คณะสัตวแพทยศาสตร์ แล้วจบมาสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?
คณะสัตวแพทยศาสตร์ เป็นคณะที่ศึกษาในเรื่องทักษะ และความรู้ ในการดูแลสุขภาพสัตว์ การบำบัดรักษาโรคสัตว์ การป้องกันโรคสัตว์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ผู้ที่จบด้านนี้ ก็จะมีความรู้ความชำนาญ และความสามารถในการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ สามารถวิเคราะห์ ชันสูตร วินิจฉัย ตลอดจนบำบัด รักษาและป้องกันโรคสัตว์ต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ผู้เรียนจะต้องรู้วิธีการเพิ่มผลผลิตปศุสัตว์ การขยายพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงและบำรุงพันธุ์สัตว์ ส่วนในด้านสาธารณสุข จะต้องควบคุมโรคสัตว์ที่อาจจะติดต่อถึงมนุษย์ได้ รวมทั้งสุขศาสตร์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ด้วย
สาขาที่เปิดสอน
- กายวิภาคศาสตร์
- จุลชีววิทยา
- สรีรวิทยา
- เภสัชวิทยา
- พยาธิวิทยา
- ปรสิตวิทยา
- เวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
- เวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า
- เวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์
- สัตวแพทยสาธารณสุขศาสตร์
- สัตวบาล
- สูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์สัตว์
- ศัลยศาสตร์
- อายุรศาสตร์
ใช้คะแนนอะไรบ้าง
- GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 (อาจแตกต่างกันบางมหาวิทยาลัย)
- O-NET
- GAT + PAT 2
- 9 วิชาสามัญ (ไทย สังคม อังกฤษ คณิต1 ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ)
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
- วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
เรียนอะไรบ้าง
สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนคือ 6 ปี แบ่งออกเป็น ชั้นปีที่ 1 – 3 คือ Pre-clinic และชั้นปีที่ 4 – 6 คือ Clinic ซึ่งมีรายละเอียดน่ารู้ ดังต่อไปนี้
ชั้นปีที่ 1
Pre-clinic จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป อาทิ ฟิสิกส์ทางการแพทย์, เคมีทั่วไป, ชีววิทยาทั่วไป และเคมีอินทรีย์ ฯลฯ
ชั้นปีที่ 2-3
Pre-clinic จะเริ่มเรียนวิชาของคณะสัตวแพทยศาสตร์มากขึ้น โดยในการเรียนจะไม่ได้เรียนเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการดูแลสุนัขหรือแมวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแล ม้า วัว ปลา ไก่ หมู และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิดด้วยกัน จะได้เจอวิชา จุลกายวิภาควิทยา, หลักสัตวบาล, หลักสรีรวิทยา และอนามัยสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ชั้นปีที่ 4-6
Clinic จะเริ่มเข้าสู่วิชาที่เกี่ยวกับการรักษามากยิ่งขึ้น วิชาที่เรียนก็จะเจาะลึกลงไปอีก อาทิ อายุรศาสตร์ตามระบบอวัยวะ, เทคนิคการวินิจฉัยและการรักษาโรคสัตว์, หลักการศัลยศาสตร์และวิสัญญี, เทคโนโลยีชีวภาพทางการสืบพันธุ์ของสัตว์, กฎหมายและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และสุขศาสตร์อาหาร ฯลฯ
แนวทางการประกอบอาชีพ
เรียนทางด้านสัตวแพทยศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพได้ทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนธุรกิจเอกชน เช่น สามารถประกอบอาชีพในธุรกิจอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ และธุรกิจฟาร์มสัตว์ต่างๆ หรือ อาจจะเปิดคลินิกรักษาสัตว์ส่วนตัวก็ได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยและพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชนที่สัตวแพทยศาสตรบัณฑิตสามารถเข้าไปมีบทบาทอีกมากในอนาคตด้วย