ต้นกำเนิด โรงเรียนการป่าไม้ แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ที่เมืองแพร่
เมื่อปี พ.ศ. 2478 สถาบันการศึกษาแห่งแรกของกรมป่าไม้และของไทย ในชื่อ โรงเรียนการป่าไม้ เกิดขึ้นที่จังหวัดแพร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ในเวียง อ.เมือง เป็นอาคารสถานเรือนไม้สักหลังเก่า มรดกจากบริษัทค้าไม้สัญชาติเดนมาร์ก บริษัท อีสต์เอเชียติก จำกัด ซึ่งทางบริษัทได้มอบอาคารไม้ทั้งหมด 3 หลัง ให้รัฐบาลสยาม หลังจากอีสต์เอเชียติกหมดสัญญาสัมปทานป่าไม้
ต่อมา โรงเรียนการป่าไม้ ถูกยกฐานะเป็น วิทยาลัยวนศาสตร์ สอนระดับอนุปริญญา และกลายเป็นคณะวนศาสตร์สอนระดับปริญญาตรี กระทั่งปี พ.ศ.2486 ได้ย้ายสถานที่เรียนจากแพร่มาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน
การเกิด โรงเรียนการป่าไม้ เป็นผลสืบเนื่องจากการทำป่าไม้สมัยใหม่ ซึ่งได้เริ่มต้นในสยามที่เมืองแพร่ เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและเต็มไปด้วยทรัพยากรไม้สัก โดยสามารถลำดับเหตุการณ์ตามไทม์ไลน์อุตสาหกรรมป่าไม้ในเมืองแพร่ได้ดังนี้
โรงเรียนการป่าไม้ภายในพิพิธภัณฑ์ไม้สัก จัดแสดงเครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ยุคก่อน
- พ.ศ. 2449 กำเนิด “การป่าไม้สมัยใหม่” ในแผ่นดินสยาม เมื่อรัฐบาลเปิดสัมปทานทำไม้ในแพร่ ให้กับบริษัทต่างชาติรายใหญ่อย่าง บริษัท บอมเบย์เบอร์มา และ บริษัทอีสต์เอเชียติก จำกัด (จากประเทศเดนมาร์ก) ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์จากไม้สัก และได้เช่าพื้นที่ 6 ไร่ ในเขตตำบลเวียง อำเภอเมืองแพร่ เพื่อสร้างอาคารสำนักงาน
- พ.ศ. 2458 รัฐบาลไทยจัดตั้ง โรงเรียนสอนวิชาการป่าไม้ แห่งแรก เปิดสอนวิชาการป่าไม้เบื้องต้น หลักสูตร 2 ปี ในแผนกยันตรศึกษา โรงเรียนข้าราชการพลเรือน วังใหม่สระปทุม กรุงเทพฯ แต่เปิดมา 3 ปี ไม่มีผู้สนใจเรียนจึงต้องยุบไปในที่สุด
- พ.ศ. 2478 บริษัทอีสต์เอเชียติก หมดสัญญาสัมปทานป่าไม้ และมอบสถานที่รวมถึงอาคารที่ทำการบริษัทให้กรมป่าไม้ ซึ่งต่อไม้ได้ใช้เป็น “กองโรงเรียนป่าไม้” หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ โรงเรียนการป่าไม้ สอนวิชาการป่าไม้ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สำหรับต่อยอดการศึกษาของผู้เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 (สมัยนั้น มัธยมศึกษา มีถึง มศ.1-มศ.8) ปีแรกๆ รับนักศึกษาปีละ 25 คน
- พ.ศ. 2482 โรงเรียนการป่าไม้ เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวนศาสตร์” ต่อมาถูกยกฐานะเป็น วิทยาลัยวนศาสตร์
โรงเรียนการป่าไม้บ้านไม้ซึ่งเคยเป็นสำนักงานของ บริษัท บอมเบย์เบอร์มา ปัจจุบันถูกทุบทิ้งด้วยข้ออ้างของการปรับปรุงซ่อมแซม
- พ.ศ.2486 มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้วิทยาลัยวนศาสตร์เมืองแพร่ถูกยกฐานะเป็น คณะวนศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และย้ายสถานที่เรียนจาก ต.ในเวียง อ.เมืองแพร่ มาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ
- พ.ศ.2499 คณะวนศาสตร์ขยายหลักสูตรจากระดับประกาศนียบัตรเป็นระดับปริญญาตรี เรียน 5 ปี และในปีเดียวกันนั้น กรมป่าไม้ ได้เปิด โรงเรียนการป่าไม้แแพร่ ขึ้นอีกครั้ง เพื่อเปิดหลักสูตรอบรมประกาศนียบัตรวิชาการป่าไม้ 2 ปี สำหรับข้าราชการกรมป่าไม้เท่านั้น
- พ.ศ. 2504 โรงเรียนการป่าไม้แพร่ เปิดรับบุคคลภายนอกที่จบการศึกษา มศ.8 (สายวิทย์-คณิต)
- พ.ศ. 2536 โรงเรียนการป่าไม้แพร่ ปิดตัวอย่างถาวร แต่ยังคงพื้นที่และอาคารเก่า ที่รับมรดกตกทอดจากอีสต์เอเชียติก ที่ยังเหลืออยู่เพียง 3 หลัง เพราะหลังอื่นๆ ที่ทรุดโทรมและได้ถูกรัฐบาลรื้อถอนตั้งแต่หมดสัญญาสัมปทานเมื่อปี พ.ศ. 2478 แล้ว
- พ.ศ. 2545 โรงเรียนการป่าไม้แพร่เดิมถูกเปิดเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมที่ 1 (แพร่)” สังกัดกองฝึกอบรม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับอบรมข้าราชการ พนักงานในสังกัดและประชาชนทั่วไป
- ปัจจุบัน โรงเรียนการป่าไม้แพร่ ถูกใช้เป็น “พิพิธภัณฑ์การป่าไม้” หรือ “พิพิธภัณฑ์ไม้สัก” เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมฟรี ถ้าสนใจประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในยุคที่อุตสาหกรรมไม้รุ่งเรือง แนะนำให้แวะมาศึกษาได้ที่นี่
** ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับตุลาคม 2557
Fact File
แพร่ มีชื่อเสียงเรื่องไม้สัก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและพื้นที่ลาดชัน มีที่ราบแอ่งกระทะระหว่างหุบเขาและมีลำน้ำยมไหลผ่าน ภูมิอากาศแบ่งฤดูกาลชัดเจน เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นสัก