รู้จัก Smart Job Center ตัวช่วยหางาน กรมการจัดหางาน
ทุกวันนี้ช่องทางในการหางานมีหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เราสามารถไปกรอกประวัติทิ้งไว้ตามเว็บไซต์หางานต่าง ๆ ได้ หากมีงานที่ตรงกับความสนใจก็จะมีแจ้งเตือนให้ทราบทางอีเมล จึงเพิ่มความสะดวกให้กับผู้หางานมากขึ้น
แม้แต่กรมการจัดหางานก็ยังมี Smart Job Center ซึ่งเป็นระบบการจัดหางานสำหรับผู้สมัครงานและผู้ว่าจ้างด้วยเช่นกัน โดยเป็นระบบที่ผู้สมัครงานสามารถเข้ามาค้นหาตำแหน่งงานที่สถานประกอบการประกาศเอาไว้
ขณะที่สถานประกอบการก็เข้ามาค้นหาผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ รวมถึงเพิ่มการเชื่อมต่อข้อมูลผู้สมัครงานที่มาจากการจบฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผ่านระบบ Service ของกรมการจัดหางานด้วย
Smart Job Center มีอะไรบ้าง
แน่นอนว่าเมื่อเป็นสื่อกลางในการหางาน หาคนที่ใช่ ก็ต้องไว้สำหรับค้นหางานที่เหมาะสม ซึ่งภายในเว็บไซต์ smartjob.doe.go.th จะมีตำแหน่งงานว่างทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีหมวดหมู่เฉพาะในการหาตำแหน่งงานสำหรับผู้สูงอายุ และหาตำแหน่งงานสำหรับผู้พิการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานยิ่งขึ้น รวมถึงมีข้อมูลข่าวสารปฏิทินนัดพบแรงงานด้วย
Smart Job Center ใช้งานอย่างไร?
1. ลงทะเบียนเพื่อใช้งาน
เข้าไปลงทะเบียนใช้งาน โดยฝากประวัติเพื่อหางานที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/smartjob หรือ smartjob.doe.go.th โดยกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน ได้แก่ เลขที่บัตรประชาชน, ชื่อ-นามสกุล, เพศ, วันเกิด, เบอร์โทรศัพท์, รหัสผู้ใช้งาน (ระบบแสดงตามเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนให้อัตโนมัติ) และรหัสผ่าน (มีความยาว 6-20 ตัวอักษร และต้องเป็นภาษาอังกฤษ หรือตัวเลขเท่านั้น)
โดยหลังจากลงทะเบียนแล้ว สามารถใช้งานได้ทั้งเว็บไซต์หรือMobile App ซึ่ง Smart Job เป็นระบบที่รองรับการลงทะเบียนทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
- ผู้หางานทั่วไป
- ผู้พิการ แบ่งย่อยเป็น ผู้พิการตามมาตรา 33 (ต้องการมีงานทำ) และผู้พิการตามมาตรา 35 (ต้องการเลือกรับสิทธิจากนายจ้าง / ผู้ประกอบการ)
- ผู้สูงอายุ แบ่งย่อยเป็น ผู้สูงอายุที่ต้องการรายได้ (ต้องการมีงานทำ) และผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการรายได้ (งานอาสาสมัคร)
2. เข้าสู่ระบบ
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าใช้งานในระบบได้ทันที โดยกรอกเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน จากนั้นให้เลือกกด หางาน / หาคน
3. กรอกประวัติส่วนตัวผู้หางาน
ประวัติส่วนตัวส่วนแรก ประกอบด้วย
- ข้อมูลส่วนตัว ประวัติทั่วไป
- งานที่สนใจ
- การศึกษา
- ประสบการณ์ทำงาน
- แนบเรซูเม่
ประวัติส่วนตัวส่วนที่ 2 ประกอบด้วย
- จังหวัดที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
- ส่วนสูง
- น้ำหนัก
- สถานภาพทางทหาร
- สถานภาพการสมรส
หากมีการฝึกอบรมให้ใส่ข้อมูลประกอบให้ครบถ้วน จากนั้นให้กดปุ่มตรวจสอบใบประกาศนียบัตร เพื่อทำการตรวจสอบ หากมีข้อมูลระบบจะแสดง ปีที่ได้รับ, สาขาวิชาชีพ, สาขางาน, อาชีพ, เลขที่ใบประกาศนียบัตร
หากมีความสามารถพิเศษให้ติ๊กเครื่องหมายถูกตามช่องที่กำหนด พร้อมระบุรายละเอียด
นอกจากนี้ ยังสามารถแนบคลิปวิดีโอแนะนำตัวเองจาก Youtube ได้ด้วย และเมื่อกรอกข้อมูลครบทั้งหมดแล้ว ให้กดปุ่มบันทึก เพื่อการบันทึกข้อมูลทั้งหมด
สะดวกยิ่งขึ้นด้วย Smart Job Wallet
ล่าสุด กรมการจัดหางาน ปรับมาตรฐานการให้บริการจัดหางาน เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงบริการหางานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มการจ้างงานรูปแบบใหม่ในชื่อ “บัตรดิจิทัล (Smart Job Wallet)” โดยให้บริการรูปแบบ QR Code มีวิธีใช้งานง่าย 3 ขั้นตอน ได้แก่
- เปิดเว็บไซต์ smartjob.doe.go.th
- ลงทะเบียน/เข้าสู่ระบบ
- ไปที่เมนูดาวน์โหลดบัตรดิจิทัล Smart Job Wallet สามารถใช้ได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Android (ระบบ Android จะต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่น Mywallet ก่อน)
โดยบัตรดิจิทัล (Smart Job Wallet) จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานยิ่งขึ้น และสามารถนำไปใช้ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
- ทางระบบอินเทอร์เน็ต ช่องทางนี้ผู้ใช้บริการจะได้รับข้อมูลแบบ Real Time เนื่องจากใช้ฐานข้อมูลเดียวกันกับระบบ Smart Job
- ที่สำนักงานจัดหางาน โดยนำบัตรดิจิทัลแสดงตนแทนบัตรประจำตัวนายจ้าง และบัตรประจำตัวประชาชน
- งานนัดพบแรงงาน โดยไม่ต้องใช้เอกสาร (Paperless)
หากใครอยู่ในสถานการณ์ที่ว่างงาน ตกงาน หรือกำลังหางานใหม่ Smart Job Center ของกรมการจัดหางานถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อีกทั้งยังใช้งานสะดวกมากขึ้นด้วยแพลตฟอร์มใหม่ที่ข้อมูลทุกอย่างถูกบันทึกไว้แบบดิจิทัลด้วย