช่วยตรวจสอบ

อย่างเช่น การคำนวณหาความเร็วของรถขณะเกิดอุบัติเหตุ เพื่อประเมินในทางคดีว่าเป็นการประมาท หรือจงใจ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ลักษณะและทิศทางในการชน รอยเหยียบเบรก แรงกระทำ การทำแผนที่การชน การวัดระยะการชน ร่องรอยความเสียหาย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งสูตรการคำนวณในทางฟิสิกส์ทั้งสิ้น อย่างคดีดังที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ คือคดี “บอสอยู่วิทยา”

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสืบหาความจริงเกี่ยวกับคดีความ ทั้งหาสาเหตุ หาผู้กระทำผิด หรือแม้แต่หาว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook