จุฬาฯ พร้อมคลี่ปมความเห็นต่าง เปิดพื้นที่เสรีภาพ ในการแก้ปัญหาสังคม
จุฬาฯ พร้อมคลี่ปมความเห็นต่าง ระดมวิชาการและข้อเท็จจริงพร้อมรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เปิดพื้นที่เสรีภาพ มุ่งหน้าส่งเสริมการสร้างปัญญาสาธารณะในการแก้ปัญหาสังคม
จากปัญหาข้อขัดแย้งในด้านความเห็นทางการเมืองที่เกิดขึ้น ศาสตราจารย์ (กิตติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการคลี่คลายปมเงื่อนของความแตกต่างขัดแย้งด้วยหลักความบริสุทธิ์ใจและใช้ข้อมูลความรู้ในการแก้ปัญหาโดยอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม โดยตระหนักว่าปัจจุบันสังคมไทยเผชิญกับสิ่งท้าทายรอบด้าน ดังนั้นจึงต้องการให้การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยในการตอบโจทย์ของสังคมและสาธารณะโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม ทั้งนี้จากการประชุมเพื่อหาแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรมการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพของชาวจุฬาฯ ได้ข้อสรุปเชิงหลักการว่า
- การยอมรับความหลากหลายทางความคิดและการสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่อกันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการย่างก้าวสู่อนาคตของการอยู่ร่วมกัน
- ความขัดแย้งไม่ใช่ปัญหาแต่ประเด็นปัญหาคือ การทำให้ความแตกต่างขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรง ดังนั้นการแก้ไขจึงไม่ควรอาศัยแต่เครื่องมืออำนาจและระเบียบบังคับแต่อย่างเดียว หากต้องใช้เครื่องมือที่สามารถเพิ่มพูนสมรรถภาพในการแก้ปัญหาร่วมกัน
- การตัดสินกันด้วยความชอบ-ไม่ชอบเพราะคิดเห็นต่างกันและการสร้างความเกลียดชังต่อกัน สามารถเป็นปัจจัยทำให้เกิดความรุนแรงและนำสังคมไปสู่ทางตันได้ ดังนั้นต้องคลี่คลายปมความเห็นต่างด้วยการขยายความรู้ความเข้าใจร่วมกัน การพิจารณาประเด็น เช่น ช่องว่างระหว่างรุ่นอายุและความแตกต่างในการให้คุณค่านั้นจำต้องใช้วิชาการรวมถึงสหวิชาการจึงจะสามารถคลี่คลายปมปัญหาได้
ในส่วนของแนวทางการดำเนินการอาจแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
ระยะสั้น การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจในการแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตด้วยบรรยากาศเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นและหารือกันเกี่ยวกับกติกาและเสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัยจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งคณาจารย์ นิสิตและนิสิตเก่าในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เวทีเสวนา การระดมความคิด ฯลฯ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนพื้นที่และดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้มีรายวิชาศึกษาทั่วไปใหม่ๆ เช่นวิชาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบในโลกยุคดิจิทัลด้วย
ระยะกลาง สนับสนุนโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมกำหนดควบคุมดูแลกันเองและส่งเสริมการศึกษาวิจัยแบบสหสาขาวิชาหัวเรื่องใหม่ๆ เช่นเสรีภาพและความรับผิดชอบในโลกแห่งความเสี่ยง พลังหนุ่มสาว(youthquake)เพื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคต ช่องว่างระหว่างรุ่นอายุ(generation gaps)กับพลังสังคมยุคดิจิทัลแล้วนำผลจากการวิจัยมาบูรณาการในการเรียนการสอนและกิจกรรมไปด้วย
สำหรับในระยะยาว อนาคตประเทศชาติย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ทางสังคมในท่ามกลางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยไม่ใช้ความรุนแรง จุฬาฯ จึงเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนหาทางออกสังคมโดยร่วมสร้างความรู้ที่เหมาะสมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเพิ่มสรรถนะในการทำความเข้าใจความคิดที่หลากหลาย
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ (กิตติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว ซึ่งเคยทำหน้าที่ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญประเด็นด้านสังคม เช่น การพัฒนาคนชายขอบ และโลกาภิวัตน์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนดังปรากฏในกรณีโรคระบาดโควิด-19 นี้ จุฬาฯ จะเร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างพื้นที่ในการร่วมสร้างความรู้และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ทางสังคม เพื่อการตอบโจทย์ร่วมกัน