วันสารทไทย 2567 ที่มาประเพณีสารทเดือนสิบ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ
วันสารทไทย 2567 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม 2567
ประเพณี สารทเดือนสิบ หรือ วันสารทไทย เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากภูมินรกที่ตนต้องจองจำอยู่เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยก่อไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากภูมินรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ มีจุดประสงค์เพื่อให้มาขอส่วนบุญส่วนกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังภูมินรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
วันสารท เป็นวันที่ตรงกันข้ามกับ วันสงกรานต์ ถ้าวันสงกรานต์เป็นแสงสว่าง วันสารทก็คือความมืด ถ้าวันสงกรานต์คือดวงอาทิตย์ วันสารทก็คือพระจันทร์ วันสงกรานต์ถือว่าเป็นวันที่โลกเข้าสู้ราศีเมษเป็นวันแรก และราศีเมษเป็นราศีที่โลกเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (โลกโคจรเป็นวงรี)
ส่วนวันสารทเป็นช่วงที่โลกออกห่างดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยถ้านับจากวันสงกรานต์จนถึงวันสารทจะเป็นเวลาประมาณหกเดือนพอดี โดยจะเอาช่วงเวลาทางจันทรคติคือแรม15ค่ำ(หรือ14)ซึ่งเป็นเดือนดับ ซึ่งเป็นเวลาที่โลกมืดมิดที่สุด ความเชื่อของคนโบราณในแถบภูมิภาคนี้ จึงถือว่าเป็นเวลาที่วิญญาณกลับจากนรก ญาติพี่น้องจึงควรทำบุญ เพื่อแผ่ส่วนกุศลไปให้ ถ้าผู้ล่วงลับได้รับส่วนบุญได้อิ่มท้องก็จะให้พร ถ้าไม่มีใครทำบุญไปให้ก็จะเสียใจบางทีอาจโกรธและสาปแช่ง จนถือเป็นวันรวมญาติ วันบูชาบรรพบุรุษ ใครไม่ร่วมจะโดนดูถูกว่าอกตัญญู วันสงกรานต์นับตามสุริยคติ วันสารทจะตามนับจันทรคติ
ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึง วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13 ถึง 15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบ โดยในส่วนใหญ่แล้วจะตรงกับเดือนกันยายนของทุกปี
ความเป็นมาวันสารทไทย (สารทเดือนสิบ)
สารทเดือนสิบ อันหมายถึง การทำบุญเดือนสิบ หรือ วันสารทไทย ของเรานั้น พระยาอนุมานราชธนได้สันนิษฐานว่า น่าจะนำมาจากคติของอินเดีย เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ผลแรกได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเช่นกัน แต่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูสารทหรือช่วงฤดูใบไม้ร่วงของบางประเทศที่ว่า จะตกอยู่ในราว ๆ เดือน 10 ทางจันทรคติของไทย ซึ่งโดยความจริงข้าวของเราจะยังไม่สุก มีเพียงผลไม้บางชนิดเท่านั้นที่สุก ครั้นเรารับความเชื่อนี้มา จึงมีปรับเปลี่ยนใช้ข้าวเก่าทำเป็นข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งาและสิ่งอื่นกลายเป็น ขนมกระยาสารท ขึ้นมา
ซึ่งเมื่อแรกๆก็คงมีการนำไปสังเวยเทวดา และผีสางต่างๆตามความเชื่อดั้งเดิมด้วย ต่อมา เมื่อเรานับถือศาสนาพุทธ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายพระ และมักมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับตามความเชื่อเดิมที่ว่าหากไม่ ได้ทำบุญตักบาตรกระยาสารท ผีปู่ย่าตายายจะได้รับความเดือนร้อนอดๆอยากๆ เท่ากับลูกหลานไม่กตัญญู นอกจากนี้ ระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็น ช่วงกล้วยไข่สุกพอดี จึงมักถวายไปพร้อม ๆ กัน
การทำบุญเดือนสิบนี้มีในหลายภูมิภาค เช่น ทางอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก หรือสลากภัต เป็นหนึ่งในฮีตสิบสอง อันเป็นการทำบุญอุทิศให้ผู้ตายหรือเปรต โดยข้าวสากจะทำด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอกคลุกเข้ากันผสมกับน้ำตาล น้ำอ้อย ถั่ว งา มะพร้าวคล้ายๆกระยาสารทของภาคกลาง โดยมักจะทำราวกลางเดือนสิบ ห่างจากการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ทำในช่วงสิ้นเดือน 9
ความสำคัญของประเพณีสารทเดือนสิบ (วันสารทไทย)
ประเพณีสารทเดือนสิบ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ กับ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยเหตุที่วิถีชีวิตของชาวนครศรีธรรมราช เป็นวิถีชีวิตแห่งพระพุทธศาสนา ในสังคมเกษตรกรรม จึงมีความมุ่งหมายอื่นร่วมอยู่ด้วย
- เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับ พ่อ แม่ ปู่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นผู้ล่วงลับไปแล้ว
- เป็นการทำบุญ ด้วยการเอาผลผลิตทางการเกษตร แปรรูปเป็นอาหารถวายพระสงฆ์ รวมถึง การจัดหฺมฺรับ ถวายพระ ในลักษณะของ “สลากภัต” นอกจากนี้ ยังถวายพระ ในรูปของผลผลิตที่ยังไม่แปรสภาพ เพื่อเป็นเสบียงแก่พระสงฆ์ ในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเอง ครอบครัว และเพื่อผลในการประกอบอาชีพต่อไป
- เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสนุกสนานรื่นเริงประจำปี เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกประเพณี ของชาวนคร แต่ประเพณีนี้มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆ ปี เรียกว่า “งานเดือนสิบ” ซึ่งงานเดือนสิบนี้ ได้จัดควบคู่กับประเพณีสารทเดือนสิบ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 จนถึงปัจจุบัน
การจัดหฺมฺรับ
เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเรียกกันว่า "วันหลองหฺมฺรับ"แต่ละครอบครัวจะร่วมกันนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดเป็นหฺมฺรับ การจัดหฺมฺรับนั้น ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน จะจัดเป็นรูปแบบใดก็ได้ แต่ลำดับการจัดของลงหฺมฺรับจะเหมือน ๆ กัน คือ เริ่มต้นจะนำกระบุง กระจาด ถาดหรือกะละมังมาเป็นภาชนะ แล้วรองก้นด้วยข้าวสาร ตามด้วยกระเทียม พริก เกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาหารที่จำเป็น ต่อไปก็ใส่ของจำพวกอาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม ผักผลไม้ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักทอง มะพร้าว ขมิ้น ลางสาด เงาะ ลองกอง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ จากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว ไม้ขีด หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม-ด้าย และเครื่องเชี่ยนหมาก สุดท้ายใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของหฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งขนมแต่ละอย่างล้วนมีความหมายที่แต่งต่างกันได้แก่ ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่ม ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ ขนมดีซำ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า แทนสะบ้าใช้เล่น ในกรณีที่มีขนม 6 อย่าง จะเพิ่มขนมลาลอยมัน ซึ่งใช้แทนฟูกหมอน
การยกหฺมฺรับ
ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ซึ่งเป็น "วันยกหมฺรับ" ต่างก็จะนำหมฺรับพร้อมภัตตาหารไปวัด โดยแต่ละคนจะแต่งตัวอย่างสะอาดและสวยงาม เพราะถือเป็นการทำบุญครั้งสำคัญ วัดที่ไปมักจะเป็นวัดใกล้บ้านหรือการยกหฺมฺรับไปวัดอาจต่างครอบครัวต่างไปหรืออาจจัดเป็นขบวนแห่ ทั้งนี้เพื่อต้องการความสนุก วัดบางแห่งอาจจะจัดให้มีการประกวด หฺมฺรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นจะจัดให้มีขบวนแห่หมฺรับอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาในงานเดือนสิบของทุกปี โดยมีองค์กรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างส่งหฺมฺรับของตนเข้าร่วมขบวนแห่และร่วมการประกวด ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราชมากยิ่งขึ้น
เมื่อขบวนแห่หฺมฺรับมาถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน "ตั้งเปรต" เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในอดีตมักตั้งเปรตบริเวณโคนต้นไม้หรือบริเวณกำแพงวัด แต่ปัจจุบันนิยมตั้งบน "หลาเปรต" หรือร้านเปรต โดยอาหารที่จะตั้งนั้นจะเป็นขนม 5 อย่างหรือ 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอาหารอื่น ๆ ที่บรรพชนชื่นชอบ เมื่อตั้งเปรตเสร็จพระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน "ชิงเปรต" โดยการแย่งชิงอาหารบนหลาเปรต ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
ที่มาของประเพณีชิงเปรต
ชิงเปรต เป็นประเพณีของภาคใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันสารทเล็ก ลูกหลานต้องเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับเมืองเปรต ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 นั้นคือวัน "ส่งเปรต" กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันสารทใหญ่
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนยืนยันว่า การชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการได้บุญ เพราะเชื่อกันว่าหากลูกหลานของเปรตใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้น