ความลับ “ดราก้อนบอล” กับเหตุผลที่ตัวละครเปลี่ยนผมเป็นสีทองในร่าง “ซูเปอร์ไซย่า”
“ดราก้อนบอล” ผลงานมังงะ/อนิเมะชิ้นเอกของนักเขียนการ์ตูน “โทริยามะ อากิระ” ที่รู้จักกันไปทั่วโลก เขียนเล่าเรื่องราวตำนานการปกป้องโลกจากเหล่าร้ายที่หวังจะทำลาย โดยมีพระเอกชื่อ “ซง โกคู” (孫悟空) หรือที่ที่ชาวไทยเรียกกันติดปากว่า “ซุน โงกุน”
ซง โกคู เป็นชาวไซย่า ซึ่งเป็นเอเลี่ยนเผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีร่างคล้ายมนุษย์ เขาสามารถพัฒนาพลังต่อสู้จนผ่านพ้นขีดขั้นของชาวไซย่าปรกติได้ และเปลี่ยนร่างกลายเป็น “ซูเปอร์ไซย่า” โดยผมของเขาจะเปลี่ยนเป็นสีทอง มีออร่ารอบตัว และมีพลังโจมตีมหาศาล
เหตุที่ผมเปลี่ยนเป็นสีทอง ไม่ใช่เพราะมันเท่ หรือดูแข็งแกร่งขึ้นนะ!
เดิมที ซง โกคู จะมีผมสีดำ แต่เมื่อเปลี่ยนร่างเป็น “ซูเปอร์ไซย่า” ผมของเขาจะกลายเป็นสีทอง ทำให้แฟน ๆ นักอ่านการ์ตูนหรือคออนิเมะติดภาพจำที่ว่า “ซูเปอร์ไซย่า=ผมทอง” กันมาจนถึงทุกวันนี้ และมีหลายคนที่เกิดความสงสัยว่า ทำไมชาวไซย่าถึงมีผมสีทองเมื่ออยู่ในร่างซูเปอร์ไซย่ากันล่ะ โดยอาจารย์โทริยามะ อากิระก็ได้ให้คำตอบง่าย ๆ เอาไว้ว่า “เพราะขี้เกียจ” นั่นเอง!
เหตุผลของความขี้เกียจนี้ อาจารย์โทริยามะ อากิระได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ผู้ช่วยของผมบ่นว่าการระบายสีดำที่ผมของโกคูทุกครั้งนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก” ซึ่งในพื้นฐานการวาดการ์ตูนญี่ปุ่นจะใช้สีขาว-ดำเป็นหลัก นั่นทำให้ผู้วาดจะต้องระบายสีดำสนิทลงบนผมตัวละครที่มีสีดำทุกครั้ง แต่ถ้าตัวละครนั้นมีผมสีทองแล้วละก็ ผู้วาดก็ไม่จำเป็นจะต้องระบายสีดำอีกต่อไป และการเปลี่ยนสีผมร่างซูเปอร์ไซย่าให้เป็นสีทองจะช่วยประหยัดเวลาในการวาดการ์ตูนไปได้เยอะเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปในยุคที่การ์ตูนดราก้อนบอลเป็นที่นิยมอย่างมากในญี่ปุ่น ทั้งอาจารย์โทริยามะและผู้ช่วยของเขาต่างก็มีงานยุ่งมาก ๆ เช่นกัน จึงมีการเปลี่ยนสีผมร่างซูเปอร์ไซย่าของตัวละครให้เป็นสีทอง เพื่อประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการวาดการ์ตูน ซึ่งทำให้อาจารย์โทริยามะมีเวลาในการลงดีเทลต่าง ๆ ของตัวละครได้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคอื่น ๆ ที่ช่วยประหยัดเวลาในการวาดการ์ตูนดราก้อนบอลของอาจารย์โทริยามะอีก ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนฉากการต่อสู้จากในเมืองไปที่ทุ่งหญ้ารกร้างนอกเมือง หรือหากต่อสู้กันในเมือง เมืองจะถูกพังราบจนกลายเป็นพื้นที่โล่งรกร้างแทน อีกทั้ง อาจารย์โทริยามะยังพยายามเลี่ยงการจะใช้เทคนิคสกรีนโทน (Screen-tone) เพราะอยากลดขั้นตอนอันยุ่งยากในการตัดแปะลวดลายสกรีนโทนในหนังสือการ์ตูนนั่นเอง
ไม่เพียงแค่ผู้ช่วยเท่านั้นที่จะบ่นว่าการวาดการ์ตูนดราก้อนบอลเป็นเรื่องยุ่งยาก อาจารย์โทริยามะเองก็ออกมายอมรับว่าตนก็มีนิสัยขี้เกียจไม่ชอบเรื่องยุ่งยากด้วยเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น อาจารย์โทริยามะก็เป็นคนขยันมุ่งมั่นและไม่เคยทำงานผิดพลาดหรือขาดส่งต้นฉบับการ์ตูนที่เขาเขียนเลยแม้เพียงครั้งเดียว