5 อารมณ์แปรปรวน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

5 อารมณ์แปรปรวน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

5 อารมณ์แปรปรวน ส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สภาวะอารมณ์ เป็นความรู้สึกปกติของสิ่งมีชีวิต อารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีผลต่อร่างกายต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าหากมากเกินไป ไม่พอดีในระดับที่ตัวเราจัดการได้ หรือร่างกายรับได้ เมื่อร่างกายปรับตัวให้เข้ากับภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ทัน หรือการมีอารมณ์ค้างกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งยาวนานเกินไป การทำงานของร่างกายก็มีปัญหาตาม

ฉะนั้น การปล่อยให้ตัวเองมีอารมณ์แปรปรวนบ่อย ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะจะทำให้ร่างกายแปรปรวนผิดปกติได้ ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายอย่างแน่นอน เรามาดูกันดีกว่าว่าอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีผลต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง

1. อารมณ์ดีมีความสุข

ดูจะเป็นอารมณ์ที่เราพึงปรารถนาที่สุดแล้ว เมื่อเราอารมณ์ดีมีความสุข ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกลุ่มความสุขออกมา การที่ร่างกายอยู่ในช่วงมีความสุขจะเป็นช่วงที่ผ่อนคลาย ความเครียดลดลง การไหลเวียนโลหิตช้าลง และในบางครั้งอาจขาดสมาธิ เหม่อลอยได้ ฮอร์โมนกลุ่มความสุขที่ร่างกายผลิตออกมา ได้แก่

  • เอ็นโดรฟิน (Endorphin) หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่จะหลั่งออกมาเมื่อเรามีความสุข พึงพอใจ หรืออยู่ในช่วงที่ผ่อนคลาย
  • โดพามีน (Dopamine) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ รักใคร่ ยินดี หลั่งออกมาจากสมองร่วมกับเซลล์ประสาทในร่างกาย ซึ่งจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทหลายส่วน อย่างไรก็ดี โดพามีนสัมพันธ์โดยตรงกับอาการซึมเศร้า หากร่างกายมีโดพามีนน้อยเกินไป ก็อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชที่ต้องรักษา
  • เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นฮอร์โมนที่ต้านความเครียด หลั่งจากสมองและทางเดินอาหาร จึงมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ พฤติกรรม รวมถึงการนอนหลับ ซึ่งถ้าระดับฮอร์โมนต่ำจะมีผลต่ออารมณ์โดยตรง หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดหัว

2. อารมณ์โกรธ

เมื่อเรามีอารมรณ์โกรธร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenanaline) หรืออิพิเนฟริน (Epinephrine) หลั่งมาจากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่เรียกได้ว่าเป็นสารแห่งความโกรธ ทำให้ร่างกายเปลี่ยนเข้าสู่โหมดป้องกันตนเองในภาวะฉุกเฉิน

ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำงานอย่างเต็มที่ หัวใจบีบตัวมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธให้หายเร็ว ๆ ร่างกายจะตอบสนองด้วยอาการเดียวกันกับความเครียด มีอาการปวดหัว ปวดตา จนทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทำงานผิดปกติ

3. อารมณ์กลัว

อาการกลัวหรือตกใจ เป็นอารมณ์ที่ตอบสนองภัยคุกคามของสิ่งมีชีวิต มักเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสมองและการทำงานของอวัยวะ อันที่จริงความกลัวหากไม่ได้เป็นมากขนาดอาการโฟเบีย (Phobia) ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดดีขึ้น

แต่อาการกลัวที่มากเกินไป ส่งผลเสียต่อร่างกายค่อนข้างมาก ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ อาจเกิดภาวะช็อก หรือชาไปทั่วร่างกาย หายใจหอบ จิตใจสับสน ขาแข้งอ่อนแรง รู้สึกเพลียได้ นอกจากนี้ยังมีต่อการทำงานของไตและกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากอารมณ์กลัวจะมีผลให้การพยุงเหนี่ยวรั้งน้อยลง กลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ ซึ่งสามารถพบได้เมื่อคนเราตกใจกลัวมาก ๆ ทำให้ปัสสาวะราดนั่นเอง

4. อารมณ์วิตกกังวล

หรือความเครียด อารมณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะกดดัน เครียด มีเรื่องให้ต้องคิดมากและวิตกกังวล ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ยิ่งเรามีอารมณ์เครียดมากเท่าไร ฮอร์โมนตัวนี้จะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้น การทำงานของคอร์ติซอลจะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อภาวะอักเสบ ความเจ็บปวด เมื่อคอร์ติซอลมากผิดปกติ การควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ก็จะผิดปกติตาม

ที่สำคัญคอร์ติซอลกระตุ้นให้ตับสร้างน้ำตาลมากขึ้น เพราะในภาวะเครียด ร่างกายจะต้องการพลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เรากินเยอะ หิวบ่อย มีผลให้น้ำหนักขึ้นได้ง่ายมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ในภาวะกดดัน เครียด ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ระบบประสาท ที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ ระบบกล้ามเนื้อ

5. อารมณ์เศร้า เสียใจ

เมื่อชีวิตพบกับเรื่องผิดหวัง อารมณ์เศร้าหรือเสียใจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ มีผลทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกาย บางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จึงทำให้เกิดภาวะอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าตามมา แต่บางคนกลับมีอารมณ์ตรงกันข้าม คือ กินมากกว่าปกติ อาจกินเพื่อให้ลืมหรือเพื่อประชดก็ตามแต่ ซึ่งเมื่อมีผลต่อการกิน ก็จะมีผลต่อระบบขับถ่ายด้วย

อารมณ์เสียใจมักมาพร้อมกับการร้องไห้และท่าทางอยู่ในลักษณะคอตก ทำให้การหายใจและการทำงานของปอดลดลง ที่มีผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณซี่โครง ที่ทำหน้าที่ยืดหดเมื่อหายใจเข้าออก ที่ช่วยให้ปอดขยายเต็มที่ จึงทำให้มีอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก ออกซิเจนในเลือดลดลง นอกจากนี้สภาพจิตใจในภาวะหดหู่ ซึมเศร้า อาจนำไปสู่โรคทางจิตเวช หรือการฆ่าตัวตายได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook