ไอศกรีม (Ice Cream) มีกี่ประเภท ของหวานคลายร้อนที่ดีต่อใจ ปังปุริเย่

ไอศกรีม (Ice Cream) มีกี่ประเภท ของหวานคลายร้อนที่ดีต่อใจ ปังปุริเย่

ไอศกรีม (Ice Cream) มีกี่ประเภท ของหวานคลายร้อนที่ดีต่อใจ ปังปุริเย่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไอศกรีม หรือ Ice Cream หรือภาษาปากว่า ไอติม เป็นของหวานแช่แข็งชนิดหนึ่ง ได้จากการผสมส่วนผสม นำไปผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วนั้นนำไปปั่นในที่เย็นจัด เพื่อเติมอากาศเข้าไปพร้อม ๆ กับการลดอุณหภูมิ โดยอาศัยเครื่องปั่นไอศกรีม ไอศกรีมตักโดยทั่วไปจะต้องผ่านขั้นตอนการแช่เยือกแข็งอีกครั้งก่อนนำมารับประทาน

ต้นกำเนิดของไอศกรีม

istock-1186030478

ต้นกำเนิดของไอศกรีมนั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดมาเริ่มจากไหน บางข้อมูลก็ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมัน ที่ได้มีการพระราชทานเลี้ยงไอศกรีมทหาร โดยในสมัยนั้นทำจากเกล็ดน้ำแข็ง (หิมะ) ผสมน้ำผึ้งและผลไม้ ซึ่งคล้ายกับไอศกรีมซอร์เบท์ในปัจจุบัน แต่บ้างก็ว่ามาจากประเทศจีน เกิดจากเมื่อสมัยโบราณที่นมถือเป็นของหายาก จึงได้มีการคิดวิธีเก็บรักษาโดยการเอาไปฝังในหิมะ จึงเกิดเป็นไอศกรีมขึ้น แม้จะไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับไอศกรีมอย่างทุกวันนี้

แต่บ้างก็ว่ามาจากอิตาลีโดยมาร์โค โปโล กลับจากจีนแล้วเอาสูตรไอศกรีมมาเผยแพร่ ซึ่งในตอนนั้นไอศกรีมของจีนยังไม่มีนม เป็นคล้ายน้ำแข็งไสมากกว่า ยังมีจุดเริ่มต้นจากอังกฤษเมื่อสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 พ่อครัวคนหนึ่งมีสูตรเด็ดเป็นครีมแช่แข็งปรุงรส ซึ่งเป็นสูตรลับสุดยอดที่ส่งเป็นของหวานถวายพระองค์ ทว่าเมื่อพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1642-ค.ศ. 1651 พ่อครัวต้องลี้ภัยไปยุโรปจึงได้นำสูตรไอศกรีมนี้เผยแพร่ออกไป

ประเภทของไอศกรีม

ประเภทของไอศกรีมจะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามส่วนผสม และวิธีการผลิต โดยแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้

Standard ice cream

istock-802546164

เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมของนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาล และวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่น รส โดยไม่เติมสารอื่นๆนอกเหนือจาก ส่วนผสมหลักเลย เนื้อไอศกรีมจะเหนียว เนียน นุ่มลิ้น โดยต้องผ่านขั้นตอนการตีปั่นให้ความเย็นจนเหนียวหนืด แล้วแช่แข็งอีกครั้งจึงจะรับประทานได้

Frozen custard, French ice cream หรือ French custard ice cream

istock-1155942256

เป็นไอศกรีมที่มีการเพิ่มส่วนผสมของไข่แดงลงไป ทำให้เนื้อไอศกรีมมีปริมาณไขมันสูง ขณะรับประทานจะได้กลิ่นไข่ด้วย

กรานิต้า (Granita) และ ซอร์เบท์ (Sorbet)

istock-172456629

เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้ น้ำตาล อาจมีส่วนผสมของเหล้าหรือกาแฟด้วยก็ได้ มักเสิร์ฟระหว่าง มื้ออาหารเพื่อล้างปาก Granita และ Sorbet มีความแตกต่างกันที่ Sorbet จะมีเนื้อละเอียด และนุ่มนวลกว่า Granita

เชอร์เบท (Sherbet)

istock-91830301

เป็นไอศกรีมผลไม้ที่มีส่วนผสมของน้ำผลไม้ น้ำตาล ไข่ขาว และไม่ใส่นมหรือครีม สามารถเลือกใช้ผลไม้ได้หลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นผลไม้รสเปรี้ยวหรือผลไม้รสหวาน

Soft ice cream หรือ Soft serve

istock-1001455940

เป็นไอศกรีมนมเนื้อเนียนนุ่ม มีส่วนผสมที่ต่างจาก ไอศกรีมธรรมดา โดยจะมีปริมาณไขมันต่ำกว่าไอศกรีมใส่นมทั่วไป เป็นไอศกรีมที่ไม่ต้องแช่เย็นก่อนเสิร์ฟ แต่จะนำส่วนผสมใส่ เครื่องแล้วบีบใส่โคน หรือถ้วยไอศกรีมได้เลย

ไอศกรีมในประเทศไทย

ในประเทศไทยนั้น ไอศกรีมเริ่มเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเผยแพร่ในสยาม หลังเสร็จประพาสอินเดีย, ชวาและสิงคโปร์ น้ำแข็งในตอนแรก ๆ ก็ยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้ จึงต้องนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อไทยสั่งเครื่องทำน้ำแข็งเข้ามาก็เริ่มมีการทำไอศกรีมกินกันมากขึ้น ถือว่าไอศกรีมเป็นของเสวยเฉพาะสำหรับเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ว่า

"ไอศกรีมเป็นของที่วิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กที่เขาทำกันตามบ้านเข้ามา ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมบ้างบางวันก็ไม่มี จึงเห็นเป็นของวิเศษ"

istock-490796310

โดยไอศกรีมในพระราชวังนั้นจะทำจากน้ำมะพร้าวอ่อน ใส่เม็ดมะขามคั่ว จนต่อมาเมื่อมีโรงงานทำน้ำแข็ง แต่ก็ยังถือเป็นของชั้นดี โดยมีไอศกรีมระดับชาวบ้านทำเองด้วย ในช่วงแรก ๆ นั้นไอศกรีมกะทิมีลักษณะเป็นน้ำแข็งละเอียดใส ๆ รสหวานไม่มาก และมีกลิ่นหอมของดอกนมแมว ในสมัยนั้นวิถีการกินของผู้คนจะนิยมกินอาหารกันในเรือนแพ เหมือนที่สมัยนั้นจะขายก๋วยเตี๋ยว หรือกาแฟกันบนเรือ

ลักษณะของไอศกรีมกะทิใส่ถ้วยพร้อมโรยด้วยถั่วลิสงคั่วก็มีมาตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งต่อมาไอศกรีมกะทิก็มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้น จากกะทิใส ๆ ก็มีความเข้มข้น มีการใส่ลอดช่อง, เม็ดแมงลัก และขนุนฉีกเข้าไป โดยคนไทยได้ดัดแปลงไอศกรีมของต่างชาติมาเป็นไอติมกะทิ โดยใช้กะทิสดผสมกับน้ำตาลนำไปปั่นให้แข็ง เนื้อไอติมค่อนข้างใสเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียด เวลารับประทานต้องขูดไอติมออกจากขอบหม้อโลหะเมื่อไอติมเริ่มแข็งตัว ตอนขายตักใส่ถ้วยเป็นลูก ๆ เรียกไอติมตัก กินกับถั่ว ข้าวเหนียวหรือลูกชิด บางคนกินกับขนมปังที่หั่นเป็นท่อน และมีรอยแยกเป็นร่องอยู่ตรงกลาง

ส่วน ไอศกรีมหลอด หรือไอศกรีมแท่งก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยใช้น้ำหวานใส่หลอดสังกะสีและเขย่าให้แข็ง และมีก้านไม้เสียบ โดยจะใส่ถังขับไปขายตามถนน สั่นกระดิ่งเป็นสัญญาณเพื่อเรียกลูกค้า นอกจากนี้ยังมีจุดขายที่การลุ้นไอศกรีมฟรีจากไม้เสียบที่หากมีสีแดงป้ายอยู่ก็จะได้กินฟรีอีกหนึ่งแท่งด้วย ซึ่งไอศกรีมแบบหลอดก็มีการพัฒนาจนมาเป็นไอศกรีมโบราณที่มีส่วนผสมของนมโดยมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม อาจทานเป็นแท่ง หรือตัดใส่ถ้วยรับประทานก็ได้ จากนั้นมาก็เป็นยุคของไอศกรีมแบบวัฒนธรรมตะวันตกแท้ ๆ จนถึงปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook