สุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตจุฬาฯ ผู้จบบาลีศึกษา 9 ประโยค ใน 10 ปี 3 เดือน
เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและความตั้งใจแน่วแน่ทางด้านการศึกษา บาลี เลยทีเดียว สำหรับ สุกัญญา เจริญวีรกุล นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนนี้ ที่ศึกษาภาษาที่ใช้บันทึกคัมภีร์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้งบาลี สันสกฤต และทิเบต จนสามารถ สอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยค ภายในระยะเวลา 10 ปี 3 เดือนเพียงเท่านั้น
สุกัญญา เจริญวีรกุล จบการศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนภาษา-ฝรั่งเศส และโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย (Gifted-ไทย) จบการศึกษาที่ คณะอักษรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนี้กำลังเรียนต่อทางด้านวิชาภาษาบาลี สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (โทควบเอก) กำลังทำวิทยานิพนธ์ ศึกษาเปรียบเทียบพระสูตรภาษาทิเบตที่สันนิษฐานว่าน่าจะแปลจากพระปริตรบาลี ทำงานแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาทิเบต บาลี สันสกฤต และแปลล่ามพระธรรมเทศนาจากภาษาทิเบตเป็นภาษาไทย
นอกจากนั้นเธอยังเคยเข้าศึกษาภาคฤดูร้อน วิชาภาษาทิเบตคลาสสิกระดับสูงจาก Rangjung YesheInstitute, Centre for Buddhist studies, Kathmandu University ประเทศเนปาล มาแล้วด้วย โดยเธอชื่นชอบในการอ่านหนังสือคัมภีร์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เธอมีความตั้งใจที่จะเรียนภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต และต้องการจะเป็นนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา
เธอเริ่มต้นเรียนภาษาบาลีอย่างจริงจังตอนที่อยู่ชั้น ม.4 เทอม 2 โดยเริ่มต้นจากการเรียนตามวัดต่างๆ โดยเธอ สอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยค เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 รวมเวลา เรียนแผนกบาลีทั้งหมด 10 ปี 3 เดือน โดยมีอายุเพียงแค่ 25 ปีเท่านั้น ซึ่งทางบ้านก็สนับสนุนเธออย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการส่งเรียนพิเศษทางด้านบาลีไวยากรณ์ ตลอดจนไปให้กำลังใจที่วัดในขณะที่เธอเริ่มเรียนใหม่ๆ เลยด้วย
บาลีศึกษา และ เปรียญธรรม ต่างกันอย่างไร
บาลีศึกษา เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีภาคสมทบ ใช้หลักสูตรเดียวกันกับเปรียญธรรม มี 8 ชั้น เริ่มต้นที่ชั้นประโยค 1-2 และจบที่ชั้น บ.ศ.9 แต่นักเรียนมีสถานภาพต่างกัน ทำให้วุฒิต่างกัน
เปรียญธรรม 9 ประโยค (ชื่อย่อ ป.ธ.9) เป็นระดับชั้นสูงสุด ของการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ในปัจจุบันภาษาบาลีถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว เหมือนภาษาละติน ถึงแม้มีคนใช้พูดอยู่ก็น้อยมาก ในพระพุทธศาสนามีเพียงนิกายเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลี เช่นในพระไตรปิฎก
โดยข้อสอบบาลีศึกษาเป็นข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบเขียนทั้งหมด ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันและเกณฑ์การตรวจอย่างเดียวกันกับเปรียญธรรม เพียงแต่แยกวุฒิตามสถานภาพของนักเรียนเท่านั้น
ประวัติการศึกษาแผนกบาลี
- พ.ศ. ๒๕๕๔ สอบได้บาลีศึกษาประโยค ๑-๒ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ ๑๖ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๕๕ สอบได้ บ.ศ.๓ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ ๑๗ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๕๖ สอบได้ บ.ศ. ๔ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ ๑๘ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๕๗ สอบได้ บ.ศ. ๕ สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ ๑๙ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๕๘ สอบได้ บ.ศ. ๖ สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ ๒๐ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๕๙ สอบได้ บ.ศ.๗ สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ ๒๑ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๖๐ สอบได้ บ.ศ. ๘ สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ ๒๒ ปี)
- พ.ศ. ๒๕๖๓ สอบได้ บ.ศ.๙ สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ ๒๕ ปี)
อัลบั้มภาพ 34 ภาพ